การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติขนาด 40 เมตร พร้อมเชื่อมต่อเครือข่าย กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งสหภาพยุโรป เสริมศักยภาพงานวิจัย ไขปริศนาเอกภพ


 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาด 40 เมตร พร้อมเข้าร่วมเครือข่ายนานาชาติ ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลแห่งสหภาพยุโรป หรือ Joint Institute for VLBI (very-long-baseline-interferometry) European Research Infrastructure Consortium: JIVE ขยายขีดความสามารถและศักยภาพให้ทำงานร่วมกันเสมือนเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ ข้ามทวีป เพื่อศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ ช่วยขอบเขตความเข้าใจในธรรมชาติของวัตถุต่าง ๆ ในเอกภพ เช่น หลุมดำ ดาวนิวตรอน สสารมืด ฯลฯ ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
 

 
9 มกราคม 2567 - เชียงใหม่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร. Agnieszka S?owikowska ผู้อำนวยการภาคีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแทรกสอดระยะไกลแห่งสหภาพยุโรป ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านดาราศาสตร์วิทยุ ต่ออายุความร่วมมือเดิมที่เคยลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 การลงนามครั้งนี้ นอกจากเป้าหมายหลักเพื่อการวิจัย และการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุแล้ว ยังมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านดาราศาสตร์วิทยุที่เกี่ยวข้อง และเนื่องด้วยปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดรับข้อเสนอด้านงานวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลและทดสอบระบบรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ แล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงพร้อมเข้าร่วมเครือข่าย VLBI ของสหภาพยุโรปเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ร่วมกันในอนาคต การลงนามความร่วมมือดังกล่าวจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
 

 
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ดาราศาสตร์วิทยุ เป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง เนื่องจากศึกษาได้หลายช่วงคลื่น เพื่อทำความเข้าใจเอกภพ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ติดตั้งอยู่ภาคพื้นดินบนโลก ข้อดีคือสามารถสังเกตการณ์ได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถโดยให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่กระจายอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ทั่วโลกทำงานร่วมกัน เสมือนเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับระยะห่างระหว่างกล้องโทรทรรศน์ เรียกว่า เทคนิคแทรกสอดระยะไกล (very-long-baseline-interferometry หรือ VLBI) ซึ่งจะช่วยให้การเก็บข้อมูลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 
การลงนามในครั้งนี้ ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (Thai National Radio Asronomical Observatory: TNRO) ของไทย และ กลุ่มเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุยุโรป (The European VLBI Network: EVN) อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อนำมาสู่การค้นพบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ร่วมกันอีกมากมายในอนาคต

 
ดร. Agnieszka S?owikowska ผู้อำนวยการ JIVE กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กลับมาเยือนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติอีกครั้ง หลังจากที่เคยมาเยือนครั้งแรกเมื่อปี 2556 การกลับมาครั้งนี้ได้เห็นถึงพัฒนาการด้านดาราศาสตร์ของไทยที่ก้าวหน้าและพัฒนาไปมาก เช่น การมีหอดูดาวแห่งชาติ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาด 2.4 เมตร บนดอยอินทนนท์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างหอสังเกตการณ์ ดาราศาสตร์วิทยุ ขนาด 40 เมตร เพื่อศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ และยีออเดซี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามในครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่าง TNRO และ EVN ในอนาคต

 
โอกาสนี้ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมหอสังเกตุการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และกล้องโทรทรรศน์วิทุแบบวีกอส ขนาด 13 เมตร ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ. ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชมอุปกรณ์รับสัญญาณย่านความถี่ต่าง ๆ ซึ่ง NARIT ร่วมมือกับหน่วยงานดาราศาสตร์วิทยุชั้นนำของโลก พัฒนา ออกแบบและผลิตขึ้น รวมถึงเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ อาทิ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมระบบควบคุมดาวเทียม และนำร่อง ห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก จากนั้นเดินทางไปหอดูดาวแห่งชาติ บริเวณกิโลเมตรที่ 44.4 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เพื่อชมเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาด 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การออกแบบ พัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์วิจัย และห้องควบคุมการทำงานกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งระบบควบคุมล่าสุด NARIT ออกแบบและพัฒนาขึ้นเองอีกด้วย

 
 
โอกาสนี้ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมหอสังเกตุการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และกล้องโทรทรรศน์วิทุแบบวีกอส ขนาด 13 เมตร ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ. ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชมอุปกรณ์รับสัญญาณย่านความถี่ต่าง ๆ ซึ่ง NARIT ร่วมมือกับหน่วยงานดาราศาสตร์วิทยุชั้นนำของโลก พัฒนา ออกแบบและผลิตขึ้น รวมถึงเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ อาทิ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมระบบควบคุมดาวเทียม และนำร่อง ห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก จากนั้นเดินทางไปหอดูดาวแห่งชาติ บริเวณกิโลเมตรที่ 44.4 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เพื่อชมเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาด 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การออกแบบ พัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์วิจัย และห้องควบคุมการทำงานกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งระบบควบคุมล่าสุด NARIT ออกแบบและพัฒนาขึ้นเองอีกด้วย
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.พ. 2567 เวลา : 19:02:59
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 4:59 am