เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ปี 2567 ส่งออกทุเรียนไทยไปจีนคาดเติบโต 12%YoY ลดลงจาก 30%YoY ในปีก่อนหน้า"


 ในปี 2566 การส่งออกผลไม้ของไทยไปจีน นำโดยทุเรียน มีบทบาทต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยไปจีน มีสัดส่วนถึง 18.2% (รูปที่ 1) ของการส่งออกสินค้าไทยไปจีนทั้งหมด ขณะที่การส่งออกสินค้าไทยไปจีนโดยรวม หดตัวเล็กน้อยที่ -0.8%YoY แต่หากไม่รวมสินค้าในกลุ่มผลไม้จะหดตัวที่ -5.3%YoY (รูปที่ 2) 
 
 
• ขณะที่ทุเรียนสดถือเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด โดยมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักมาจาก 1. ความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนมีมากขึ้นตามความนิยม และ 2. ปริมาณผลผลิตทุเรียนในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ การขยายช่องทางการขาย อาทิ ช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มช่องทางขนส่งทางราง ผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการขนส่ง ได้มากขึ้น ซึ่งในปี 2566 เริ่มมีการส่งทุเรียนผ่านเส้นทางนี้มากขึ้น โดยคิดเป็น 5.7% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดไปจีน

 
• สำหรับปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมการส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนอาจอยู่ที่ 4,500 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 12%YoY (รูปที่ 3) ซึ่งเติบโตในทิศทางชะลอลง จากฐานที่สูงในปีก่อน โดยเป็นผลจากปริมาณส่งออก (Q) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 10%YoY ซึ่งเติบโตในทิศทางชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากผลผลิตบางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากอากาศแปรปรวน ขณะที่ราคาส่งออก (P) คาดว่าอาจขยับขึ้นได้เล็กน้อยที่ 2%YoY ซึ่งเติบโตชะลอลงจากปีก่อน เพราะแม้ความต้องการทุเรียนสดจากไทยตลาดจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทุเรียนสดจากไทยก็อาจถูกกดดันจากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ หากการส่งออกทุเรียนสดต่ำกว่าคาดการณ์ก็อาจส่งผลต่อการส่งออกไทยไปจีนในภาพรวม 

 
• มองไปข้างหน้า ความสามารถด้านการแข่งขันเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกทุเรียนสดของไทยไปจีน แม้ว่าในปี 2566 ทุเรียนสดของไทยจะยังคงครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้อยู่ หรือราว 68% ของมูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีน (รูปที่ 4) แต่ทุเรียนเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น หลังได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้ส่งออกทุเรียนสดอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ประกอบกับมาเลเซียที่อาจได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนได้ในปีนี้ น่าจะส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดของทุเรียนสดไทยในจีนที่อาจปรับลดลงได้

 
ดังนั้น การรักษาคุณภาพของทุเรียนไทยที่ปัจจุบันยังมีความได้เปรียบอยู่ จากรสชาติที่เป็นที่นิยม และความหลากหลายของพันธุ์ จะเป็นกุญแจสำคัญ ท่ามกลางภาวะที่คู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน (รูปที่ 5) และกระทั่งในจีน กำลังเร่งพัฒนาผลผลิตทุเรียน เพื่อรองรับกับความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่ยังมีอยู่มากและจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงข้างหน้า 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.พ. 2567 เวลา : 17:13:20
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 6:23 am