เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ECB ส่งสัญญาณยุติ APP สิ้นปีนี้ อีไอซีคาดการขึ้นดอกเบี้ยเริ่มช่วงครึ่งหลังปี 2019


ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน พร้อมทั้งส่งสัญญาณยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร(Asset Purchase Programme: APP) ตามที่ตลาดคาดในการประชุมวันที่14 มิถุนายน 2018 มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย

 

 

1. ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม 3 เดือน โดยจากเดิม

ที่มาตรการจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2018 เป็นสิ้นสุดในเดือนธันวาคม2018 และ ECB คาดว่าจะไม่มีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะกลางแล้ว

2. ลดขนาดวงเงินที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยจะยังคงวงเงินปริมาณการอัดฉีดต่อเดือนที่ 3 หมื่นล้านยูโร จนถึงเดือนกันยายน 2018 และลดการอัดฉีดปริมาณเงินต่อเดือนลงเหลือ 1.5 

หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2018 จนถึงเดือนธันวาคม 2018

ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์(interest rate on the main refinancing operations) ที่ระดับ 0.00% พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB (the deposit facility) ที่ระดับ -0.40% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (interest rates on the marginal lending facility) ที่ระดับ 0.25% อีกทั้งยังระบุว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูร้อนของปี 2019 (มิถุนายน-กันยายนและจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ECB เห็นว่าเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป

ECB มองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนแข็งแกร่งพอที่จะรองรับการยุติการเข้าซื้อพันธบัตร (APP) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ในการประชุมครั้งนี้ ECB ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.7%, 1.7% และ 1.7% ในปี2018, 2019 และ 2020 ตามลำดับ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.4%, 1.4%และ 1.7% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้น เงินยูโรที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และตลาดแรงงานที่เริ่มตึงตัว สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 9 ปีที่ 8.5% ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คาดว่าจะเริ่มเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของ ECB ที่ 2% สนับสนุนให้ ECB ซึ่งเป็นธนาคารกลางที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) มีความเชื่อมั่นมากขึ้นที่จะยุติการเข้าซื้อพันธบัตร (asset purchase program) และเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้นโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ (normalization) นอกจากนี้ ECB ได้มีการปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 2.1%, 1.9% และ 1.7% ในปี 2018, 2019 และ 2020 ตามลำดับ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2.4%, 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ ทั้งนี้ECB ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2018 ลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาชะลอลงในไตรมาสที่ผ่านมา และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่มีท่าทีว่าจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอลง อย่างไรก็ตาม ECB ยังคงประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไปจะยังคงแข็งแกร่งและขยายตัวได้เป็นวงกว้าง (solid and broad-based economic growth)

เงินยูโรอ่อนค่าลงหลังการแถลงนโยบายการเงิน เนื่องจากECB แสดงมุมมองที่ระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายหลังนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ประกาศลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินลง (APP) และตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมต่อไป ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 1.0% อยู่ที่ระดับ 1.173 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร จากระดับ1.185 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร ก่อนการประกาศมาตรการฯ ในขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 10 ปี ปรับลดลง 3.7 bps ลงมาอยู่ที่ 0.439% ทั้งนี้ ตลาดการเงินตอบสนองในทิศทางดังกล่าว เนื่องจากการปรับลดขนาดการเข้าซื้อของมาตรการ APP เป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี การที่ ECB ระบุว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 2019 สะท้อนว่า ECB มีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (dovish stance) โดยนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ECBควรเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ ECB มีเครื่องมือเพียงพอที่จะรองรับวิกฤตเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

 

ค่าเงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ อาจมีความผันผวนสูงในระยะสั้น แต่มีแนวโน้ม

แข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ถึงแม้ ECB จะประกาศหยุดการเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสิ้นปีนี้ แต่การประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 2019 ประกอบกับ dot plot ของ Fed ที่มีการปรับเพิ่มจำนวนครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2018 เป็น 4 ครั้ง ทำให้นักลงทุนยังคงมีมุมมอง (price in) ต่อไปว่า การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าของ ECB จะยังคงผ่อนคลายต่อเนื่องกว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed สะท้อนได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ (forward)ระหว่าง Fed และ ECB ที่กว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ (รูปที่ 1) โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปอีไอซีประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนจะสามารถขยายตัวได้ตามที่ ECB คาด ทำให้ ECBสามารถยุติการเข้าซื้อพันธบัตรและสื่อสารถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ชัดเจนขึ้น ขณะที่ Fed จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง เพราะเริ่มเข้าใกล้ดอกเบี้ยนโยบายระยะยาว (neutral rate) จึงทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ (forward) จะกลับมาแคบลง ค่าเงินยูโรจึงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากในระดับปัจจุบันที่ 1.16 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร สู่ระดับ 1.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร ในช่วงสิ้นปี 2018

จับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ นโยบายกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ในระยะต่อไป แม้ ECB จะประเมินแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้น แต่อีไอซีมองว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ ECB อาจไม่สามารถเร่งออกมาตรการตึงตัวทางการเงินได้ตามที่คาด ประกอบด้วย (1) อัตราเงินเฟ้อที่อาจต่ำกว่าระดับที่ ECB คาด เนื่องจากความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ (2) นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นการขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของยุโรปเป็นจำนวนมาก (3) ความไม่แน่นอนทางการเมืองและแนวโน้มการขาดดุลทางการคลังของอิตาลี ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี และ (4) การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของECB ยังคงมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ สะท้อนจากถ้อยแถลงที่กล่าวว่า ECB จะยังคงดูข้อมูลทางเศรษฐกิจ (subject to incoming data)ประกอบการตัดสินใจในการหยุดการเข้าซื้อพันธบัตร และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นไปอย่างเหมาะสมและยั่งยืน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 มิ.ย. 2561 เวลา : 16:08:28
26-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (26 เม.ย.67) ลบ 2.25 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.02 จุด

2. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,310 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,350 เหรียญ

3. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์

4. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.90-37.15 บาท/ดอลลาร์

5. ทองปิดบวก $4.10 รับดอลล์อ่อน-แรงซื้อลดความเสี่ยง

6. ตลาดหุ้นไทยเปิด (26 เม.ย.67) บวก 0.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.95 จุด

7. ดาวโจนส์ปิดร่วง 375.12 จุดหลัง GDP สหรัฐชะลอตัว - เงินเฟ้อพุ่ง

8. ทองพุ่ง! ราคาทองวันนี้ 26/4/67 ครั้งที่ 1 เพิ่มขึ้น 100 บาท ทองคำแท่งขายออกบาทละ 40,850 บาท

9. ทั่วไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 43 องศาเซลเซียส ฟ้าหลัว ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และลมกระโชกแรงตลอดช่วง

10. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

11. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

12. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

13. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

14. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

15. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:55 pm