การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ภาคีเครือข่ายสุขอโศก (SOOK ASOK) จับมือกรุงเทพมหานคร ร่วมพัฒนาพื้นที่ย่านอโศก เนรมิต 4 สุข มุ่งสู่ย่านน่าอยู่


 
ภาคีเครือข่ายสุขอโศก (SOOK ASOK) โดยความร่วมมือขององค์กรภาคการศึกษาและภาคธุรกิจย่านถนนอโศกมนตรี ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ย่านอโศกสู่การเป็นย่านน่าอยู่ และนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาคมชาวอโศก ผ่านการดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ 4 สุข คือ สุขสัญจร สุขวิถี สุขสิ่งแวดล้อม และสุขกิจกรรม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โครงการสุขอโศก (SOOK ASOK) ริเริ่มจากการรวมตัวขององค์กรที่อยู่ในพื้นที่ย่านอโศก โดยมีภาคี  ตั้งต้น คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน, บริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด, บริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่อโศกที่เป็นย่านธุรกิจสำคัญ (Financial District) ของกรุงเทพมหานคร 

 
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU ของภาคีเครือข่ายสุขอโศก (SOOK ASOK) ในครั้งนี้ เพราะการพัฒนาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ที่จะมาดำเนินการร่วมกัน ไม่ใช่ด้วยเพียงการกำหนดของกฎหมาย แต่ด้วย Social Contract หรือความรู้สึกผูกพันอยากตอบแทนส่วนต่าง ๆ ของชุมชนที่ตัวเองอยู่ ยิ่งกว่านั้น เมื่อความร่วมมือดังกล่าวประกอบครบไปด้วยแรงจาก 4 ภาคส่วนสำคัญของสังคม คือภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคม เหมือนเชือกที่ฟั่นเข้าด้วยกัน อย่างที่เรียกว่านวัตกรรมเชือกสี่เกลียว (Quadruple Helix Innovation) ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมจะแข็งแรงเป็นรูปธรรมกว่าเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งจะทำได้ และโมเดลนี้ก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าประสบความสำเร็จในพื้นที่อื่น ๆ ที่ กทม. ได้ทำงานร่วมกันกับเอกชนและประชาสังคม ไม่ว่า ถนนสีลม คลองโอ่งอ่าง สะพานเหล็ก หรือถนนสารสิน ด้วยเหตุนี้ ถนนอโศก ที่มี มศว เป็นสถาบันการศึกษาแกนหลักของชุมชนที่เข้มแข็ง และได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคธุรกิจหลากหลายที่มาร่วมลงนามในวันนี้ อีกทั้งมีภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์และความชำนาญเข้าร่วมดูแล ย่อมน่าจะเป็นอีกหนึ่งโครงการความสำเร็จ ที่ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ ภาคภูมิใจ อีกทั้งเป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน”

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะแกนนำกลุ่มภาคีเครือข่ายสุขอโศก (SOOK ASOK) รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในภาคีเครือข่ายสุขอโศก และได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการสุขอโศก ซึ่งเป็นการริเริ่มรวมตัวของภาคเอกชนที่ตั้งใจจะทำให้ชุมชนอโศกมีความสุขผ่านการดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่วางไว้ว่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้เพื่อสังคม และยังสอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ต้องการพัฒนาสุขภาวะองค์รวมให้กับนิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไปที่อยู่ในย่านอโศกผ่านการดำเนินโครงการอโศกโมเดล (ASOK MODEL)”

 
ทั้งนี้ โครงการสุขอโศก (SOOK ASOK) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน ตลอดจนศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อม สัมภาษณ์ และประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการสำรวจความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ บนถนนโศกมนตรี อาทิ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้งานในพื้นที่ และผู้อยู่อาศัย จำนวน 555 คน พบว่าปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องที่หนึ่งคือความปลอดภัย ประกอบด้วย ทางเท้า ทางข้าม ไฟส่องสว่าง เรื่องที่สองคือ เรื่องกายภาพ เช่น คุณภาพของทางเดิน สิ่งอำนวยความสะดวกและความกว้าง และสุดท้ายคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพอากาศ เสียง ความสะอาดจากร้านค้า และขยะ จากผลสำรวจทำให้โครงการสุขอโศก (SOOK ASOK) ได้มาซึ่งแนวทางในการพัฒนาย่านอโศกโดยมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในย่าน ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ 4 สุข ประกอบด้วย

• สุขสัญจร ปลดล็อคการสัญจรถนน (Through Traffic) ถนนวงแหวนสัญจรสะดวก ขนส่งสาธารณะเชื่อมสู่ย่านต่างๆ 
 
• สุขวิถี เชื่อมต่อการเดินเท้า (Pedestrian-Friendly) ทางเดินสะดวกตลอดทาง เดินเชื่อมย่านปลอดภัย เดินทะลุย่านสะดวกสบาย 
 
• สุขสิ่งแวดล้อม สร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการใช้ชีวิตสาธารณะ (Promote Public-Life) สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเดินในพื้นที่กึ่งสาธารณะที่มีคุณภาพดี ส่งเสริมย่านสีเขียว 
 
• สุขกิจกรรม กระจายกิจกรรมทั่วย่าน (Vibrant District) เปิดพื้นที่หน้าอาคาร ส่งเสริมกิจกรรมหมุนเวียนในย่าน 
 

 
การลงนามความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการสร้างความร่วมมือของประชาคมชาวอโศกจากทุกภาคส่วน และจะนำไปสู่การขยายเครือข่ายความร่วมมือต่อไปในอนาคต เพื่อร่วมกันพัฒนาย่านอโศกให้เป็นพื้นที่เมืองน่าอยู่ ตลอดจนเป็นย่านต้นแบบแห่งความสุขของชาวกรุงเทพฯ 
 

LastUpdate 03/04/2567 19:39:27 โดย : Admin
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 8:25 am