การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2566 เรื่อง เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง และน้ำล้นตลิ่ง


เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณฝนตกหนักสะสม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้คาดการณ์จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นอีกในช่วงวันที่ 9 – 12 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้น้ำหลากลงสู่ลุ่มน้ำและอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ ในช่วงวันที่ 12 - 18 ตุลาคม 2566 ดังนี้

 
 
1. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
 
อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และแม่มอก จังหวัดลำปาง
 
อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี
 
อ่างเก็บน้ำน้ำพุง และหนองหาร จังหวัดสกลนคร
 
อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
 
อ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์
 
อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก
 
อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีแนวโน้มปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80

2. พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

2.1 แม่น้ำยม บริเวณ อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

อำเภอพรหมพิราม และบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

อำเภอสามง่าม และโพทะเล จังหวัดพิจิตร

2.2 แม่น้ำมูล บริเวณสถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +113.00 ถึง +113.50 เมตร ระดับทะเลปานกลาง สูงกว่าตลิ่ง 1.00 – 1.50 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร ดอนมดแดง ตระการพืชผล และม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

2.3 แม่น้ำยัง บริเวณสถานี E.92 อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด คาดการณ์ว่าระดับจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สูงกว่าตลิ่ง 1.00 - 1.50 เมตร ในวันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณ อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ในวันที่ 13 - 14 ตุลาคม 2566
 

 
ในการนี้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้
 
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
 
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
 
3. วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทานเพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำสายหลักให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล และแม่น้ำเจ้าพระยา
 
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่บริเวณที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 10 ต.ค. 2566 เวลา : 06:47:55
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 6:55 pm