เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "งบแบงก์ไตรมาส 3/66 ยังสะท้อนการปรับตัวเพื่อประคองผลการดำเนินงาน แม้ได้รับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น"


แม้อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ขยับขึ้นจะช่วยหนุนรายได้ดอกเบี้ย แต่ต้นทุนเงินฝากก็เร่งตัวขึ้นเช่นกัน ทำให้ NIM ของระบบแบงก์ไทยไตรมาส 3/66 ขยับขึ้นในกรอบจำกัด ด้านภาพรวมสินเชื่อยังเติบโตในกรอบต่ำ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังเร่งปรับโครงสร้างลูกหนี้และจัดการหนี้ด้อยคุณภาพในเชิงรุกเพื่อดูแลระดับ NPLs และลดแรงกดดันต่อการกันสำรองฯ ช่วงที่เหลือของปี 2566 แม้ NIM จะยังขยับขึ้น แต่ความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจยังเป็นโจทย์หลักในการประคองรายได้ส่วนอื่นๆ และธนาคารยังต้องเตรียมตัวรับเกณฑ์ Responsible Lending ช่วงต้นปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยหนุนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ของระบบแบงก์ไทยให้ขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบ 3.14-3.18% ในไตรมาส 3/2566 แต่คงต้องยอมรับว่า ต้นทุนการระดมเงินฝากก็อาจขยับสูงขึ้นในไตรมาส 3/2566 ด้วยเช่นกัน สำหรับในด้านสินเชื่อ คาดว่า สินเชื่อยังเติบโตในกรอบต่ำที่ 0.1-0.3% YoY ในไตรมาส 3/2566 ขณะที่การปรับสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในระหว่างไตรมาสก็อาจมีผลกระทบต่อการบันทึกมูลค่าตามราคาตลาดของสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ และเมื่อรวมผลของปัจจัยนี้เข้ากับภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่ยังชะลอตัว ก็อาจทำให้รายได้ในส่วนที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 3/2566 มีทิศทางชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 ที่ผ่านมา    
 
 
ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทำให้การดูแลคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อยังคงเป็นโจทย์ต่อเนื่องที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ โดยในไตรมาส 3/2566 ยังคงเห็นธนาคารพาณิชย์ติดตามและประเมินความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ ช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับการเร่งจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) เพื่อรักษาระดับ NPLs และลดแรงกดดันต่อค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ซึ่งจากภาพดังกล่าวทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ อาจทรงตัวหรือมีโอกาสปรับตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบ 2.63-2.67% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 3/2566 ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจลดลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบ 1.25-1.29% ในไตรมาส 3/2566 แต่ก็ยังนับเป็น Credit Cost ที่สูงกว่าในช่วงสถานการณ์ปกติ   
 
 
โดยสรุป กำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 น่าจะทำได้ในกรอบประมาณ 1.86-1.91 แสนล้านบาท ขณะที่คาดว่า รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิยังน่าจะเติบโตต่อเนื่องและเป็นแรงหนุนสำคัญของผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เพราะ NIM ของระบบแบงก์ไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การประคองผลการดำเนินงานท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงเป็นโจทย์ที่กระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเร่งปรับตัว ดังนั้น ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 จะยังคงเห็นความพยายามของธนาคารพาณิชย์ในการจัดการปัญหา NPLs พร้อมๆ กับการเตรียมสภาพคล่องเพื่อพร้อมรองรับความต้องการใช้สภาพคล่องในระบบที่อาจเพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมไปถึงการดูแลให้การเติบโตของเงินฝากสอดคล้องกับสัญญาณสินเชื่อ โดยอาจมีการออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษต่อเนื่องเพื่อระดมสภาพคล่อง และแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพื่อเป็นตัวเลือกของผู้ฝากเงินในช่วงปลายปี นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์คงต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรับมือกับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2567 ด้วยเช่นกัน
 
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Banking_CI3439-FB-18-10-2023.aspx
 

LastUpdate 18/10/2566 12:46:09 โดย : Admin
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 3:35 pm