การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"สวนดุสิตโพล" สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ (ทั้งที่มีบุตรหลานและไม่มีบุตรหลาน อยู่ในวัยเรียน) เรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนไทย ณ วันนี้ กรณีศึกษา "เด็กอาชีวะ"


“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ (ทั้งที่มีบุตรหลานและไม่มีบุตรหลาน อยู่ในวัยเรียน) เรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนไทย ณ วันนี้ กรณีศึกษา “เด็กอาชีวะ” จำนวน 1,161 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2566 สรุปผลได้ ดังนี้


1. ประชาชนคิดอย่างไรกับการทะเลาะวิวาทจนถึงแก่ชีวิตของเด็กอาชีวะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้
 
อันดับ 1 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมืออย่างจริงจัง มีมาตรการ แนวทางป้องกันที่เด็ดขาด 87.83%

อันดับ 2 ขอให้นึกถึงผลกระทบที่จะตามมา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือสถาบันที่ศึกษาอยู่ 82.23%

อันดับ 3 น่าจะเกิดจากการลอกเลียนแบบ ขาดความยั้งคิด 62.90%

2. ประชาชนคิดว่าการทะเลาะวิวาทจนถึงแก่ชีวิตของเด็กอาชีวะเกิดจากสาเหตุใด
 
อันดับ 1 การปลูกฝังค่านิยมที่ผิด ๆ รักศักดิ์ศรี สถาบัน 85.50%

อันดับ 2 มีคนบงการอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่นักศึกษา เป็นองค์กรอาชญากรรม 74.98%

อันดับ 3 ความขัดแย้ง ความแค้นส่วนตัว 66.09%

3. ประชาชนคิดว่าปัญหาการทะเลาะวิวาทจนถึงแก่ชีวิตของเด็กอาชีวะจะแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร
 
อันดับ 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเด็ดขาด เพิ่มโทษสูงสุด 74.03%

อันดับ 2 ปรับทัศนคติของนักศึกษาทั้งเก่าและใหม่ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน 73.25%

อันดับ 3 กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งหาแนวทางแก้ปัญหา เรียกสถาบันอาชีวศึกษามาหารือร่วมกัน 72.74%

4. ประชาชนมีวิธีการป้องกันดูแลตัวเองเพื่อความปลอดภัยในชีวิตอย่างไรบ้าง
 
อันดับ 1 หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง 91.62%

อันดับ 2 หากอยู่ในที่เกิดเหตุต้องประเมินสถานการณ์ว่าควรหนี ซ่อน หรือสู้ 81.10%

อันดับ 3 ฝึกฝนทักษะการเอาตัวรอด 53.92%

5. ประชาชนคิดว่าใคร/หน่วยงานใดควรเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหานี้
 
อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ 88.10%

อันดับ 2 พ่อแม่ ผู้ปกครอง 72.20%

อันดับ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 69.16%

6. กรณีมีบุตรหลาน ประชาชนอยากให้บุตรหลานเรียนต่อสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพหรือไม่
 
อันดับ 1 ไม่อยากให้เรียน 80.34%

อันดับ 2 อยากให้เรียน 19.66%
 
*หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

สรุปผลการสำรวจ : ความปลอดภัยในชีวิตของคนไทย ณ วันนี้ กรณีศึกษา “เด็กอาชีวะ”

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนไทย ณ วันนี้ กรณีศึกษา “เด็กอาชีวะ” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,161 คน สำรวจระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2566 พบว่า จากกรณีการทะเลาะวิวาทจนถึงแก่ชีวิตของเด็กอาชีวะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 87.83 มองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมืออย่างจริงจัง มีมาตรการ แนวทางป้องกันที่เด็ดขาด โดยคิดว่าสาเหตุของการทะเลาะวิวาท คือ การปลูกฝังค่านิยมที่ผิด ๆ รักศักดิ์ศรี สถาบัน ร้อยละ 85.50 ด้านการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเด็ดขาด เพิ่มโทษสูงสุด ร้อยละ 74.03 ทั้งนี้ประชาชนดูแลความปลอดภัยของตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 91.62 โดยหน่วยงานที่ควรเข้ามาเร่งแก้ปัญหานี้คือกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 88.10 และหากประชาชนมีบุตรหลาน ก็มองว่าไม่อยากให้เรียนต่อสายอาชีวศึกษา ร้อยละ 80.34

การเรียนสายอาชีวศึกษามีความสำคัญต่อตลาดแรงงานไทยอย่างยิ่ง แต่จากสถิติกลับพบว่าผู้สนใจศึกษาต่อ ในสายอาชีพไม่สูงนัก กอปรกับการรับรู้ข่าวในสื่อต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้ผู้ปกครองมีความวิตกกังวลมากขึ้น จากผลสำรวจที่ผ่านมาของสวนดุสิตโพล พบว่า สาเหตุของการก่อเหตุทะเลาะวิวาทมุ่งไปที่ความขัดแย้งระหว่างสถาบัน แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม สะท้อนให้เห็นถึงขอบข่ายของปัญหาที่กว้างขึ้นและฝังรากลึก ดังนั้นหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเร่งปราบปรามและกระทรวงศึกษาธิการต้องแก้ปัญหาในระยะยาว

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โทร 086-3766533

ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษามีมาอย่างยาวนาน ปัญหาที่เกิดนั้นมีสาเหตุทั้งจากความขัดแย้งส่วนตัว และค่านิยมที่ผิดในเรื่องสถาบันการศึกษา แนวทางการแก้ปัญหา อาจแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก คือ 1) การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และ 2) การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเอง โดยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ได้แก่ ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับความรักสถาบันการศึกษา การเชิดชู สนับสนุนคนที่ความดี ความสามารถเชิงทักษะอาชีพ เชิงวิชาการ มากกว่าความเด่นดังในเรื่องของพฤติกรรมอันธพาลหรือสร้างความเดือดร้อนแก่สังคม สื่อควรสร้างไอดอลหรือแบบอย่างบุคคลที่ทำความดีมีความสามารถ ส่วนการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองนั้นอาจทำได้โดยเฝ้าสังเกตสภาพรอบตัว ไม่เอาตนเองเข้าไปอยู่ในที่เสี่ยงที่ชุมนุมที่อาจเกิดการทะเลาะวิวาท นอกจากนั้น ตำรวจควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เร่งจับผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเฝ้าระวังเหตุในพื้นที่เสี่ยงอย่างทั่วถึง พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจ ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องแก่ลูกหลาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิญญา สุขวงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 พ.ย. 2566 เวลา : 20:25:37
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 2:03 pm