เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : 2024 เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะวิกฤต กระทบการท่องเที่ยวไทย


เข้าสู่ปี 2024 ปีที่เศรษฐกิจในหลายประเทศมีแนวโน้มที่ฟื้นตัวดีขึ้นเทียบจากปีที่แล้ว เช่นประเทศพี่ใหญ่ของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สภาวะ Soft Landing ไม่ใช่การถดถอยทางเศรษฐกิจรุนแรงแบบ Recession หรือการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงกลางปีนี้ ก็ทำให้บรรยากาศของตลาดลงทุนทั่วโลกนั้นดีขึ้น แต่ในส่วนของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนเห็นทีว่าจะกลับกัน เมื่อ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีน ออกมายอมรับถึงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจีนเป็นครั้งแรก ผ่านสุนทรพจน์อวยพรปีใหม่ประจำปี 2024 ในวันที่ 31 ธ.ค.2023 ที่ผ่านมา

 

โดยในสารปีใหม่นี้ “สี จิ้นผิง” ได้ออกมาเปิดเผยถึงเศรษฐกิจจีนว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้ารอบด้าน ซึ่งเสียหายมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีการยกเลิกมาตรการ Zero Covid ที่ทำให้ชาวจีนไม่สามารถออกไปจับจ่ายใช้สอยภายนอกได้ ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2022 แล้วก็ตาม แต่ปัญหาของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่ปะทุขึ้นมาอย่างรุนแรงในปีที่แล้ว ภาคแรงงานที่ประสบปัญหาการว่างงาน และความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง เนื่องจากรัฐบาลจีนได้ทำการการกวาดล้างธุรกิจที่ผ่านมา โดยอ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ก็ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความหวาดกลัวถึงความมั่นคงในการทำธุรกิจในจีน ส่งผลให้ภาคการผลิตขนาดใหญ่ของประเทศจีนอ่อนแอมาเกือบตลอดปี 2023 สอดคล้องกับ มูดีส์ (Moody’s) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจชื่อดังระดับโลก ที่มีการปรับลดการคาดการณ์ภาพรวมถึงความน่าเชื่อถือทางการเงินของรัฐบาลจีน จากระดับมีเสถียรภาพ ‘Stable’ ไปเป็นเชิงลบ ‘Negative’ ซึ่งแสดงถึงความกังวลในหมู่นักลงทุนทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจจีนอย่างเห็นได้ชัด

 

และเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เป็นอีก 1 ปัจจัยลบสำคัญ ที่ทำให้ความตึงตัวและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนอยู่ในทิศทางลบมากกว่าเดิม ซึ่งทั่วโลกรู้จุดยืนดีอยู่แล้วว่า จีนนั้นยึดถือนโยบาย One China หรือ จีนเดียว มากแค่ไหน โดยในสุนทรพจน์ปีใหม่ของ “สี จิ้นผิง” ก็ยังกล่าวถึงจุดยืนนี้ว่า จีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว ขณะที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันในวันที่ 13 ม.ค.2024 ทำให้ตอนนี้ทั่วโลกต่างจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่า สถานการณ์ทางการเมืองของฝั่งจีน ไต้หวัน และการปะทะกับทางสหรัฐจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเช่นไรต่อไปในปีนี้

 

เศรษฐกิจจีนอยู่ในขั้นวิกฤต ส่งผลกระทบถึงไทย 

 

“ประเทศไทย” ที่พึ่งพาภาคบริการ อย่างการท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ แม้ในปี 2023 นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายกลุ่มเริ่มกลับเข้ามาในไทยแล้ว อีกทั้งทางรัฐบาลไทยก็ออกมาตรการฟรีวีซ่าให้กับจีนเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีน ที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวใหญ่ของไทยกลับเข้ามา แต่ก็ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในจีนดังกล่าว ที่สะท้อนจากการนำเข้าของจีนในเดือนพ.ย.นั้นลดลงอย่างเหนือความคาดหมาย แสดงถึงความอ่อนแอของอำนาจการจับจ่ายของผู้บริโภคในประเทศ ส่วนบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ อ้างอิงจาก InnovestX บริษัทการเงินการลงทุน ภายใต้กลุ่ม SCBX เปิดเผยถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยว่า ตลาดยังมีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งมีปัจจัยกดดันที่คาดว่าจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด ได้แก่ เศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวลง จากประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันดังกล่าว

 

แม้ในปีนี้เศรษฐกิจของไทยโดยรวมมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นมาจากปีก่อนหน้า และภาคท่องเที่ยว ทางรัฐบาลก็เริ่มเจาะตลาดใหม่ๆ (เช่นการออกฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวคาซัคสถาน เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงจากฝั่งเอเชียกลาง) แต่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งเป้ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวในประเทศที่ 3.55 ล้านล้านบาท หรือมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยที่เป้าหมาย 35 ล้านคนในปี 2024 นี้ ตลาดนักท่องเที่ยวจีนก็ยังคงเป็นความคาดหวังหลักของการท่องเที่ยวไทย ที่จะสามารถดันยอดไปได้ตามเป้าหมาย หากท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลจีนสามารถจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างราบรื่น และดึงความเชื่อมั่นของต่างชาติกลับขึ้นมาเหมือนเดิมได้ ก็คงทำให้เศรษฐกิจไทยที่ยึดโยงกับเศรษฐกิจจีนโดยตรง กลับมาดีขึ้นตามไปด้วย


LastUpdate 14/01/2567 20:50:02 โดย : Admin
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 9:46 pm