เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังอ้าง 5 ประเด็นโต้นักวิชาการ แจก "เงินดิจิทัลวอลเล็ต" คุ้มค่า


คลังอ้าง 5 ประเด็นนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตแตกต่างจากอดีต มั่นใจการใช้เงินมีประสิทธิภาพคุ้มค่า “Fiscal Multiplier” สูงกว่า 1 เท่า
 
 
หลังจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากออกมาแสดงความเห็นคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” โดยอ้างอิงหลักการทางวิชาการ หรือทฤษฎี “ตัวทวีการคลัง” (Fiscal Multiplier) ซึ่งประเมินว่าการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีลักษณะการเติมเงิน หรือโอนเงินโดยตรงให้ประชาชนจะมีตัวทวีทางการคลังต่ำกว่า 1 เท่า
 
 
ทำให้กระทรวงการคลังต้องออกโรงชี้แจง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า “จะไม่ยกเลิกมาตรการนี้แน่นอน” โดย “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่างเพื่อนำไปปรับปรุงให้เหมาะสม อาทิ รัศมีระยะทางอาจขยายเป็นตำบล หรืออำเภอ เป็นต้น และจะเปิดให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนเพื่อเข้าร่วมมาตรการ เป็นต้น  แต่การปรับปรุงเงื่อนไขจะต้องไม่กระทบเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5% ใน 4 ปี  
 
และยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการต่ออย่างแน่นอนภายใต้กรอบวินัยการคลังตามที่กฎหมายกำหนด และจะรักษาสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่กับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ คาดว่าจะมีข้อสรุปที่มีความชัดเจนทั้งในแง่ของเงื่อนไข งบประมาณที่จะใช้ รวมถึงแหล่งเงิน และมั่นใจว่า Fiscal Multiplier จะสูงกว่า 1 เท่า มากกว่าที่นักวิชาการประเมินและเป็นกังวล เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
 
 
ด้าน “นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่าการเติมเงินให้กับประชาชนในครั้งนี้ไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยมี 5 ประเด็นที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ
 
1. การเติมเงินให้ประชาชนครั้งมีเงื่อนไข ต่างจากในอดีตที่เป็นการเติมเงินแบบไม่มีเงื่อนไข เพราะฉะนั้นในแง่ของมิติผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเปรียบเทียบไม่ได้กับอดีต
 
โดยเงื่อนไขที่กำหนดทั้งขอบเขตระยะทางการใช้งาน กรอบระยะเวลาการใช้เงิน และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในระบบภาษี เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ถูกคิดออกมาเพื่อที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในเชิงบวกมากกว่าการกระจายเม็ดเงินแบบเดิมๆ
 
นอกจากนี้ การจ่ายเงินในลักษณะนี้แตกต่างจากในอดีต คือเป็นรูปแบบเงินดิจิทัล ที่ไม่ใช่อนาล็อก หมายถึงมีความง่ายกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยสูงกว่า และมีการทำธุรกรรมการเงินที่ง่าย และเร็วกว่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อแตกต่างที่ไม่สามารถนำตัวเลขในอดีตหรือบทวิจัยในอดีตมาประเมินผลกระทบในเชิงบวกของเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้
 
2. การกระจายเม็ดเงินในลักษณะนี้ เป็นเม็ดเงินที่สูง 10,000 บาทต่อคน ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่แจกเงินแบบกะปริดกะปรอย ดังนั้นจำนวนเงินที่มากพอและเงื่อนไขต่างๆ ที่มากพอ จะกระตุ้นเกินกว่าการบริโภค แต่เป็นการกระตุ้นการลงทุนด้วย ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในชุมชนและในหมู่บ้านอย่างทั่วถึง
 
ดังนั้น การคิดคำนวณผลทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การกระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียว ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของการสร้างอาชีพใหม่ การสร้างการลงทุนใหม่ๆ การให้ประชาชนในพื้นที่ลืมตาอ้าปากได้จากรายได้ใหม่ รวมถึงความเหลื่อมล้ำที่จะลดลงจากโครงการนี้
 
3. ประโยชน์ของโครงการนี้อีกประการที่ไม่ค่อยพูดถึง คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งนำประเทศไปสู่ Digital Economy โดยรัฐบาลมองไปถึงการสร้าง “Super Application” ที่จะรวบรวมความสะดวกต่างๆ ทำให้รัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่ Digital Economy ที่มีมูลค่ามหาศาล  
 
4. การมองเงินดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียวยังไม่ครบถ้วน เพราะเป็นเพียงหนึ่งในโครงการที่จะเกิดขึ้นของรัฐบาลนี้ โดยรัฐบาลวางแผนว่าโครงการนี้จะตามมาอีก มีการขยายขอบเขตมากขึ้น ทั้งในเรื่องการดึงดูดนักลงทุน การดึงดูดการลงทุน ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการสมัยใหม่ ที่จะได้ผลดีจากกำลังซื้อที่สูงขึ้นจากดิจิทัลวอลเล็ต
 
5. ความแตกต่างเรื่องของเสถียรภาพและศักยภาพ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยโตแบบเสถียรภาพ แต่โตต่ำ จนมีคำพูดในทางวิชาการว่าไทยอาจโตไม่เพียงพอ จนมีปัญหาทางด้านสวัสดิการผู้สูงอายุในระยะยาว คำถามคือไทยจะโตแบบนี้จริงๆ หรือ เพราะฉะนั้นจึงเป็นแนวคิดใหม่ที่ประเทศไทยจะโตอย่างมีศักยภาพ พร้อมๆ กับมีเสถียรภาพ จึงเป็นที่มาของการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตสูงขึ้น
 
“ 5 ประเด็นนี้เป็นข้อเสนอเป็นความเห็น รวมทั้งความเห็นอื่นๆ ที่จะเสนอคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต และนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการดำเนินการ” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว
 
 
ขณะที่ ปลัดกระทรวงการคลัง “ลวรณ แสงสนิท” ระบุว่า Fiscal Multiplier เป็นทฤษฎี ถ้าไม่เห็นโครงการตั้งแต่ต้นจนจบจะไม่มีใครรู้ว่า Fiscal Multiplier จะเป็นเท่าไร จึงขอให้รอดูโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้ข้อสรุปชัดเจนก่อน แล้วมาดูว่า Fiscal Multiplier จริงๆ จะเป็นเท่าไร
 
ทั้งนี้ เบื้องต้นจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกในวันพฤหัสที่ 12 ตุลาคมนี้ และจะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าหลังการประชุม จากนั้นจะนัดประชุมครั้งที่ 2 วันพฤหัสที่ 19 ตุลาคม และคาดว่าในวันอังคารที่ 24 ตุลาคม จะสามารถนำข้อมูลเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่เพื่อเคาะมาตรการที่ชัดเจนได้

LastUpdate 09/10/2566 21:43:23 โดย : Admin
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 7:56 pm