การค้า-อุตสาหกรรม
เบิกฤกษ์...มกราคม 2567 ต่างชาติลงทุนในไทย 7,171 ล้านบาท ญี่ปุ่นลงทุนอันดับหนึ่ง 3,793 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ 1,083 ล้านบาท และจีน 768 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 172 คน


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 54 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 14 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 40 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 7,171 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 172 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรกของเดือนมกราคม 2567 ได้แก่

 
1. ญี่ปุ่น 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,793 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการที่เป็นคู่สัญญากับภาคเอกชน โดยเป็นการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโรงงานผลิตอะเซทีลีนแบล็ก (Acetylene Black Plant)

- ธุรกิจบริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางในการจัดหาแม่บ้าน/พนักงานทำความสะอาด

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (กระป๋องอลูมิเนียม/ชิ้นส่วนรถยนต์/อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรม)

2. สิงคโปร์ 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,083 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการ Data Center

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ (ซอฟต์แวร์บริหารทรัพยากรบุคคลและเงินเดือน/ซอฟต์แวร์จัดการภายในร้านอาหาร)

3. จีน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 768 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการให้เช่านั่งร้านขนาดใหญ่ (Scaffolding) สำหรับค้ำยันรับน้ำหนักที่ใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม/ยารักษาโรค/อุปกรณ์กีฬา)

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนเบาะรถยนต์/Specialty Coated Plastic Labels and Packaging Films)

4. สหรัฐอเมริกา 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 26 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการออกแบบ ติดตั้ง พัฒนา ปรับปรุง ยกระดับ ดูแล บำรุงรักษา เชื่อมโยง และให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น

- ธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม และบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร

- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เคมีภัณฑ์/เครื่องปรุงรส/สารและวัตถุเจือปนอาหาร)

5. ฮ่องกง 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 264 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

- ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการ รวมทั้งฝึกอบรมในด้านการจัดการร้านอาหารและคาเฟ่ภายในร้านจำหน่ายสินค้า

- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์กลุ่มภาพและเสียง (Audio Visualproduct)/ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสำนักงาน)

- ธุรกิจบริการแก่ธุรกิจสร้างภาพยนตร์ โดยเป็นการบริการประสานงานภาพยนตร์จากต่างประเทศที่มาถ่ายทำในประเทศไทย

ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้นมีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการบริการลูกค้าระดับสูงและการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติและคุณภาพวัสดุโพลียูรีเทนโฟม องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ทางคลินิก องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และการออกแบบนั่งร้านที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบเดือนมกราคมของปี 2566 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 2 ราย (4%) (ม.ค.67 อนุญาต 54 ราย / ม.ค.66 อนุญาต 52 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 2,042 ล้านบาท (40%) (ม.ค.67 ลงทุน 7,171 ล้านบาท / ม.ค.66 ลงทุน 5,129 ล้านบาท) แต่มีการจ้างงานคนไทยลดลง 649 ราย (79%) (ม.ค.67 จ้างงาน 172 คน / ม.ค.66 จ้างงาน 821 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น

 
อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือนมกราคม 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 17 ราย คิดเป็นร้อยละ 31 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566 จำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 113 (ม.ค.67 ลงทุน 17 ราย / ม.ค.66 ลงทุน 8 ราย) โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 2,296 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจาก * ญี่ปุ่น 5 ราย ลงทุน 476 ล้านบาท * จีน 5 ราย ลงทุน 462 ล้านบาท * เกาหลี 2 ราย ลงทุน 280 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 5 ราย ลงทุน 1,078 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ

* ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้า

* ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น ให้คำแนะนำในการติดตั้งระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องจักร

* ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม/Capacitor/ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทำความสะอาดทุกประเภท)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4443 อีเมล์ : foreign@dbd.go.th สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.พ. 2567 เวลา : 12:48:39
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 5:07 pm