การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สทนช.ระดมสมองถอดบทเรียนแผนรับมือฤดูฝนที่ผ่านมา สู่การพัฒนาแผนรับมือฤดูฝนปี 67 ตั้งเป้าลดผลกระทบประชาชนมากที่สุด


สทนช.ระดมมันสมองจากทุกภาคส่วน ร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี 66 ที่ผ่านมา วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค เตรียมแผนตั้งรับฝนฤดูกาลหน้าให้สอดรับสภาพอากาศแปรปรวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 
วันนี้ (16 ก.พ. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิด การประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี 2566 โดยมี นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวง 29 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ คณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ภาคประชาชน และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมกว่า 250 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 
สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝน ปี 2566 ภายใต้กรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดย สทนช. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการใน 3 ระยะ ดังนี้ 1.ก่อนฤดู เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยการคาดการณ์ฝนและพายุเพื่อกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อให้หน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวังและสามารถช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้ง กำหนดมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เพื่อหน่วยงานปฏิบัตินำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือเชิงป้องกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง 2.ระหว่างฤดู เป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมิน สภาพอากาศ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือ โดยได้ดำเนินการตลอดช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์และการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องด้วย และ 3.เมื่อสิ้นสุดฤดู ได้บูรณาการทุกหน่วยงานและภาคประชาชนในการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝนที่ผ่านมา

 
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ที่ได้เปิดไป 3 ศูนย์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งทั้ง 3 ศูนย์ฯ ได้บูรณาการทำงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับเอลนีโญอย่างเคร่งครัด ในการเฝ้าติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จนทำให้สามารถบริหารจัดการมวลน้ำไม่ให้ไหลหลากลงมาสมทบกับพื้นที่น้ำท่วมเดิม ช่วยลดผลกระทบและความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปีนี้ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่น้ำท่วมเพียง 0.75 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 65 ที่มีพื้นที่น้ำท่วม 3.16 ล้านไร่ ส่วนในพื้นที่ภาคกลาง สามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดจราจรทางน้ำเพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จนสามารถบริหารจัดการมวลน้ำในพื้นที่ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังได้มีการลงพื้นที่ทำประชาคมรับฟังความเห็นในการรับน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดี ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญๆ ได้

ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการแจ้งพื้นที่ประสบภัยและแจ้งเตือนสถานการณ์ต่างๆ จากศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ได้อย่างทันสถานการณ์ จากความร่วมมือของเครือข่ายและอาสาสมัครภาคประชาชน
 

 
นอกจากการช่วยป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วมแล้ว มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับเอลนีโญยังสามารถช่วยบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยในช่วงเดือน พ.ค.-พ.ย. 66 สามารถกักเก็บน้ำรวมได้กว่า 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งปีนี้ ให้สามารถมีน้ำใช้อย่างเพียงพอได้อย่างแน่นอน

“สทนช. ได้จัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำและมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน ปี 2566 ในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาในฤดูฝนถัดไป อันเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ให้สอดรับกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา และสภาวะโลกร้อน สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.พ. 2567 เวลา : 18:18:38
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 11:44 pm