การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สมาคมสหอุตฯ พืชกัญชง - กัญชา พบ รมว.สาธารณสุข ถกความชัดเจนนโยบายหวั่นกระทบแผนธุรกิจผู้ประกอบการ


 

สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา เข้าพบนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงความยินดีเข้ารับตำแหน่งใหม่ และปรึกษาหารือเพื่อให้ออกนโยบาย กฎหมาย      หรือ พรบ. พืชกัญชงและกัญชาให้ชัดเจน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
 
 
 
วันที่ 9 ตุลาคม 2566 สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา นำโดย นายทศพร นิลกำแหง        นายกสมาคม พร้อมด้วยคณะกรรมการเดินทางเข้าพบ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงความยินดีเข้ารับตำแหน่งใหม่ และนำเสนออุปสรรคของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา โดยเฉพาะสมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 21 บริษัท ทั้งในธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่เป็นบริษัทระดับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่
 
 
นายทศพร กล่าวว่า ด้วยความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับพืชกัญชงและกัญชาในปัจจุบันทำให้ภาคอุตสาหกรรมหยุดนิ่ง โดยสมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทฯ ที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งธุรกิจในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงความเชื่อของประชาชนบางกลุ่มที่ยังมองว่าพืชกัญชงและกัญชามีโทษมากกว่าประโยชน์ แต่ความจริงแล้วพืชกัญชง คือ พืชเศรษฐกิจสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น เมล็ด นำไปทำเป็นน้ำมันเพื่อเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาหารเสริม  ส่วนลำต้นสามารถนำเส้นใยไปทำเป็นเสื้อผ้า รองเท้า และส่วนสำคัญคือ ช่อดอก สามารถนำไปสกัดเพื่อให้ได้สาร CBD ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพอีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยในปัจจุบันในระบบของ อย.มีผู้ขอใบอนุญาตและได้รับอนุมัติแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งใบอนุญาตเพาะปลูกในระบบส่วนกลางและแอพพลิเคชั่นปลูกกัญซึ่งมีจำนวนรวม 38,144 ราย ใบอนุญาตสกัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวม 48 ราย และใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชงทั้งเครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมกว่า 1,500 ราย ในส่วนของพืชกัญชาที่จะมีสาร THC อยู่ปริมาณมากนั้นสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์รักษาผู้ป่วยได้
 
 
นายทศพร กล่าวต่อท้ายว่า ทางสมาคมฯต้องการให้รัฐบาลมีนโยบาย และกฎหมายของพืชกัญชงและกัญชาที่ชัดเจน แยกระหว่างพืชกัญชงและพืชกัญชาออกจากกัน โดยออกกฎหมาย ประกาศ หรือ พรบ. ให้ชัดเจน ให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนพืชกัญชาใช้ในทางการแพทย์ มีมาตรการควบคุมการจำหน่าย และให้ความรู้เรื่องผลกระทบกับผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการในธุรกิจภาคอุตสาหกรรมได้รับรู้ถึงทิศทางในการดำเนินธุรกิจ และต้องการให้ทางรัฐบาลผลักดันสนับสนุนคุณประโยชน์ที่แท้จริงของพืชกัญชง รวมถึงสารสกัด CBD ว่ามีคุณประโยชน์หลากหลายสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ และให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในความปลอดภัยของพืชกัญชงได้อีกด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ต.ค. 2566 เวลา : 18:15:02
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 9:23 pm