เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ความพร้อมยางพาราไทยภายใต้เกณฑ์ EUDR...หนุนส่งออกไปยุโรปปี 2024 เติบโต 7%"


· เกณฑ์การค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ของสหภาพยุโรป ที่จะบังคับใช้เต็มรูปแบบในปลายปี 2024 ทำให้ยางพาราที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปสัดส่วนสูง จะถูกจับตาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 
· ยางพาราไทยอาจมีโอกาสทางการค้าเพิ่มขึ้นในสหภาพยุโรป จากความพร้อมของไทยที่มีมากกว่าในการปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR เมื่อเทียบกับคู่แข่ง สะท้อนผ่านตัวชี้วัดด้านอุปทานยางพาราแบบยั่งยืน

 
กระแสการตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มีบทบาทมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเด็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการปลูกยางพารามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อพื้นที่ปลูกในระดับต้นๆ เมื่อเทียบกับพืชเกษตรอื่น และไทยมีการส่งออกยางพาราไปยังสหภาพยุโรปที่มีความเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมในสัดส่วนสูง (รูปที่ 1) ทั้งนี้ การปลูกยางพารามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช การเตรียมพื้นที่ปลูกจากการใช้น้ำมันในรถแทรกเตอร์ เป็นต้น แต่ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจก ซึ่งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาให้สามารถดำเนินการออกเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยได้ ขณะที่ไทยมีการส่งออกยางพาราไปสหภาพยุโรปสูงถึงร้อยละ 12 ของมูลค่าส่งออกยางพาราทั้งหมดของไทย

นอกจากประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว สหภาพยุโรปได้มีการออกกฎหมายการค้าด้านสิ่งแวดล้อมแบบภาคบังคับ มาใช้เป็นมาตรฐานด้านความยั่งยืนในการรับซื้อสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างเต็มรูปแบบในปลายปี 2024 ครอบคลุม 7 รายการ ซึ่งมียางพารารวมอยู่ด้วย (รูปที่ 2) โดยหากผู้ประกอบการไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่บังคับ ก็จะไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปขายยังสหภาพยุโรปได้ นับเป็นปัจจัยเร่งด่วนที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายจะส่งออกไปยังสหภาพยุโรปต้องรีบปรับตัว

 
ขณะที่มาตรฐานความยั่งยืนภาคสมัครใจ ส่วนใหญ่มักใช้เป็นเกณฑ์การค้าด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรแถบเอเชีย โดยจะเน้นไปที่มาตรฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การวางแผนการใช้ที่ดิน เป็นต้น ซึ่งยังไม่มีความเร่งด่วนที่จะกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตร แต่หากธุรกิจดำเนินการ ก็จะเป็นแต้มต่อได้เช่นกัน

ไทยมีโอกาสส่งออกยางพาราไปสหภาพยุโรปมากขึ้นภายใต้กฎหมาย EUDR เนื่องจากความสามารถในการปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR ที่มีความก้าวหน้ามากกว่าคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย สะท้อนผ่าน ตัวชี้วัดด้านอุปทานยางพาราแบบยั่งยืน (รูปที่ 3) โดยเฉพาะตัวชี้วัดพื้นที่บุกรุกทำลายป่าที่ไทยมีเพียง 0.4 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าอินโดนีเซียที่ 6 ล้านไร่ และมาเลเซียที่ 1.9 ล้านไร่ ขณะที่สหภาพยุโรปเองก็มีความต้องการยางพาราจากไทยเพิ่มขึ้น (รูปที่ 4) เพื่อนำไปผลิตเป็นยางล้อรถยนต์ โดยคาดว่าในปี 2024 ยอดขายรถยนต์ใหม่ในสหภาพยุโรปจะทยอยฟื้นตัว ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปีก่อน (ข้อมูลจาก ACEA As of February 2024)

 
ภายใต้ภาวะการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2024 ไทยอาจมีมูลค่าส่งออกยางพาราไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เทียบกับปีก่อน จาก 419 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 448 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รูปที่ 5) โดยเป็นการเติบโตทั้งด้านปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 มี.ค. 2567 เวลา : 20:38:12
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 12:37 pm