เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำ จากความไม่แน่นอนของการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ท่ามกลางการปรับลดความน่าเชื่อถือจีน"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67 - 74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 71 - 78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 – 15 ธ.ค. 66) 
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำ โดยอุปทานน้ำมันดิบยังคงมีความไม่แน่นอน ขณะที่ตลาดจับตานโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ECB และ FED ที่จะมีการประชุมกันในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากการปรับลดความน่าเชื่อถือจีน นอกจากนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยังอยู่ในพื้นที่จำกัด และไม่กระทบกับการผลิตน้ำมันในพื้นที่ตะวันออกกลาง แม้จะมีการกลับมาปะทะกันหลังครบกำหนดหยุดยิงชั่วคราว

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดจับตาอุปทานน้ำมันดิบโลก หลังการประชุมกลุ่ม OPEC+ วันที่ 30 พ.ย. 66 ที่กลุ่มได้อาสาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงไตรมาสแรกปี 67 โดยนักวิเคราะห์คาด กลุ่ม OPEC+ อาจปรับลดอุปทานเพิ่มเติม หลังคูเวตและแอลจีเรียอาจลดอุปทานน้ำมันเพิ่มเติมร่วมกับซาอุดิอาระเบียและรัสเซียหรือขยายระยะเวลาไปกว่าไตรมาส 1/67 นอกจากนี้ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ได้เดินทางเยือนตะวันออกกลางของเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ อาจเพิ่มความเชื่อมั่นตลาดน้ำมันจากความร่วมมือลดอุปทานน้ำมันดิบ
 
ความไม่แน่นอนของนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังคงส่งผลต่อราคาน้ำมัน โดยตลาดจับตาการประชุม ECB ที่จะมีวันที่ 14 ธ.ค. 66 ที่คาดการณ์ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงที่ 4.0 – 4.75% และเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ปี 67 หลังอัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 2.4% ในเดือน พ.ย. 66 ขณะที่ตลาดคาดการณ์การประชุม FED ที่จะมีวันที่ 12 และ 13 ธ.ค.66 ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%-5.5% ไปจนถึงเดือน ก.ค. 67 นานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่จะคงดอกเบี้ยจนถึงเดือน มี.ค. 67
 
ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีน หลัง Moody Investor ปรับลดความน่าเชื่อถือจากทรงตัวเป็นเชิงลบ เนื่องจากความกังวลทิศทางเศรษฐกิจและวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน โดยสัดส่วนเงินกู้จีนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 303% ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2567-2568 จะเติบโตที่ระดับ 4% และการเติบโตมีแนวโน้มหดตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 3.8 % ในปี 2569-2570 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังพอมีสัญญาณที่ดีบางส่วน หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยดัชนีผลผลิตภาคบริการจีน เดือน พ.ย. ปรับสูงขึ้นสู่ระดับ 51.5 จากระดับ 50.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้น 3 เดือนต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนปรับสูงขึ้นสู่ระดับ 49.3 จาก 48.5 นอกจากนี้การส่งออกจีนเติบโต 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดือน พ.ย. ปี 65 ซึ่งสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน 
 
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังไม่ส่งผลกระทบกับตลาดมากนักแม้หลังครบกำหนดพักรบชั่วคราว กลุ่มฮามาสได้ทำลายยานยนต์ทหารอิสราเอล 24 คัน และทหารอิสราเอลได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย ขณะที่อิสราเอลโจมตีทางบกและทางอากาศในฉนวนกาซามากกว่า 250 เป้าหมาย ใน 24 ชม. นอกจากนี้ตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสคุมขังในฉนวนกาซาปรับเพิ่มจาก 137 ราย เป็น 138 ราย อย่างไรก็ตาม อิสราเอลมีการปิดถนนซาลาห์ อัล-ดิน ซึ่งยังอยู่ในพื้นที่จำกัด และไม่กระทบกับการผลิตน้ำมันในพื้นที่ตะวันออกกลาง
 
เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของของสหรัฐฯ เดือน พ.ย.ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (PMI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเดือน พ.ย. ได้แก่ อัตราการว่างงาน และดัชนียอดค้าปลีก และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรปเดือน ธ.ค. ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรป และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (PMI)
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 - 8 ธ.ค. 66)
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 3.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดผิดหวังจากนโยบายการลดอุปทานน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ที่อาจไม่ได้มากเท่าที่คาด ขณะที่สต๊อกน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์สร้างแรงกดดันว่าอุปสงค์น้ำมันโลกอ่อนตัว นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (PMI) สหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 46.7 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 เป็นระยะเวลานานกว่า 13 เดือน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 1 ธ.ค. 66 ปรับลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 445 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 1.4 ล้านบาร์เรล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ธ.ค. 2566 เวลา : 11:03:57
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 4:39 am