เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai COMPASS เผยภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ชี้ 4 ปัจจัยหลักแรงขับเคลื่อนสำคัญ กระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดปี


 
ภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตขึ้นจาก 28.2 ล้านคน ในปี 2566 มาเป็น 34.0 และ 38.5 ล้านคน ในปี 2567-2568 ตามลำดับ คิดเป็นการฟื้นตัว 85% และ 96% ของปี 2562 สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยราว 1.62 และ 1.92 ล้านล้านบาท ตามลำดับ
 
4 ปัจจัยหลัก ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1) ความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง 2) การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ที่มีโอกาสเติบโตขึ้นจาก 3.5 ล้านคน ในปี 2566 เป็น 7.0 และ 9.6 ล้านคน ในปี 2567-2568 ตามลำดับ 3) การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น และ 4) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง
 
ภาคการท่องเที่ยวไทยควร 1) กระตุ้นให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เพื่ออุดช่องว่างช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว 2) จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาเที่ยวไทยซ้ำ เพื่อช่วยเร่งให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น 3) ยกระดับความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีโดยเฉพาะในสายตาของนักท่องเที่ยวจีนที่ยังมีความกังวลในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างสูง  

บทสรุปภาคการท่องเที่ยวปี 2566:ฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด แต่รายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าเป้าหมาย
 
ภาคการท่องเที่ยวไทยปี 2566 ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 28.2 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยกว่า 249 ล้านคน  สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยรวม 2.17 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย กลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 เติบโตขึ้นกว่า 154%YoY ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเติบโตราว 22%YoY อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่ 39.9 ล้านคน โดยคิดเป็นอัตราการฟื้นตัวราว 71% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยแม้จะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว แต่มีข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายต่อคนยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 27% ส่งผลให้รายได้โดยรวมจากการท่องเที่ยวในปี 2566 ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ ททท. วางไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ราว 8.7%
 
 
 
มาเลเซียเที่ยวไทยมากที่สุด ขณะที่ นักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวช้า
 
ในปี 2566 ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีจำนวนมากที่สุดถึง 4.6 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน ยังฟื้นตัวได้เพียง 32% โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียมีอัตราการฟื้นตัวราว 108% ซึ่งกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนก็มีระดับการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี เช่น เวียดนาม (96%) สิงคโปร์ (89%) ในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนแม้จะมีจำนวนสูงสุดเป็นอับดับ 2 ที่ 3.5 ล้านคน แต่ยังฟื้นตัวได้เพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เคยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 11.1 ล้านคน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ขยายตัวได้ต่ำลง รวมถึงวิกฤตจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวจีน ขณะที่รัฐบาลจีนได้มีการกระตุ้นให้คนจีนท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
 
 
 
อัตราเข้าพักและราคาห้องพักปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายต่อคนยังน้อยกว่าปี 2562
 
ในปี 2566 อัตราการเข้าพักของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ 69.3% กลับมาใกล้เคียงปี 2562 แล้ว ขณะที่ราคาห้องพักที่ขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,488บาทต่อห้อง คิดเป็นการฟื้นตัวราว 86% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในทิศทางเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายต่อคนโดยรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปี 2562 อยู่ราว 2.5% ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยแม้จำนวนจะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว แต่การใช้จ่ายต่อคนยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 กว่า 27% โดยปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่46,713 บาท ยังต่ำกว่าปี 2562 อยู่เล็กน้อย เนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหลักในปี 2566 ยังเป็นกลุ่มอาเซียนที่มีการใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนในปี 2566 อยู่ที่ 3,448 บาท ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 4,724 บาท ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า จากราคาห้องพักที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลง อาจมาจากค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าซื้อสินค้า เป็นต้น
 
 
 
ทิศทางการท่องเที่ยวไทย ในช่วง 1-2 ปีนี้ จะเป็นอย่างไร?
 
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2567 ภาคการท่องเที่ยวไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 34 ล้านคน หรือฟื้นตัวราว 85% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) โดยนักท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มอาเซียน อินเดีย รัสเซีย รวมถึงกลุ่มยุโรป จะฟื้นตัวได้ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักจะยังฟื้นตัวได้ราว 63% เมื่อเทียบปี 2562 จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่คาดว่ายังเติบโตได้ค่อนข้างช้า และยังถูกซ้ำเติมจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อและการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยคาดว่าจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่คนไทยสามารถปรับตัวอยู่กับโควิด-19 ได้แล้ว ทำให้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวทั้งปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวราว 84% เมื่อเทียบกับปี 2562
 
 
ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงระดับปกติ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 38.5 ล้านคน ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมจะขยายตัวขึ้นมาแตะที่ระดับ 3.2 ล้านคนต่อเดือน รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2568 จะฟื้นตัวได้ราว 87% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ไม่รวมจีน) จะกลับมาเท่าระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ทางด้านจำนวนนักท่องเที่ยวไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องราว 2-3%YoY จากสถานการณ์โดยรวมที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 2.92 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวได้ราว 98% เมื่อเทียบกับปี 2562
 
เปิด 4 ปัจจัยหนุนนักท่องเที่ยวหวังกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19
 
Krungthai COMPASS ประเมิน 4 ปัจจัยหนุนหลัก ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ได้แก่

ประการที่ 1: ความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาได้ค่อนข้างเร็วจนปัจจุบันเริ่มใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว โดยข้อมูลล่าสุดขององค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ชี้ให้เห็นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2566 ฟื้นตัวได้ราว 90% เมื่อเทียบกับปี 2562  และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการของนักท่องเที่ยวหลายประเทศทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ที่ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2567-2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกลุ่มประเทศ Asia Pacific หรือ APAC จะขยายตัวขึ้นมาแตะที่ระดับ 728 และ 788 ล้านคน ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ราว 6-15% 
 
ขณะเดียวกันข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ยังชี้ว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ จากการจัดอันดับภาพรวมประเทศที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566 โดย U.S. News & World Report พบว่า ไทยติดอันดับที่ 29 จาก 87 ประเทศ และอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย นอกจากนี้ ยังระบุถึงไทยว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากที่สุดในโลก เนื่องจากไทยมีจุดเด่นด้านวัฒนธรรม และชายหาดที่สวยงาม
 
 
ประการที่ 2: การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจีนยังเป็นความหวังสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการวีซ่า-ฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนเป็นการถาวร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากที่มีข่าวเผยแพร่ออกไป ส่งผลให้ยอดค้นหาคำว่า “ประเทศไทย” บนแพลตฟอร์มของซีทริป กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการเดินทางท่องเที่ยวรายใหญ่ของจีน เพิ่มขึ้นกว่า 90% ขณะที่ยอดค้นหาเที่ยวบินเส้นทางเซี่ยงไฮ้-กรุงเทพฯ และปักกิ่ง-กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นกว่า 40% 
 
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน Top Destination ของนักท่องเที่ยวจีนอีกด้วย โดยจากผลการสำรวจ ณ ก.ย. 2566 ของ Dragon Trail International บริษัท Agency ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดสำหรับการท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีน พบว่า หากไม่นับรวม ฮ่องกง มาเก๊า ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Greater China นักท่องเที่ยวจีนยังคงสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น
 
อย่างไรก็ดี เป็นข้อสังเกตว่าแม้คนจีนจะมีแนวโน้มเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น แต่การฟื้นตัวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ค่อนข้างมาก เนื่องจากยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ชะลอตัว และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ ขณะที่ชาวจีนบางส่วนยังมีความกังวลจากข่าวเชิงลบ โดยเฉพาะประเด็นความไม่ปลอดภัย ทำให้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปจาก 3.5 ล้านคน ในปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 7.0 ล้านคน และ 9.6 ล้านคน ในปี 2567-2568 หรือฟื้นตัวราว 63-87% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2562
 
 
ประการที่ 3: อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มฟื้นตัวเพียงพอที่จะรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเติบโตขึ้นในปี 2567-2568 โดยสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าในปี 2567 ปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศและในประเทศของไทยจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 สอดรับกับข้อมูลของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่ประเมินว่า จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 120-130 ล้านคน ซึ่งกลับไปอยู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว อีกทั้งในเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา AOT ได้มีการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารมากขึ้นถึง 33% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนเที่ยวบินโดยรวมในปี 2567-2568 จะฟื้นตัวได้ราว 90-101% เมื่อเทียบกับปี 2562 
 
 
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีโอกาสได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากนโยบายเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน (ภายใน 1 ปี) ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะเร่งจัดสรรเวลาการบิน (Slot) เพิ่มขึ้น 15% ต่อสัปดาห์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานในระยะกลาง (1-3 ปี) เช่น การสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก (East Expansion) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีก 15 ล้านคนต่อปี 
 
ส่วนแผนงานในระยะยาว (5-7 ปี) อย่างการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ เช่น การก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (ล้านนา) และท่าอากาศยานพังงา หรือภูเก็ตแห่งที่ 2 (อันดามัน) คาดว่าจะส่งเสริมให้ไทยมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 50 ล้านคนต่อปี
 
 
ประการที่ 4: มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีการออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa Free) สำหรับชาวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาไทยมากขึ้น รวมทั้งมาตรการขยายระยะเวลายกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวรัสเซียสามารถพำนักในไทยได้สูงสุดจากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน อีกทั้งยังมีมาตรการขยายเวลาให้บริการของสถานประกอบการได้ถึงตี 4 ในเขตพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยนานขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจพิจารณานโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศคู่แข่งที่น่าสนใจ อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยเพิ่มเติม โดยเรามองว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ จากภาครัฐ จะมีส่วนช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2567-2568 
 
 
แล้วจังหวัดไหนจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะข้างหน้า?
 
Krungthai COMPASS ประเมินว่าจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมในภาคใต้ เช่น ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2567-2568 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มทัวร์จีน ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมาจังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าจังหวัดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยสาเหตุหลักเกิดจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวในปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยตนเองเกือบทั้งหมด ขณะที่กลุ่มกรุ๊ปทัวร์จีนที่เคยเป็นตลาดหลักยังกลับมาค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ในปี 2567-2568 คาดว่า บริษัทนำเที่ยวในจีนจะกลับมาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายวีซ่า-ฟรี ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 รวมถึงเส้นทางการบินระหว่างไทย-จีน ที่จะทยอยเปิดใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566-25678  ส่งผลให้จังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ที่เคยได้รับความนิยมจากกลุ่มกรุ๊ปทัวร์จีน จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
 
 
Implication
 
3 ข้อเสนอแนะสำหรับนโยบายของภาคการท่องเที่ยวไทย
 
หากมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีปัจจัยที่ท้าทายอีกหลายประการ อาทิ จำนวนและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ซี่งเป็นโจทย์สำคัญและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใน Ecosystem โดย Krungthai COMPASS มองว่า 3 แนวคิดหลัก ที่ช่วยให้ไทยก้าวข้ามความท้าทาย และช่วยขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวไทย ได้แก่
 
1) กระตุ้นให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เพื่ออุดช่องว่างช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว โดยในช่วง Low season ควรมีการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวที่มีความแตกต่างจากในช่วงเวลาปกติ อาทิ การโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวตามเทศกาลสำคัญของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วง Low Season เช่น กลุ่ม Workation ที่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี พร้อมทั้งผลักดัน Soft Power ของไทยให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เช่น ซีรีย์จากเกาหลีใต้ เรื่อง "King the Land“ ที่เข้ามาถ่ายทำในไทย และทำให้สถานที่ท่องเที่ยวของไทย เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
 
2) จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาเที่ยวไทยซ้ำ โดยผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลก (Visa Global Travel Intentions Study 2023)  ซึ่งจัดทำโดย VISA ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก พบว่า แม้นักท่องเที่ยวมาเลเซีย และสิงคโปร์ กว่า 40% มีแนวโน้มจะกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้งในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่นักท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม ส่วนใหญ่ยังไม่สนใจกลับมาเที่ยวไทยซ้ำ โดยมีเพียง 1 ใน 4 ที่ระบุว่ามีแนวโน้มกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Dragon Trail International ที่ชี้ว่า นักท่องเที่ยวจีนเพียง 17% เท่านั้น ที่มีแนวโน้มเดินทางมาเที่ยวไทยมากกว่า 1 ครั้ง ซึ่ง Krungthai COMPASS มองว่า หากไทยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาเที่ยวซ้ำ โดยอาจนำจุดเด่นด้านกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย มาสร้างแลนด์มาร์คใหม่ ๆ ในจังหวัดเมืองรอง ก็จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีการกระจายรายได้ที่ทั่วถึงมากขึ้น และยังช่วยลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวหลักลงได้ นอกจากนี้ ภาครัฐอาจมีมาตรการจูงใจโดยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยมากกว่า 1 ครั้ง จะช่วยเร่งให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
 
3) ยกระดับความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาพลักษณ์เรื่องความปลอดภัยของประเทศไทย ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของการท่องเที่ยวไทย สะท้อนจากข้อมูลล่าสุดจาก The Travel & Tourism Competitiveness Report 2021, World Economic Forum ที่ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีด้านความปลอดภัยของไทยล่าสุดปรับแย่ลงจากอันดับที่ 88 เป็น 92 จาก 117 ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Dragon Trail International ที่ชี้ว่า สัดส่วนของชาวจีนที่มีความกังวลในการเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นจาก 28% ในปี 2565 เป็น 51% ในปี 2566 ซึ่งมีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ดังนั้น การวางมาตรการและสร้างระบบด้านความปลอดภัย เช่น ตั้งศูนย์ดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ระบบแจ้งเตือน Emergency Alert รวมถึงจัดทำคอนเทนต์นำเสนอผ่าน Social Media เพื่อสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น 
 
ธนา ตุลยกิจวัตร
วีระยา ทองเสือ
Krungthai COMPASS
 

บันทึกโดย : วันที่ : 19 ก.พ. 2567 เวลา : 12:10:37
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 5:11 am