เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิ ศาสตร์ยังคงมีความตึงเครียด ท่ามกลางตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70 - 77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74 - 81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (15 – 19 ม.ค. 67) 
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิทางศาสตร์ยังคงมีความตึงเครียดทั้งสถานการณ์ในทะเลแดงและการประท้วงในลิเบีย นอกจากนี้นักวิเคราะห์คาดอาจมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากกลุ่ม OPEC+ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โลกที่มีแนวโน้มเติบโตน้อยลง และอัตราเงินเฟ้อกลุ่ม Euro zone ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังปริมาณคงคลังน้ำมันเบนซิน และดีเซลสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มจะปรับลดลง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตลาดยังคงจับตาความตึงเครียดจากสถานการณ์ความรุนแรงในทะเลแดง หลังกลุ่มกบฏฮูตีได้เพิ่มการโจมตีเรือที่แล่นผ่านทะเลแดง โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้อิสราเอลที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และเตือนว่าจะโจมตีเรือทุกลำที่มุ่งหน้าไปยังอิสราเอล เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ทำให้ตลาดกังวลถึงผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันจากตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดอุปทานน้ำมันดิบยังคงได้รับผลกระทบในวงจำกัดหากสหรัฐฯ และอิหร่านไม่ได้มีการเผชิญหน้ากันโดยตรง
 
ตลาดยังคงติดตามผลกระทบของการปิดบ่อน้ำมันในลิเบีย หลังลิเบียยังคงปิดบ่อน้ำมันชารารา (Sharara) ซึ่งเป็นบ่อน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ ของประเทศและมีกำลังการผลิตสูงถึง 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากการประท้วงของคนงานในบริษัทน้ำมันในประเทศ โดยหากการปิดบ่อน้ำมันยังคงถูกปิดอยู่อย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันที่จะตึงตัวมากขึ้นได้
 
ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1 ก.พ. 67 ว่าทางกลุ่มจะมีนโยบายการปรับลดกำลังการ ผลิตเพิ่มเติมเพื่อรักษาสมดุลของตลาดน้ำมันโลกหรือไม่ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดอาจมีการพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นจากสหรัฐฯ, กายอานา, เวเนซุเอลา และบราซิล เพิ่มเติมจากการประชุมครั้งล่าสุดที่ ซาอุดีอาระเบีย รัสเซียและชาติพันธมิตรอีก 6 ประเทศ อาสาลดการผลิตน้ำมันที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงไตรมาสที่ 1/2567
 
ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐฺกิจที่เติบโตลดลงในปี 2567 โดยล่าสุด รายงาน Global Economic Prospects ของธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โลกในปี 2567 อยู่ที่ +2.4% ลดลงจากปี 2566 ที่ 2.6% และเป็นการลดลงติดต่อกัน 3 ปี จากผลกระทบของสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางและในยุโรป ประกอบกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้ธนาคารโลกปรับลดมุมองต่อเศรษฐกิจยุโรปและจีนลง (เมื่อเทียบกับคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าในเมื่อ มิ.ย. 65) ขณะที่มีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
 
ผู้วางนโยบายธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดเศรษฐกิจกลุ่ม EU zone จะยังคงถดถอยหลังอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 2.9% เดือน ธ.ค. 66 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคาด ECB อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 5 ครั้งภายในปี 2567 โดยปรับลดครั้งแรกเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. 67 เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% ภายในปี 2668
 
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังนักวิเคราะห์คาดความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณคงคลังน้ำมันเบนซินสูงขึ้น 8 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณคงคลังน้ำมันดีเซลสูงขึ้น 6.5 ล้านบาร์เรล
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 66 ได้แก่ยอดขายปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรปเดือน พ.ย. 66 ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเดือน ธ.ค. 66 ได้แก่ อัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศประจำไตรมาส 4, ยอดขายปลีก, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการว่างงาน
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 - 12 ม.ค. 67)
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 0.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 79.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันตึงตัวจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (IDF) เตือนว่า สงครามกับกลุ่มฮามาสจะยังคงดำเนินต่อไปและอาจจะลุกลามไปสู่แนวรบอื่นๆ สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนว่า สงครามมีแนวโน้มทวีความรุนแรง รวมถึงผลกระทบของการปิดบ่อน้ำมันชารารา (Sharara) และตัวเลขข้อมูลจากจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 216,000 ตำแหน่งในเดือน ธ.ค. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ว่าจะเพิ่มขึ้น 170,000 ตำแหน่ง โดยการจ้างงานที่ดีขึ้นจะหนุนความ ต้องการใช้น้ำมันให้มากขึ้น นอกจากนี้ตลาดยังคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน มี.ค. อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 5 ม.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 432.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.68 ล้านบาร์เรล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ม.ค. 2567 เวลา : 10:43:45
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 11:06 pm