การค้า-อุตสาหกรรม
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการชุมชน 3 กลุ่มธุรกิจ แปรรูปอาหารทะเล สมุนไพร และค้าส่งค้าปลีก เก็บทุกรายละเอียดข้อเสนอแนะ..นำมาวางแผนส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใต้


 

อธิบดีอรมน พบปะผู้ประกอบการชุมชน จ.ปัตตานี 3 กลุ่มธุรกิจ : แปรรูปอาหารทะเล สมุนไพร และค้าส่งค้าปลีก เก็บรายละเอียดทุกข้อเสนอแนะ..นำมาจัดทำแผนพัฒนาผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใต้ ช่วยขยายตลาด ขจัดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้นำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและประชากรในชุมชน หลังลงพื้นที่กล่าวชื่นชมภาคธุรกิจในจังหวัดมีความแข็งแกร่งแสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของคนในพื้นที่ที่พร้อมเชิญชวนให้เข้ามาลงทุน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งศักยภาพของผู้คนในชุมชน แหล่งทรัพยากรในพื้นที่ที่สมบูรณ์ ภาคีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน ที่สำคัญ กรมพัฒนาธุรกิจฯ ลดอัตราค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจลง 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ดึงดูดนักธุรกิจให้เข้าลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว
 
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ภารกิจสำคัญของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) คือ การลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เพื่อเข้าถึงความต้องการของภาคธุรกิจแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ส่งผลถึงรูปแบบและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอย่างตรงจุด ช่วยขยายช่องทางการตลาดให้หลากหลาย ขจัดปัญหาอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รวมทั้ง สร้างความสมดุลธุรกิจผ่านการจ้างงานคนในพื้นที่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดการหมุนเวียน สร้างความเข้มแข็งธุรกิจท้องถิ่นระยะยาว
 
 
โดยระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการชายแดนใต้ เช่น กิจกรรมลงนามความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กิจกรรมการเจรจาธุรกิจระหว่างเทรดเดอร์/บายเออร์จากส่วนกลางกับผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ประกอบการชุนชน จ.พัทลุง และ จ.สงขลา รวมทั้ง ได้ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล 1 แห่ง ธุรกิจสมุนไพร 2 แห่ง และธุรกิจค้าส่งค้าปลีก 1 แห่ง เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมสร้างความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนรับฟังปัญหา/อุปสรรค ข้อเสนอแนะด้านต่างๆ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ
 
 
สาเหตุที่เลือก 3 กลุ่มธุรกิจข้างต้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่ในการส่งเสริมสนับสนุนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นธุรกิจเป้าหมายที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสามารถจ้างงานคนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในธุรกิจได้ ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ อีกทั้ง เป็นธุรกิจที่ศักยภาพสูงสามารถพัฒนาให้เป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง
 
 
ธุรกิจแรกที่ตรวจเยี่ยม คือ บริษัท มาเรียโอเชี่ยน จำกัด เป็นธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ตั้งอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง โดย บจ.มาเรียโอเชี่ยนช่วยให้กลุ่มชาวประมงในพื้นที่สามารถขายวัตถุดิบได้ในราคาที่สูงขึ้น เน้นการจ้างงานคนในพื้นที่เป็นหลัก ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้คนในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองภายใต้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ปัจจุบัน มาเรียโอเชี่ยนส่งอาหารทะเลแปรรูปไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยนำผลกำไรที่ได้ส่วนหนึ่งกลับมาพัฒนาชุมชนและคนในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการประกอบธุรกิจจะเน้นผลลัพธ์ให้เกิดแก่ชุมชน 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บจ.มาเรียโอเชี่ยนเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก จ.ปัตตานี และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มาอย่างต่อเนื่อง
 
 
 
ธุรกิจที่ 2 ธุรกิจสมุนไพร คือ 2.1 เครือข่ายปลูกสมุนไพรลังกาสุกะ ตั้งอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง โดยสมุนไพรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ลังกาสุกะ ได้รับการพัฒนาให้เป็น ‘ลังกาสุกะโมเดล’ ที่เข้ามามีบทบาทพัฒนาด้านสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2551 โดยนำหลักแพทย์แผนไทยมาใช้ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและยาสมุนไพรในราคาไม่แพง รวมถึงช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพแก่คนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายอย่างแนบแน่น ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ในอนาคตจะมีการพัฒนายาสมุนไพรให้เป็นสินค้า ‘พรีเมียม โปรดักส์’ นำไปสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาทางสังคม และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนอย่างยั่งยืน 2.2 บริษัท ศยาสมุนไพร จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองปัตตานี เป็นนิติบุคคลที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์ ‘ศยาสมุนไพร’ ปัจจุบันจะผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกาย เช่น โรลออน แชมพู สบู่ โลชั่น ยาดม น้ำมันเหลือง น้ำมันนวด และน้ำมันมะพร้าว นอกจากนี้ ยังรับสร้างแบรนด์ให้กับลูกค้าที่ต้องการเริ่มต้นหรือต่อยอดธุรกิจ โดยจะเข้าไปช่วยผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อ.ย. มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) OTOP (โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย) เครื่องหมายฮาลาล และได้รับรางวัล OTOP 4 ดาว ประจำปี พ.ศ.2562 (สำหรับแชมพู สมุนไพรและโรลออนศยา) ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า ศยาสมุนไพรเป็นแบรนด์คุณภาพ ลูกค้าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพได้อย่างปลอดภัย
 
 
ธุรกิจที่ 3 ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก คือ บริษัท ภรณ์นิเวศน์ ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ตั้งอยู่ อ.เมืองปัตตานี เป็นธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่มานานกว่า 37 ปี ปัจจุบันมีสัดส่วน คือ ธุรกิจค้าส่ง 40% และ ค้าปลีก 60% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เน้นขายสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน ราคาประหยัด โดยมีการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดประชาชนเข้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า การบริหารจัดการธุรกิจจะให้ความสำคัญต่อลูกค้าเป็นลำดับแรก และเปิดโอกาสให้พนักงานภายในร้านมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ พนักงานถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้แผนกลยุทธถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้องค์กรบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายร้านค้าปลีกประมาณ 50 ร้านค้า และคอยให้คำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการให้แก่ร้านค้าปลีกที่เป็นสมาชิกด้วย บริษัท ภรณ์นิเวศน์ ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อปี 2559 และให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับกรมฯ มาอย่างต่อเนื่อง
 
 
หลังจากที่ได้รับฟัง พูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว กรมฯ จะเร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค ความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจแต่ละพื้นที่อย่างครบวงจร โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและประชากรในชุมชน ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า ‘ธุรกิจท้องถิ่น’ เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในพื้นที่ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง
 
 
ทั้งนี้ ขอชื่นชมภาคธุรกิจในจังหวัดที่มีการประกอบธุรกิจด้วยความแข็งแกร่ง โดยสิ่งที่สัมผัสได้จากผู้ประกอบการในพื้นที่ คือ พลังความร่วมมือของคนในพื้นที่ที่ต้องการให้จ.ปัตตานี มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ จ.ปัตตานีเติบโตได้อย่างยั่งยืน
 
ขอเชิญชวนนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุนใน จ.ปัตตานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งศักยภาพของผู้คนในชุมชน แหล่งทรัพยากรในพื้นที่ที่สมบูรณ์ ภาคีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน และที่สำคัญ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจลง 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2569 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ดึงดูดนักธุรกิจให้เข้าลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
 
 
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567) มีนิติบุคคลคงอยู่จำนวนทั้งสิ้น 1,678 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 9,454.66 ล้านบาท ประเภทธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ก่อสร้างทั่วไป 391 ราย ทุน 1,907.10 ล้านบาท 2) การขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านค้าเฉพาะ สถานี ปั๊ม 51 ราย ทุน 290.70 ล้านบาท 3) ธุรกิจจัดนำเที่ยว 51 ราย ทุน 72.55 ล้านบาท 4) ร้านขายปลีกเครื่องประดับ 37 ราย ทุน 564.60 ล้านบาท 5) การติดตั้งไฟฟ้า 32 ราย ทุน 41.00 ล้านบาท และสามารถแบ่งเป็นขนาดธุรกิจได้ ดังนี้ 1) ธุรกิจขนาดเล็ก (S) 1,554 ราย ทุน 5,985.89 ล้านบาท 2) ธุรกิจขนาดกลาง (L) 96 ราบ ทุน 2,352.47 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจขนาดใหญ่ 28 ราย ทุน 1,116.30 ล้านบาท

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มี.ค. 2567 เวลา : 20:01:20
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 11:06 pm