เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ "เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงท้ายสัปดาห์ตามตลาดหุ้นภูมิภาค"


สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

 

 
· เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด หนุนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อเฟดมั่นใจว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ. ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน

เงินบาทมีแรงหนุนเพิ่มเติมตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในระหว่างสัปดาห์

· ในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 มี.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,602 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยเล็กน้อยที่ 198 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 203 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)

· สัปดาห์ถัดไป (11-15 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.15-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ตัวเลขยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (final) ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของอังกฤษ ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ของยูโรโซน และตัวเลขการปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนก.พ.ของจีนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

 
· ตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค รับสัญญาณเฟดอาจใกล้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

หุ้นไทยย่อตัวลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังจบช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/66 ประกอบกับยังไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยเริ่มพลิกมาขยับขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นเข้ามาหนุน หลังจากหุ้นไทยปรับตัวลงติดต่อกัน 7 วันทำการ ก่อนจะดีดตัวขึ้นแรงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดอาจใกล้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้จะไม่ได้ให้กรอบเวลาที่ชัดเจนก็ตาม สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นไทยปรับขึ้นถ้วนหน้าโดยเฉพาะช่วงท้ายสัปดาห์ นำโดย หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ซึ่งคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากทิศทางดอกเบี้ยขาลง รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงาน

ในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,386.42 จุด เพิ่มขึ้น 1.39% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,153.90 ล้านบาท ลดลง 31.43% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.75% มาปิดที่ระดับ 410.15 จุด

· สัปดาห์ถัดไป (11-15 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,355 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ของยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. ของญี่ปุ่น ตลอดจนยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนเดือนก.พ. ของจีน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 มี.ค. 2567 เวลา : 19:57:29
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 4:10 pm