การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรม สบส. ร่วมภาคี ลุยตรวจศูนย์ฝึกพลังจิต หลังพบเข้าข่ายอวดอ้างรักษาสารพัดโรค


 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วมกับ ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางบัวทอง ปลัดอำเภอบางบัวทอง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นนทบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบศูนย์ฝึกอบรม “อาจารย์เอก ฝ่ามือพลังจิต” หลังพบเข้าข่ายอวดอ้างรักษาสารพัดโรค ด้วยศาสตร์พลังจิต สุ่มเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้โรคลุกลาม

 
 
นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล ถึงการใช้ศาสตร์พลังจิต รักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์ แขนขาอ่อนแรง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดคอ ปวดหลัง หรือรักษาคนตาบอดให้กลับมามองเห็น ฯลฯ โดยหมอเทวดา “อาจารย์เอก ฝ่ามือพลังจิต” ซึ่งในแต่ละครั้งผู้ป่วยนับร้อยรายเดินทางเข้ามารับการรักษา ซึ่งการรักษาด้วยศาสตร์พลังจิต ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าการใช้พลังจิตสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยให้ทุเลาลง หรือหายขาดได้ ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการในด้านระบบบริการสุขภาพที่ถูกต้อง เหมาะสม กรม สบส.จึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมายของกรม สบส. และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 4 ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ตำรวจ สภ.บางบัวทอง ปลัดอำเภอบางบัวทอง และ สสจ.นนทบุรี ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ ศูนย์ฝึกอบรมของ “อาจารย์เอก ฝ่ามือพลังจิต” ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งจากการลงพื้นที่ในวันนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ไม่พบตัวผู้ดูแลศูนย์ฝึกอบรมฯ และ อ.เอก จึงดำเนินการสอบถ้อยคำจากผู้ให้บริการเช่าพื้นที่ โดยได้ความว่า อ.เอก ได้ขอเช่าพื้นที่เพื่อเปิดเป็นสำนักงาน ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2566 โดยมิได้แจ้งว่าจะมีการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น “อาจารย์เอก ฝ่ามือพลังจิต” มิได้เป็นผู้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และมิได้เป็นผู้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย อีกทั้ง สถานที่ให้บริการ “ศูนย์อบรมศาสตร์พลังจิต อาจารย์เอก” ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ก็มิได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลแต่อย่างใด พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงเตรียมเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับ อ.เอก ในเบื้องต้นในฐานความผิดตามกฎหมาย 3 ฉบับ ดังนี้ 1)พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในฐานประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยมิได้รับอนุญาต 2)พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525ในฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้รับอนุญาต และ 3)พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยโดยมิได้รับอนุญาต

 
นายแพทย์ภานุวัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า การรักษาโรคทุกประเภทนั้น ขอให้ผู้ป่วยหรือญาติเลือกรับบริการจากแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ และจะต้องกระทำการรักษาในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากผู้ป่วยรับการรักษาพยาบาลโดยบุคคลที่มิใช่แพทย์ ซึ่งขาดความชำนาญ และมีกระบวนการรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ ก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายของตัวผู้ป่วย รวมทั้ง อาจจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้โรคลุกลาม หรืออาการกำเริบจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

 
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นหรือทราบเบาะแส การกระทำผิดในลักษณะของหมอเถื่อน คลินิกเถื่อน หากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 หากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็สามารถแจ้งได้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 พ.ย. 2566 เวลา : 17:58:34
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 5:29 pm