เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2024 จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? รับมืออย่างไรดี?


เข้าสู่เดือนแรกของปี 2024 นี้ เชื่อว่าหลายๆคนอาจกำลังคิดเริ่มวางแผนทางการเงิน เพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจในไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 12 เดือนนี้ จากเหตุผลของแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลก นำโดยสหรัฐกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอยแบบรับมือได้ หรือ Soft Landing และในประเทศจีนที่ยังมีปัจจัยลบคงค้างอยู่จากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทย หรือกระทบกับการท่องเที่ยวในบ้านเราโดยตรง แต่จริงๆแล้ว ประเทศไทยในปี 2024 นี้ ถือได้ว่ามีการเติบโตที่สวนทางสภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปัจจัยบวกส่งเสริมอยู่หลายประการ
 
การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น 
 
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2023 ที่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อย ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองในไทยมีเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยด้านความขัดแย้งทางการเมืองจึงมีความผ่อนคลายลง ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและกลับเข้ามาลงทุนในไทย และยังได้แรงหนุนจากที่ตลาดลงทุนโลก ที่ Fed หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วง พ.ค. - ก.ค. ของปีนี้ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยสหรัฐลดลง เงินทุนไหลออกจากสหรัฐ ไปพักในที่ๆทำกำไรได้มากกว่า อย่างเช่นประเทศไทย ที่มีแนวโน้ม Outperform ในปีนี้
 
ภาครัฐมีการออกนโยบายที่สนับสนุน

เศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีทิศทางการฟื้นตัวในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากแรงส่งของนโยบายรัฐบาล อย่างการลดราคาพลังงาน ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า การปรับโครงสร้างพลังงาน เน้นหาพลังงานจากแหล่งใหม่ การลดภาระหนี้เกษตรกร และ SMEs การตั้งเป้าเป็นเจ้าภาพเทศกาลระดับโลก และการยกเลิกวีซ่านักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายทั้งจีนและคาซัคสถาน เพื่อดึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของ GDP ไทย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนโยบาย Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้แนวโน้ม GDP ในประเทศจาก 3% ที่หลายๆสถาบันทางการเงินคาดการณ์นั้น มีโอกาสโตถึง 4% ในปี 2024 นี้ แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital wallet อยู่บ้างก็ตาม ในขณะเดียวกัน คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไทยจะขยายตัวได้ 10-15% ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 2023 ที่ชะลอตัว 10%
 
การแก้ไขปัญหาหนี้ในประเทศ 

จากการบริหารจัดการแก้หนี้ในระบบและนอกระบบของรัฐบาลชุดนี้ มีโอกาสที่ทำให้คนในประเทศและภาคธุรกิจมีวงเงินส่วนบุคคลและธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และการที่มีสถาบันการเงิน อย่าง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมติอนุมัติดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาตรการพักหนี้ และการลดเงินต้นให้ รวมถึง SME D Bank สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ออกมาตรการลดเงินผ่อน ลดเงินต้น และลดดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ SME ก็จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจไทยมีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
 
การเติบโตของภาคเศรษฐกิจรอบด้าน 

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว และในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวที่สมดุลมากขึ้นจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ซึ่งมีปัจจัยบวกจากสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดร่วมด้วย สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ Exim Bank ว่าในปี 2567 มีแนวโน้มที่ GDP ของไทยจะเติบโตขึ้นประมาณ 3.2% ซึ่งได้แรงหนุนมาจากทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคการบริโภค ที่มีการขยายตัวต่อจากปีที่แล้วจากนโยบายของรัฐบาล ภาคการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ประมาณ 35 ล้านคน ภาคการลงทุน ก็ปรับตัวดีขึ้น จากแนวโน้มที่ภาคอุตสาหกรรมต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตมาไทย และที่สำคัญคือ ภาคการส่งออก ที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวราว +4.0% เนื่องจากปัจจัยของ Demand ที่การค้าโลกปีนี้ มีการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี +3.3% (จาก +0.8% ในปี 2023)
 
แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีสิ่งที่ควรระวัง อย่าง นโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาลที่กำลังเป็นที่จับตามองอยู่นี้ นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะนโยบายนี้จำเป็นต้องใช้วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น มีต้นทุนทางการคลังถึงประมาณ 2.9% ของ GDP ขณะที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง +0.7% ของ GDP จึงมีความเสี่ยงทั้งแหล่งที่มาของเงิน และส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่มีผลต่อกระแสเงินทุน ทั้งนี้ หากเกิดนโยบาย Digital Wallet ขึ้นจริงๆ ก็ยังมีความเสี่ยงตรงที่ ผู้คนเมื่อได้รับเงินมา ก็อาจต่างใช้เงิน มีความต้องการซื้อของมากขึ้น ทำให้ของในตลาดขาด อันเป็นการกระตุ้นให้สายการผลิตเร่งผลิตเพื่อส่งของเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อในช่วงแรก และนำไปสู่ภาคการผลิตที่รับบทหนักมากขึ้น หากภาคการผลิตนั้นผลิตเต็ม Capacity ที่มีแล้ว ภาระตรงนี้ก็อาจจะตกไปที่การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสายการผลิตเพิ่มมากขึ้นไปอีก เป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาคการส่งออกที่จะเป็นดาวเด่นในปีนี้ได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ม.ค. 2567 เวลา : 19:26:30
01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 2:26 am