การค้า-อุตสาหกรรม
'ภูมิธรรม' ถกทูตออสเตรเลีย เชิญชวนลงทุนในไทย เห็นพ้องหนุนร่วมมือเศรษฐกิจใหม่ๆ


นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบกับนางสาวแอนเจลา แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยไทยเห็นว่า ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในภูมิภาคแปซิฟิก และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดในการขับเคลื่อนและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ ไทยและออสเตรเลียยังมีความแนบแน่นในด้านเศรษฐกิจ และมี FTA ร่วมกันใน 3 กรอบ ได้แก่ เขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

 
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเรื่องยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2040 ของออสเตรเลียที่มุ่งส่งเสริมการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการออสเตรเลียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย โดยเฉพาะในสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ เกษตรและอาหาร โดยหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีจากออสเตรเลียในนวัตกรรมอาหาร และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในภาคการผลิต การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียว โดยไทยได้เชิญชวนนักลงทุนออสเตรเลียเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีสีเขียว รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ โดยเฉพาะในเขต EEC ให้มากขึ้น การศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงานต่างๆ ซึ่งไทยและออสเตรเลียสามารถต่อยอดความร่วมมือต่างๆ ผ่านระบบการรับรองการศึกษาทางเลือก และอาชีวศึกษา เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในด้านการผลิตสื่อภาพยนตร์ เกมส์ แอนิเมชัน ศิลปะ แฟชั่น และวัฒนธรรม บริการสุขภาพ ที่จะเน้นการส่งเสริมการลงทุนในด้านนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการแพทย์ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และการฝึกอบรมดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

 
นายภูมิธรรม เสริมว่า นอกจาก FTA ที่ไทยและออสเตรเลียมีร่วมกันใน 3 กรอบแล้ว ไทยและออสเตรเลียยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (SECA) ใน 8 สาขาหลัก ได้แก่ (1) เกษตร ระบบอาหารที่ยั่งยืน และเทคโนโลยี (2) การทองเที่ยว (3) บริการสุขภาพ (4) การศึกษา (5) การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล (6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (7) การส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน และ (8) พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียวและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปแผนงานและกิจกรรมที่จะดำเนินการ ซึ่งหากสรุปผลได้ทันน่าจะประกาศความสำเร็จได้ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

 
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยินดีที่จะขับเคลื่อนข้อเสนอ Ten for Thailand ของพันธมิตรหอการค้าต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ ได้นำระบบให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการ เช่น ระบบ e-Registration และ e-Filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และระบบ Smart-CO ของกรมการค้าต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล

 
ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 18,315.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.27 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 11,187.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 7,128.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีเครื่องประดับ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และสินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ธ.ค. 2566 เวลา : 19:16:11
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 5:09 pm