เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.35 - 35.00 วอลุ่มบางส่งท้ายปี


กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์ส่งท้ายปี 2566 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.35-35.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.60 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.58-35.03 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินเยนเผชิญแรงขายช่วงสั้นหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)คงนโยบายผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไป ขณะที่ผู้ว่าการบีโอเจระบุว่าภาวะแรงงานกำลังตึงตัวและเงินเฟ้ออาจเร่งขึ้นสู่เป้าหมาย อย่างไรก็ดี การสื่อสารยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยบีโอเจยังไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อบรรลุเป้าหมายอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ซึ่งสร้างความท้าทายสำหรับการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง ทางด้านดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแตะจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 5 เดือน หลังข้อมูลบ่งชี้ว่าจีดีพีสหรัฐฯขยายตัว 4.9% ในไตรมาสสาม ลดลงจากตัวเลขครั้งก่อนที่ว่าจีดีพีเติบโต 5.2% ส่วนเงินปอนด์ดิ่งลงระหว่างสัปดาห์หลังอังกฤษรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3.9% ซึ่งต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)จะปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือนพฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 3,713 ล้านบาท และ 12,937 ล้านบาท ตามลำดับ
 
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี เผยว่า ขณะที่ตลาดเชื่อมั่นมากขึ้นว่าปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯคลายตัวลง ทั้งนี้ ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ครั้งล่าสุด เฟดปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานปี 67 เหลือ 2.4% จาก 2.6% โดยหากแรงส่งยังคงแผ่วลงต่อเนื่อง ประมาณการดังกล่าวอาจจะดูไม่สมเหตุสมผล ทำให้การลดดอกเบี้ยลงสามครั้ง ตาม Dot Plot ในปีหน้าอาจน้อยเกินไป ในภาวะเช่นนี้ เรามองว่าในระยะสั้นดอลลาร์อาจย่อลงได้อีกท่ามกลางธุรกรรมเบาบางช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่แรงขายหลังจากนั้นจะถูกจำกัดมากขึ้นเนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยไปไกลกว่า Dot Plot พอสมควรแล้ว
 
สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจะติดตามข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพฤศจิกายนของไทย หลังกรมศุลกากรรายงานส่งออกเดือนพฤศจิกายนเติบโต 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 10.1% ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 2.4 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกที่เติบโต ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขณะที่การส่งออกยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ธ.ค. 2566 เวลา : 12:26:38
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 11:58 am