เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : แนวโน้มดอกเบี้ยไทยปี 67 หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยกลางปีหน้า


หลังจากวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% เป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมดังกล่าวติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 พร้อมทั้งส่งสัญญาณยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทางคณะกรรมการยังได้ส่งสัญญาณเพิ่มเติมอีกว่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ขณะที่ด้านเศรษฐกิจไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง และจะเติบโตอย่างสมดุลในปี 2567 แต่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่บรรยากาศของการลงทุนทั่วโลกดีขึ้นจากสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ประกอบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีความไม่แน่นอน ทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยไทยในปี 2567 อาจจะยังมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ดังเดิม
 
สถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วในสหรัฐ ได้ทำให้เฟดต้องออกนโยบายการเงินแบบตึงตัว ด้วยการเริ่มต้นวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 11 ครั้ง จนถึงระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกมีมูลค่าลดลง มีการลงทุนน้อยลง และส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่ประสบกับปัญหาค่าเงินอ่อนค่าจากเงินทุนไหลออก จนทำให้ธนาคารกลางต่างๆจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อสู้กับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ส่งต่อถึงกันทั่วโลก
 
แต่ต่อมาหลังจากที่เฟดได้ทำการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% จำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน ตามมติของการประชุมจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ล่าสุดนี้ และยังมีถ้อยแถลงที่แสดงถึงสัญญาณการยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงเท่านี้ ซึ่งระบุว่า "คณะกรรมการ Fed จะทำการพิจารณาปัจจัยหลายๆส่วน เพื่อพิจารณามากขึ้น หากจำเป็นต้องมีการคุมเข้มนโยบายการเงินใดๆ ที่จะมีขึ้นอีก" ซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่เคยมีมาก่อน (การแถลงการณ์ในครั้งก่อนๆที่ยังมีโทนเอนเอียงไปว่า มีโอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อๆไปเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด)
 
โดยทาง “เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้มีการแถลงข่าว หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมว่าตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากจุดสูงสุด สอดคล้องกับตลาดแรงงานในขณะนี้ยังคงมีความแข็งแกร่ง และกำลังปรับตัวสู่ระดับที่ดีขึ้น ซึ่งเฟดจะไม่สร้างความผิดพลาดด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเกินไปจนกระทบกับระบบเศรษฐกิจ จึงมีความเต็มใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณว่ากำลังกลับสู่สภาวะปกติ เฟดก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินอีกต่อไป
 
ซึ่งทางเฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ จากเดิมที่ระดับ 3.7% ลดลงเหลือ 3.2% ในปีนี้ และ 2.4% ในปี 2567 และ 2.2% ในปี 2568 ก่อนจะกลับสู่ระดับ 2% ในปี 2569 ซึ่งเป็นตัวเลขเป้าหมายพร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% (จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในการประชุมเดือนก.ย.) และปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้งในปี 2568 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 1.00% ส่วนในปี 2569 เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดลดลงสู่ระดับ 2.00-2.25% ซึ่งใกล้กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.50%
 
สัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลต่อดอกเบี้ยไทยหรือไม่? 
 
สัญญาณดังกล่าวนับเป็นปัจจัยบวกอย่างยิ่งที่คลายความกังวลในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ที่ราคาได้ซบเซาลงไป จากการเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นเหตุให้อำนาจเงินในมือของผู้คนทั่วโลกลดลง และการไหลออกของเม็ดเงินจากพื้นที่ต่างๆ ไปพักไว้ที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐ จนส่งผลให้ค่าเงินหลากหลายประเทศอ่อนค่า รวมถึงค่าเงินบาทไทย และการเกิดสภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ทำให้ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันที่ 2.5% เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจไปก่อนหน้านี้
 
 
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย
 
แต่หลังจากงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 4/2566 ที่จัดขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทางธปท. ได้มีการรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ต่อปี หรือก็คือการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ดังเดิม และยังไม่มีสัญญาณออกมาว่าจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องด้วยเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว และในปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวที่สมดุลมากขึ้นจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ซึ่งมีปัจจัยบวกจากสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดร่วมด้วย แต่ไทยมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจได้รับผลบวกน้อยกว่าคาด จากปัจจัยโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมที่โลกให้น้ำหนักกับการเติบโตด้านเทคโนโลยี แต่ไทยยังยึดโยงกับเศรษฐกิจรูปแบบเก่าอยู่ แรงงานในประเทศยังมีสกิลไม่เพียงพอที่จะรองรับเศรษฐกิจใหม่ที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องของเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม อาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย และทำให้หลุดออกจากห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่ได้ (เช่น ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจในอดีตไม่สามารถเติบโตได้ในระดับสูงเช่นเดิม)
 
 
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย
 
ประกอบกับมุมมองในเรื่องของสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ ที่รายงานว่า เงินเฟ้อไทยที่ติดลบลง 2 เดือนล่าสุด มาจากปัจจัยชั่วคราว ทั้งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และฐานที่สูงอยู่แล้วในปีก่อน ไม่ใช่สัญญาณภาวะเงินฝืด เพราะราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง โดยในปีหน้า 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะทยอยตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2% ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่จะมีราคาสูงขึ้น (แต่ก็ยังเป็นเงินเฟ้อที่ขยายตัวตามกรอบเป้าหมายของธปท.ที่ 1-3%) ที่แสดงถึงการบริโภคในประเทศยังคงขยายตัวดี ฉะนั้นจากทั้ง 2 ปัจจัยที่กล่าวมา ธปท. จึงพิจารณาว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 2.50% ถือว่าอยู่ในระดับเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน อันเป็นความเสี่ยงที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
 
มติของกนง.ข้างต้นนี้ สอดคล้องกับทาง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดการณ์ว่าทางธปท.จะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยบวกของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปัจจัยกดดันในเรื่องปัญหาโครงสร้างและสถานการณ์เงินเฟ้อ ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2% ซึ่งขัดแย้งกับกระทรวงพาณิชย์ที่ประเมินว่าค่าเงินเฟ้อไทยปีหน้าอยู่ที่ 0.7% หากตัวเลขเงินเฟ้อออกมาอ่อนกว่าที่ทาง ธปท.คาดเอาไว้ ก็มีโอกาสที่ ธปท.จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากระดับ 2.5% ในช่วงกลางปี 2567 ทั้งนี้ ก็จำเป็นต้องพิจารณาประกอบกับความชัดเจนของนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ของภาครัฐร่วมด้วย ว่าจะเกิดขึ้นจริงในปีหน้าหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินเฟ้อมีทิศทางที่สูงขึ้น

ด้าน SCB EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 2.5% ไปตลอดปี 2567 เนื่องจากเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับศักยภาพในระยะยาว (Neutral rate) และช่วยเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้ และช่วยสร้างความสมดุลในระบบการเงินจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงกลับเป็นบวกได้ โดยเป็นการลดแรงจูงใจในการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนและลดการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป (Underpricing of risks) จากภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน 

ขณะที่ค่าเงินบาทจะทรงตัวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2567 จากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของภาครัฐ และแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย

ด้าน วิจัยกรุงศรีของธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในกรอบเป้าหมายและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีอยู่มากในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ธ.ค. 2566 เวลา : 19:25:28
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 9:07 pm