การค้า-อุตสาหกรรม
'ไทย - สวิตเซอร์แลนด์' หารือเร่งรัดเจรจา FTA ไทย - EFTA ให้สรุปผลโดยเร็วในปีนี้


‘ไทย-สวิตเซอร์แลนด์’ หารือเร่งรัดการเจรจา FTA ไทย-EFTA ยินดีที่มีความคืบหน้า และใกล้สรุปผลภายในปีนี้ มั่นใจ! ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนการยกระดับมาตรฐานสู่สากล หากสำเร็จ จะเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับยุโรป สบช่องชวนสวิตเซอร์แลนด์และสมาชิก EFTA เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ EFTA มีความเชี่ยวชาญ

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งที่ 13 (MC13) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้พบหารืออย่างไม่เป็นทางการกับนางเฮเลเนอร์ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา ปลัดกระทรวงกิจการเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีสวิตเซอร์แลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจา FTA ระหว่างไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association-EFTA) ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และยินดีที่การเจรจามีความคืบหน้าที่ดี และคาดว่าใกล้จะสรุปผลได้ภายในปี 2567 รวมทั้งถือเป็นโอกาสดีที่ได้หารือแนวทางกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

 
นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ได้ขอบคุณสวิตเซอร์แลนด์ที่ให้การสนับสนุน และมีความร่วมมืออย่างดีในการเจรจา FTA ระหว่างไทย–EFTA มาโดยตลอด และคาดหวังว่าสวิตเซอร์แลนด์จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสรุปผลได้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งไทยและสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศสมาชิก EFTA ในการเพิ่มพูนและสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสู่สากล ทั้งนี้ หากสรุปผลได้ จะเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป และจะเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง โดยเฉพาะการที่มีหลักการเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะคำนึงถึงมาตรฐานแรงงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม
 

 
นอกจากนี้ ไทยและสวิตเซอร์แลนด์ มีความร่วมมือที่ดีและใกล้ชิดกันในหลายด้าน อาทิ การลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างขับเคลื่อนนโยบายที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ จึงเชิญชวนให้สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งประเทศสมาชิก EFTA เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ EFTA มีความเชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีเสถียรภาพ ซึ่งนักลงทุนจากสวิตเซอร์แลนด์ สามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2566 สวิตเซอร์แลนด์ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทย โดยการค้าระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่า 8,946.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 3,970.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 4,975.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าระหว่างไทยและEFTA มีมูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเครื่องประดับอัญมณี

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในปี 2566 นักลงทุนจากประเทศสมาชิก EFTA เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับที่ 14 จากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมด จำนวน 20 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 2,962 ล้านบาท โดยสวิตเซอร์แลนด์เสนอขอรับการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศสมาชิก EFTA และเป็นอันดับที่ 15 จากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมด จำนวน 9 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 1,738 ล้านบาท

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มี.ค. 2567 เวลา : 19:39:31
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 7:18 pm