เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กกร.ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แต่ยังอ่อนแอ


คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย  สรุปประเด็นแถลงข่าว ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567

 

 
• เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีก่อน หลีกเลี่ยงการชะลอตัวรุนแรงได้ เศรษฐกิจโลกปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ที่ราว 3% ปรับตัวดีกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยตามคาดการณ์ของ IMF และ OECD เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งแม้ดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจจีนที่คาดจะมีแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือนมกราคม ที่ดีขึ้น

• การส่งออกของไทยยังขยายตัวได้แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 2-3% ในปีนี้ ตามการฟื้นตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  อย่างไรก็ตาม ยังเผชิญความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์หลายปัจจัย ทั้ง (1) การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลายประเทศ ซึ่งอาจเกิดการปรับเปลี่ยนทางนโยบายสำคัญ (2) ผลกระทบจากสงครามที่ขยายวง โดยเฉพาะอิสราเอล-ฮามาสที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่ม และกระทบกับราคาพลังงาน และ (3) ปัญหาความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และ (4) การแข่งขันกับสินค้าจีนในประเทศเพื่อนบ้าน

 
• เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แต่ยังอ่อนแอ แม้ภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ แต่ภาคการผลิตหดตัวต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่องเป็นสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ ถือเป็นสัญญาณที่ควรติดตาม นอกจากนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่สินค้าไทยหลายรายการเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด 
 

 
• ที่ประชุมกกร.สนับสนุนการดำเนินมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเล็งเห็นว่าเป็นแนวทางที่สามารถช่วยแก้หนี้ให้กับประชาชนได้จริง แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และยั่งยืน ซึ่งจะได้มีความต่อเนื่องในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 โดยภายใต้แนวทางมาตรการ Responsible Lending จะช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้เสีย  ระหว่างเป็นหนี้เสีย มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง และรายได้ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ โดยขอให้ ธปท. ติดตามประเมินผลกระทบของมาตรการต่อการเข้าถึงสินเชื่อด้วย เนื่องจากบางส่วนมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ทางการเงิน สร้างวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการวางแผนจัดการการเงินที่เหมาะสม ใช้สินเชื่อเท่าที่จำเป็นและตรงวัตถุประสงค์ ไม่ก่อหนี้เกินตัว ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศได้อย่างยั่งยืน  
 
• เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ และแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานาน สะท้อนจากรายงานของ World Economic Forum ล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ไทยยังทำได้ไม่ดีนักจากการจัดอันดับด้าน Future of Growth โดยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงความเหลื่อมล้ำ (Inclusiveness) ความยั่งยืน (Sustainability) และความยืดหยุ่น (Resilience) ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเร่งขจัดความแตกต่างทางรายได้ระหว่างกลุ่มต่างๆ รวมถึงลดขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยภาคธุรกิจจะต้องเร่งยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพ ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
 
 
• กกร. มีความกังวลกับปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย และในตลาดอาเซียน ทั้งจากสินค้าออนไลน์ (E-commerce) และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ประเด็นเหล่านี้ ทำให้สินค้าราคาถูกรวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ประกอบการไทย มีการทบทวนนโยบายและเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone รวมทั้ง การออกมาตรการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ เช่น การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention: AC) มาบังคับใช้ การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร และการเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ครอบคลุม เป็นต้น
 
• จากเป้าหมายของภาครัฐ ที่ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศในปี 2567 ที่จำนวน 35 ล้านคน ซึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศกว่า 3 ล้านคน สร้างเม็ดเงินกว่า 1.7 แสนล้านบาท ทำให้เกิดแรงหนุนทางเศรษฐกิจผ่านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม กกร. มีความกังวลต่อความหนาแน่นของจำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวบางพื้นที่ เช่น ภูเก็ต จึงขอเสนอให้ภาครัฐช่วยจัดระเบียบ ช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้เกิดการท่องเที่ยวตามเมืองรองต่างๆ เพื่อลดความหนาแน่นและช่วยกระจายรายได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งควรกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เกิดการใช้จ่ายต่อหัวให้มากขึ้น
 
 
• ประเด็นข้อเสนอเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อการพัฒนาประเทศ โดยอุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.6% ของ GDP ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมก่อสร้างยังมีความสำคัญในด้านการจ้างงานที่สำคัญ และมีสัดส่วนการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน แต่ปัจจุบันปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนไทยไม่สามารถแข่งขันได้เต็มศักยภาพ และหลายส่วนยังต้องได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การอ้างอิงราคาในอดีตไม่สะท้อนต้นทุนจริง เน้นราคาต่ำ กระบวนการการจัดชั้นและการคัดเลือกยังเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน การเบิกจ่ายเงินมีความล่าช้า ดังนั้นภาคเอกชนจึงมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดจ้างงานก่อสร้างภาครัฐ ดังนี้ 
 
1. ปรับแนวคิดในกฏหมาย จากการเน้นประโยชน์หน่วยงานของรัฐ ไปสู่ประโยชน์สาธารณะ
 
2. ปรับการคำนวณราคาให้สะท้อนต้นทุนจริง
 
3. ปรับแบบสัญญาจัดจ้าง โดยการขอแก้ไขกฏหมาย และ แก้แบบสัญญา 
 
4. กำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกผู้รับเหมา โดยเสนอแก้ไขกฏหมาย ที่กำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกผู้รับเหมาอย่างโปร่งใส
 
5. สร้างกลไกปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นระบบ
 
ทั้งนี้ กกร. ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างภาครัฐ อาทิ เช่น การใช้ Local Content ภายในประเทศ หรือวัสดุที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Made in Thailand และเครื่องหมายรับรอง Green Product โดยจะมีการรวบรวมรายละเอียดและนำเสนอรัฐบาลให้พิจารณาต่อไป
 

LastUpdate 07/02/2567 15:38:05 โดย :
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 12:54 am