การค้า-อุตสาหกรรม
ซีพีเอฟ เปิดกระบวนการผลิตไส้กรอกซีพี ปลอดภัย มาตรฐานระดับโลก


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ย้ำกระบวนการผลิตไส้กรอกซีพี ได้มาตรฐานระดับสากล ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสูง ตรวจสอบย้อนกลับได้ มั่นใจไส้กรอกซีพีทุกชิ้น มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค

นายเกริกพันธุ์ ดีประเสริฐ ผู้อำนวยการ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลิตไส้กรอกปลอดภัยควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่อง “คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร” โดยกระบวนการผลิตใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับโลก ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต สร้างหลักประกันความปลอดภัย มั่นใจในคุณภาพสินค้าทุกชิ้น สะอาด ปลอดภัย ส่งต่อสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค

 
“ไส้กรอกซีพี คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสูง เนื้อไก่เป็นส่วนอกและเนื้อน่อง ปราศจากฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ส่วนเนื้อหมู คัดเนื้อชิ้นใหญ่แบบเต็มชิ้น ปราศจากสารเร่งเนื้อแดง จัดเก็บรักษาควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 0-4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ป้องกันและยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรค และให้คงความสดตลอดการขนส่งจากฟาร์มถึงโรงงานผลิต สู่กระบวนการผลิตอัตโนมัติแบบต่อเนื่องตลอดสายการผลิต และมีการควบคุมอุณหภูมิในทุกขั้นตอน ให้อยู่ในระดับต่ำที่ 0-12 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าให้คงสดใหม่และปลอดภัย ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในคุณภาพและความปลอดภัย” นายเกริกพันธุ์ กล่าว

ซีพีเอฟ ยังใช้เทคโนโลยีการเบิกจ่ายเนื้อสัตว์ด้วยระบบ Radio - Frequency Identification ที่สามารถระบุข้อมูลวัตถุดิบเนื้อสัตว์ รวมถึงจัดเรียงลำดับการใช้ก่อนหลัง และตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางได้ เพื่อนำเนื้อสัตว์เข้าสู่ขั้นตอนตรวจจับโลหะก่อนนำเข้าเครื่องบด เป็นการตรวจสอบความปลอดภัย เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อน แม้เป็นเศษโลหะชิ้นเล็ก พร้อมนำมาผสมกับเครื่องปรุงที่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อขึ้นรูปอัดแท่ง และรมควันด้วย “ระบบรมควันแบบปิด” โดยนำเทคโนโลยีในการดักแยกสารทาร์ (TARs) ออกจากไส้กรอกมาใช้ (TARs เป็นสารหนักจากควันที่มีองค์ประกอบของสารก่อมะเร็ง) และตรวจสอบซ้ำในห้องแล็บ สร้างความมั่นใจว่าไม่มีสารตกค้างปลอดจากสารทาร์ 100%

 
นอกจากนี้ เข้าสู่กระบวนการทำให้ไส้กรอกสุกด้วยเครื่องอบไอน้ำ ที่อุณหภูมิใจกลาง 79 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิใจกลาง คืออุณหภูมิจุดกึ่งกลางของชิ้นอาหารซึ่งเป็นจุดที่ร้อนช้าที่สุด) เพื่อให้มั่นใจว่าไส้กรอกจะสุกที่อุณหภูมินี้อย่างทั่วถึง จากนั้นนำไปผ่านน้ำเย็นและลมเย็นลดอุณหภูมิให้เหลือ 0-4 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาอุณหภูมิที่ปลอดภัยต่อการบริโภค

“ไส้กรอกซีพี ไม่ใช้สารกันเสีย ไม่ใช้สารไนเตรต สารบอแรกซ์ ดินประสิว และส่วนผสมที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย รวมทั้งควบคุมการใส่ ‘เกลือไนไตรต์’ ให้อยู่ในปริมาณที่ต่ำกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด โดยกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่สร้างสารพิษ โดยมีการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากลอย่างเข้มงวด ตลอดจนควบคุมปริมาณโซเดียมให้อยู่ในเกณฑ์ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค” นายเกริกพันธุ์ กล่าว

 
สำหรับขั้นตอนการบรรจุไส้กรอกลงบรรจุภัณฑ์ เป็นระบบซีลสุญญากาศแนบกับชิ้นไส้กรอก ด้วยบรรจุภัณฑ์ชนิดเทอร์โมฟอร์มแบบฟิล์มหลายชั้น (Multi-layer thermoform film) ป้องกันการซึมผ่านของออกซิเจน ช่วยรักษาความสดใหม่และคุณภาพของไส้กรอกไว้ได้ตลอดอายุการเก็บรักษา โดยไม่ต้องใช้สารกันเสีย และอุ่นร้อนกับไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ก่อนส่งผลิตภัณฑ์ไส้กรอกสู่ผู้บริโภคต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพของสินค้าและการตรวจจับโลหะอีกครั้ง

นายเกริกพันธ์ แนะนำว่า การเลือกซื้อไส้กรอกอย่างปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิทไม่ฉีกขาด มีฉลากระบุ วันผลิต วันหมดอายุ และสถานที่ผลิตอย่างชัดเจน สังเกตเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เครื่องหมาย GMP GHP HACCP ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ว่าโรงงานผ่านการรับรองคุณภาพในการผลิตอาหารมีความปลอดภัย รวมถึงเลขสารบบอาหารและเครื่องหมาย อย.
 
 
นอกจากนี้ ขั้นตอนที่สำคัญอีกข้อคือ การเก็บรักษาหลังจากซื้อผลิตภัณฑ์ ควรเก็บรักษาในอุณหภูมิที่มีความเย็นตลอดเวลา ต่ำกว่า 6 องศาเซลเซียส หากยังไม่ได้รับประทานควรปิดให้มิดชิดป้องกันการปนเปื้อนหรือใส่ภาชนะให้สนิทและเก็บในอุณหภูมิดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ที่อุ่นร้อนแล้วควรรับประทานในทันที เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ก่อโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้บริโภคสูงสุดเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ย. 2566 เวลา : 12:53:49
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 4:12 am