การค้า-อุตสาหกรรม
การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนกันยายน 2566 และไตรมาส 3/2566 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า


นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนกันยายน 2566 และไตรมาส 3/2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ผลการจดทะเบียนธุรกิจ

ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนกันยายน 2566

• จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนกันยายน 2566 จำนวน 7,107 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 24,170.64 ล้านบาท

• ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 562 ราย คิดเป็น 8% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 529 ราย คิดเป็น 7% รองลงมา และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 344 ราย คิดเป็น 5% ตามลำดับ

• ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,498 ราย คิดเป็น 63.29% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 2,466 ราย คิดเป็น 34.70% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 121 ราย คิดเป็น 1.70% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 22 ราย คิดเป็น 0.31% ตามลำดับ

ธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 3/2566

• จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ไตรมาส 3/2566 จำนวน 21,379 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 จำนวน 21,104 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 275 ราย คิดเป็น 1.3% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 จำนวน 20,495 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 884 ราย คิดเป็น 4.31%

• ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,691 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,491 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจำนวน 1,046 ราย คิดเป็น 5% ตามลำดับ

• มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 65,724.60 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 จำนวน 89,052.06 ล้านบาท ลดลงจำนวน 23,327.45 ล้านบาท คิดเป็น 26.20% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 จำนวน 73,332.21 ล้านบาท ลดลงจำนวน 7,607.61 ล้านบาท คิดเป็น 10.37%

• ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 13,743 ราย คิดเป็น 64.28% รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 7,274 ราย คิดเป็น 34.02% รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 306 ราย คิดเป็น 1.43% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 56 ราย คิดเป็น 0.26%

 
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนกันยายน 2566

• จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำเดือนกันยายน 2566 มีจำนวน 2,039 ราย โดยมีมูลค่า ทุนจดทะเบียนจำนวน 17,229.98 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

• ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 167 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 103 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 68 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

• ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,407 ราย คิดเป็น 69.00% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 529 ราย คิดเป็น 25.94% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 87 ราย คิดเป็น 4.27% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 16 ราย คิดเป็น 0.78% ตามลำดับ

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการไตรมาส 3/2566

• จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำไตรมาส 3/2566 มีจำนวน 5,913 ราย โดยมีมูลค่า ทุนจดทะเบียนจำนวน 31,795.92 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

• ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 514 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 291 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 164 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

• ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 4,165 ราย คิดเป็น 70.44% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 1,488 ราย คิดเป็น 25.16% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 228 ราย คิดเป็น 3.86% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 32 ราย คิดเป็น 0.54% ตามลำดับ

ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ 30 กันยายน 2566

• ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 ก.ย. 66) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 885,521 ราย มูลค่าทุน 21.50 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 200,156 ราย คิดเป็น 22.60% บริษัทจำกัด จำนวน 683,936 ราย คิดเป็น 77.24% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,429 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ

• ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 515,270 ราย คิดเป็น 58.19% รวมมูลค่าทุน 0.45 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.10% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 273,716 ราย คิดเป็น 30.91% รวมมูลค่าทุน 0.94 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.37% ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 78,684 ราย คิดเป็น 8.89% รวมมูลค่าทุน 2.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.03% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 17,851 ราย คิดเป็น 2.02% รวมมูลค่าทุน 17.95 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.50% ตามลำดับ

 
 
การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนกันยายน 2566

• เดือนกันยายน 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 59 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 22 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 37 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 18,229 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 2% (เพิ่มขึ้น 1 ราย) ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1.67 เท่า (เพิ่มขึ้น 11,389 ล้านบาท)

• นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 948 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ อเมริกา จำนวน 9 ราย เงินลงทุน 916 ล้านบาท และ สิงคโปร์ จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 6,524 ล้านบาท ตามลำดับ

ปี 2566 (มกราคม - กันยายน)

• เดือนมกราคม - กันยายน 2566 คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 493 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 84,013 ล้านบาท

การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือนกันยายน 2566

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวก เพื่อลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษ โดยพัฒนางานบริการทุกกระบวนการของกรมผ่านทาง อิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลาได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และประกาศกรมเรื่องการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

การบริการหนังสือรับรองข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และผลักดันการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ยกระดับการเป็นหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล โดยการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) มาให้บริการ ซึ่งการบริการ e-Service เป็นการบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปี 2566 (ม.ค. - ก.ย.) มีจำนวนขอรับข้อมูล 2,937,008 ราย ซึ่งผ่านช่องทาง Self Pick up มีจำนวน 1,213,405 ราย EMS จำนวน 242,951 ราย Delivery จำนวน 23,282 ราย และการออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate File) จำนวน 1,457,370 ราย และรองรับการให้บริการหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติและสมาคมการค้า หนังสือรับรองภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ การขอรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากผ่านทาง www.dbd.go.th แล้ว สามารถขอรับบริการผ่านทาง Application DBD e- Service ได้ทั้งระบบ Android และ IOS

การให้บริการขอหนังสือรับรอง และรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคล ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ส่วนกลาง) และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า เขต 1-6 ให้ขอรับบริการได้เฉพาะทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Service) ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขยายเวลาการลดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทลง 50% สำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เขตพัฒนาเฉพาะกิจ (พื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลาเฉพาะในท้องที่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล) ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ให้ขยายไปสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566

DBD e - Filing การนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

การนำส่งงบการเงินของนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดปี 2565 ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีนิติบุคคลนำส่งงบการเงินแล้ว จำนวน 647,603 ราย คิดเป็น 80% ของนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงิน โดยนำส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) จำนวน 644,676 ราย คิดเป็น 99.5% และนำส่งในรูปแบบกระดาษ จำนวน 2,927 ราย คิดเป็น 0.5% กรมจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจ สมาคมการค้า หอการค้าที่ ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ให้นำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) เป็นหลัก เช่นเดียวกับ การนำส่งงบการเงินของนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดปี ทั้งนี้การนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้นสามารถนำส่งได้ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถตรวจสอบข้อมูลงบการเงินผ่าน DBD Data Warehouse หรือ DBD Service ผ่าน Application ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทางธุรกิจ และสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลงบการเงินประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบ DBD e-Filing จะเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้ก้าวสู่การค้าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรม

e-Certificate บริการระบบหนังสือรับรอง และรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านธนาคาร

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดระบบการให้บริการหนังสือรับรอง และรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านธนาคาร (e-Certificate) ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2555 และ ผ่านการรับรองระบบพิมพ์ออกฯ จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จึงเป็นนวัตกรรม ที่สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ และเป็นไปตามกฎหมาย ที่กำหนด ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการ ณ สาขาธนาคารใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้รวมทั้งสิ้น 10 ธนาคาร จำนวน 3,226 สาขา

e-Secured จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดให้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ผ่าน Web Application และ Web Service แบบ Host to Host และชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และออกใบเสร็จรับเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) โดยเจ้าพนักงานทะเบียนลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) รวมถึงสามารถตรวจค้นข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ผ่าน Application : DBD e-service ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และผ่านเว็ปไซต์ Biz Portal ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ทั้งนี้ ตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2559 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 796,444 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 16,245,963 ล้านบาท โดยมีการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและใช้ประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน

สำหรับเดือนกันยายน 2566 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 7,032 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 127,383 ล้านบาท โดยทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ มากที่สุด ได้แก่ สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก ลูกหนี้การค้า สิทธิการเช่า คิดเป็นร้อยละ 67.42 (มูลค่า 85,883 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง คิดเป็นร้อยละ 32.57 (มูลค่า 41,492 ล้านบาท) กิจการ มีการจดทะเบียน คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 7 ล้านบาท) ทั้งนี้ มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 561 คำขอ และจดทะเบียนยกเลิกสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 7,186 คำขอ โดยมีผู้รับหลักประกัน จำนวนทั้งสิ้น 391 ราย

e-Registration การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์

การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 – 30 กันยายน 2566 มีการยืนยันการใช้งาน (Activated) จำนวน 195,387 ราย รับจดทะเบียน 146,419 ราย ซึ่งกรมได้มี การเตรียมการพัฒนาระบบให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการยืนยันตัวตนนิติบุคคลและการใช้ระบบงาน รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SME ทั้งด้านการเงินและซอฟแวร์ รวมทั้ง การให้บริการสำเนาเอกสารทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration

กรมได้เปิดบริการการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Registration ในสำนักงานพาณิชย์ทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามแนวนโยบายในการเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ให้มีความคล่องตัวและสะดวกยิ่งขึ้น

DBD Connect เชื่อมระบบบัญชีสู่การยื่นงบการเงินออนไลน์ (DBD e-Filing)

กรมฯ ร่วมกับผู้ผลิตซอฟแวร์บัญชีชั้นนำของประเทศ จำนวน 16 ราย (20 โปรแกรม) พัฒนาการเชื่อมโยงซอฟต์แวร์บัญชีกับระบบการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) แบบอัตโนมัติ ผ่านระบบ DBD Connect อำนวยความสะดวกการจัดทำบัญชีและงบการเงินสำหรับนักบัญชีให้สามารถนำส่งงบการเงินในรูปแบบ XBRL ที่เชื่อมโยงข้อมูลทางบัญชีพร้อมนำส่งงบการเงินผ่าน DBD e-Filing ได้โดยตรง และไม่ต้อง กรอกข้อมูลงบการเงินซ้ำ

การบริหารจัดการธุรกิจแบบครบวงจร (Total Solution for SMEs) และ e-Accounting for SMEs

Total Solution for SMEs เป็นการขับเคลื่อน SMEs ด้วยนวัตกรรม โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีในการบริหารจัดการธุรกิจที่ครบวงจรได้โดยง่าย เปลี่ยน Traditional SMEs เป็น Smart SMEs ซึ่งกรม ได้รวบรวมโปรแกรมด้านการบริหารจัดการทั้ง 3 ภาคส่วนไว้ด้วยกันคือ โปรแกรมสำนักงาน (Office) โปรแกรมหน้าร้าน (POS) โปรแกรมบัญชี online (Cloud Accounting) ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 25 โปรแกรม

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้แจกฟรี “โปรแกรม e-Accounting for SMEs” ซึ่งเป็นโปรแกรมหน้าร้าน (POS) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการค้าขาย เช่น มี Scanner เพื่อซื้อขายสินค้าในตัว มีฐานข้อมูลของสินค้ามากกว่า 10,000 รายการ เป็นต้น โดยร้านค้าสามารถสมัครขอใช้งานโปรแกรม e-Accounting for SMEs ได้ผ่านทางโครงการ Total Solution for SMEs หรือดาวน์โหลดได้ที่ Google Play Store ในระบบ Android

DBD Data Warehouse

กรมได้พัฒนาระบบสารสนเทศให้มีความสมบูรณ์หลากหลาย และสามารถจัดทำผลวิเคราะห์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลธุรกิจ ประกอบด้วยข้อมูลนิติบุคคล ข้อมูลและวิเคราะห์งบการเงิน ข้อมูลซัพพลายเออร์ลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ ข้อมูลโอกาสทางธุรกิจ ข้อมูลการลงทุนจากต่างชาติในนิติบุคคลไทย รวมทั้งข้อมูลสถิติการจดทะเบียน นิติบุคคล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล พร้อมทั้งนำข้อมูลธุรกิจไปสนับสนุน การตัดสินใจในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยในปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้นจำนวน 25,790,893 ครั้ง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ต.ค. 2566 เวลา : 16:43:00
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 9:14 am