การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กรมการขนส่งทางบก ขานรับนโยบายนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยกระดับมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง กำหนดวิธีการตรวจและเกณฑ์ค่าก๊าซ CO/HC สำหรับการตรวจสภาพรถยนต์ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


ตามที่ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางบกเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง รวมถึงให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ โดยนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกรมฯ เรื่อง กำหนดเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดรคาร์บอนจากท่อไอเสียของรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ภายในที่มีการจุดระเบิดด้วยประกายไฟ พ.ศ. 2566 เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดวิธีการตรวจและเกณฑ์ค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) สำหรับการตรวจสภาพรถยนต์ให้มีเกณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้นและลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยประกาศฯ มีสาระสำคัญในการกำหนดให้รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เช่น รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่ใช้รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่) รถยนต์นั่ง ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ฯลฯ ที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียมหรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เมื่อเข้ารับการตรวจสภาพกับ กรมการขนส่งทางบก หรือสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ก่อนชำระภาษีประจำปี จะต้องมีค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยผ่านวิธีการตรวจวัดค่าก๊าซ CO/HC ขณะเครื่องยนต์เดินเบาที่รอบต่ำ (Normal Idle) และวิธีการตรวจวัดค่าก๊าซ CO/HC ขณะเครื่องยนต์เดินเบาที่รอบสูง (High Idle) ตามระยะเวลาและประเภทรถที่จดทะเบียน ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ ได้ประสาน สถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยประกาศฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า กรมการขนส่งทางบกแนะนำให้เจ้าของรถตรวจเช็กและดูแลรักษารถยนต์เบื้องต้นเพื่อลดการปล่อยมลพิษ ดังนี้ 1. ให้ทำความสะอาด หรือเปลี่ยนกรองอากาศใหม่ 2. เปลี่ยนกรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามระยะเวลา 3. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและกรองน้ำมันเครื่องตามระยะเวลา 4. ปรับตั้งปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งจังหวะการฉีดเชื้อเพลิงให้ถูกต้อง 5. ตรวจเช็กและปรับตั้งหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นละออง และมีแรงดัน เป็นต้น ทั้งนี้ กรมฯดำเนินการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น จัดผู้ตรวจการออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและรถโดยสารบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ตามมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ สนับสนุนประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรการทางภาษีประจำปี รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 พ.ย. 2566 เวลา : 13:40:44
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 2:05 am