หุ้นทอง
'นวัตกรรมเปลี่ยนโลก' ในโครงการ Capital Market Innovation Awards 2018


ในปัจจุบัน ทุกวงการต่างให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเปรียบเสมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 ที่แตกต่างจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคก่อนหน้าอยู่หลายประการ 

- ประการแรก คือ Speed ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก ซึ่งหากพิจารณาจาก Technology Adoption Rate ที่มีการศึกษาพัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในสหรัฐฯ  พบว่า ต้องใช้เวลาถึง 56 ปี ถึงทำให้ครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในสหรัฐฯ ได้มีโอกาสใช้โทรศัพท์บ้าน ขณะที่ Smartphone และ Tablet ใช้เวลาเพียงประมาณ 7  ปีเท่านั้น นอกจากนี้ ในโลกปัจจุบันข้อมูลก็หลั่งไหลเข้ามาอย่างมหาศาลด้วยเวลาอันรวดเร็ว โดยทฤษฎี “Information Explosion” ได้คาดการณ์ปริมาณข้อมูลในโลกช่วงปี 2010 – 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 2 ปี


 

- ประการที่สอง คือ Scope การเปลี่ยนแปลงที่กระจายตัวไปแทบทุกอุตสาหกรรมจากพัฒนาการของคอมพิวเตอร์และกระบวนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น อุปกรณ์เซนเซอร์ที่มีต้นทุนต่ำลง ทำให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราเห็นในปัจจุบันคิดเป็นเพียง 1% ของที่ควรเป็นเท่านั้น ภายในปี 2020 คาดว่าจะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกันถึง 50 ล้านล้านชิ้น ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ เกิดการเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ แนวโน้มการทดแทนคนด้วยหุ่นยนต์นั้นยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่กระจุกตัวในภาคการผลิตก็ขยายไปยังภาคบริการ โดยเฉพาะในธุรกิจที่ไม่ต้องการความคิดสร้างสรรค์และลักษณะงานมีความเป็น Routine สูง เช่น งานธุรการ Call Center บัญชี หรือแม้กระทั่งงานขาย

 

 

- ประการที่สาม คือ Scale บริษัทขนาดเล็กมีโอกาสเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงแทนที่บริษัทขนาดใหญ่ เพราะโลกยุคดิจิทัลนี้ เทคโนโลยีได้ลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันระหว่างบริษัทใหญ่และบริษัทเล็ก ซึ่งนอกจากจะแข่งขันกันด้านต้นทุนแล้วยังแข่งกันด้านความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมอีกด้วย เช่น Facebook Airbnb และ Uber ต่างก็เคยเป็นบริษัทเล็กๆ ที่เริ่มจากผู้ก่อตั้งไม่กี่คนแต่รู้จักใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันจนก่อให้เกิดนวัตกรรมซึ่งเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท รวมไปถึงสร้างการเจริญเติบโตให้เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย 

นวัตกรรมคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาประเทศ

 

Joseph Schumpeter นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐฯ ให้คำจำกัดความของนวัตกรรมไว้ว่า นวัตกรรม หมายถึง แนวคิดหรือเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรกของโลก แต่อาจเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น การค้นพบลูกค้ากลุ่มใหม่  การพัฒนาแหล่งวัตถุดิบให้มีคุณภาพ หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในองค์กร ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมแบบหนึ่งได้ นอกจากนี้ Bill Aulet อาจารย์จาก MIT และเป็น MD ของ Martin Trust Center for MIT Entrepreneurship ยังให้นิยามของคำว่านวัตกรรมที่น่าสนใจว่า นวัตกรรม ต้องประกอบด้วยสองส่วน คือ ประดิษฐกรรม (Invention) และการนำเข้าสู่ตลาด (Commercialization) โดยประดิษฐกรรมจะยังไม่นับว่าเป็นนวัตกรรม หากไม่สามารถทำให้เกิดความต้องการจริงในตลาดได้ ดังนั้น นวัตกรรมต้องถูกนำออกจากหิ้งไปขายในห้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากได้นั่นเอง นวัตกรรมสามารถนำไปสู่การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่  การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ระดับความพร้อมของคนและเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังคงห่างไกลที่จะพัฒนานวัตกรรมในระดับสูงได้อย่างประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นการสร้างทัศนคติเกี่ยวกับนวัตกรรมในเชิงกว้างรวมถึงการนำนวัตกรรมจากที่อื่นมาปรับใช้กับองค์กรตนเองนั้น จะทำให้สามารถนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้จริงกับคนหมู่มากได้ดียิ่งขึ้น

 

การพัฒนานวัตกรรมของไทยอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

 

ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังพยายามหาวิธีก้าวข้ามกับดักความยากจนเพื่อนำไปสู่อนาคตที่สดใส แต่หากพิจารณาตัวเลขการเติบโตของ GDP ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกซึ่งเคยทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งนั้นเริ่มออกอาการติดขัด โดยสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประชากรวัยทำงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมีจำนวนลดลง อีกทั้งผู้ลงทุนต่างประเทศรายใหญ่จำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศข้างเคียงที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทำให้สินค้าในบางอุตสาหกรรมของไทยล้าสมัย 

 

ควรถึงเวลาแล้วหรือไม่? ที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจจากเดิมที่เน้นการแข่งขันด้านต้นทุนมาแข่งขันด้านมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ หรือด้านความคิดสร้างสรรค์แทน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นที่จะต้องจัดสรรทรัพยากรของบริษัทเพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หากสังเกตตัวชี้วัดด้านนวัตกรรมในภาพรวม ไทยยังคงล้าหลังกว่าประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่คิดเป็นเพียง 0.62% ของ GDP เท่านั้น ด้านจำนวนนักวิจัยอยู่ที่ประมาณ 1 พันคนต่อประชากร 1 ล้านคน ต่ำกว่ามาเลเซียถึงหนึ่งเท่าตัว นอกจากนี้ Startup ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือที่รู้จักกันในนามยูนิคอร์นในไทยนั้นกลับยังไม่มีเลย ขณะที่ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม ต่างมี         ยูนิคอร์นเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 1 บริษัท พอจะสรุปได้ว่าขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของไทยในปัจจุบันนั้นยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก อย่างไรก็ดี ยังมีงานศึกษาของธนาคารโลก ที่กล่าวถึงผลการศึกษาที่น่าสนใจว่า แม้ไทยจะมีตัวชี้วัดด้านการลงทุนในนวัตกรรมที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน แต่หากดูจากปริมาณการยื่นขอสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า รวมถึงสัดส่วนของจำนวนสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงต่อจำนวนสินค้าส่งออกทั้งหมด พบว่า ไทยมีประสิทธิภาพจากการใช้นวัตกรรมที่ค่อนข้างสูง โดยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากจีน และมาเลเซีย และสูงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

 

 

 

 

ความท้าทายต่อการพัฒนาด้านนวัตกรรมของไทย

 

ทั้งที่ประสิทธิภาพของนวัตกรรมในไทยนั้นอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง แต่เหตุใดตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงระดับการพัฒนานวัตกรรมของไทยกลับต่ำกว่า มีอุปสรรคด้านใดที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การพัฒนาดังกล่าวติดขัดหรือไม่ก่อนที่เราจะไปตอบคำถามอันแสนท้าทายนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปดูคุณลักษณะร่วมกันของประเทศที่สามารถก้าวเปลี่ยนมาสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้นั้น กุญแจสำคัญมาจากประเทศเหล่านี้ต่างเน้นการลงทุนในการพัฒนาทักษะทรัพยากรบุคคล การทำวิจัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ นวัตกรรมเป็นสิ่งที่สร้างยาก ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง การที่ภาครัฐเข้ามาช่วยกระตุ้นโดยการเสนอสิทธิประโยชน์ที่จูงใจแก่ภาคเอกชนจะช่วยชดเชยความเสี่ยงและทำให้บริษัทต่างๆ มีความกล้าลงทุนในนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เช่น นโยบายการแข่งขันทางการค้า กฎระเบียบที่ใช้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญารวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนานวัตกรรมอีกด้วย ในด้านของประเทศไทยนั้น  มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัจจัยที่อาจเป็นคอขวดต่อการพัฒนานวัตกรรมอยู่หลายประการ3   

 

เช่น ปัญหาเรื่องทักษะแรงงานที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เสียโอกาสในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และไม่สามารถดึงดูดผู้ลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เข้ามาลงทุนในไทยได้ ดังนั้น การปรับทักษะของแรงงาน การดึงดูดการลงทุนและบุคลากรด้านเทคโลยีจากต่างชาติ การเชื่อมโยงระหว่างสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการปฏิรูปกฎระเบียบให้ทันสมัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ท้ายสุดนี้ จากการศึกษาของธนาคารโลก4 พบว่า ประเทศที่มีตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพนั้นยังเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้อีกด้วยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs และ Startup เพราะต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนจำนวนมาก มีทางเลือกในการระดมทุนที่หลากหลายกว่าขณะที่บริษัทขนาดเล็กแม้จะมีไอเดียดีแต่มักมีเงินทุนเพื่อใช้ประกอบกิจการอย่างจำกัด ดังนั้น ตลาดทุนจึงมีหน้าที่ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกด้วยต้นทุนทางการเงินลดลง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต เสริมความมั่นคงให้เศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ต้องการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone”    

 

ปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้จัดโครงการ “Capital Market Innovation Awards 2018” เวทีการประกวดสุดยอดนวัตกรรมครั้งแรกของภาคตลาดทุนไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านนวัตกรรม การคิดสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างประโยชน์ต่อตลาดทุน โดยปิดรับผลงานไปเมื่อ 30 มิ.. ที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถติดตามการประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านเข้ารอบกลั่นกรองในวันที่ 31 .. 2561 และความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่

www.set.or.th/CapitalMarketInnovationAwards

 

ในครั้งหน้า จะนำเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมการเงินการลงทุน หรือ FinTech มาให้ติดตามกัน

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ก.ค. 2561 เวลา : 15:21:03
19-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. พรุ่งนี้ (20 เม.ย.) ราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้น 50 สต./ลิตร ตามมติ กบน. มีผลเที่ยงคืนนี้

2. ตลาดหุ้นปิด (19 เม.ย.67) ลบ 28.94 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,332.08 จุด

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (19 เม.ย.67) ลบ 25.09 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,335.93 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,385 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,425 เหรียญ

5. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.20%

6. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวก 9.60 เหรียญ รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

7. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวกแค่ 22.07 จุด เจ้าหน้าที่เฟดตบเท้าหนุนไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.75-37.05 บาท/ดอลลาร์

9. ตลาดหุ้นไทยเปิด (19 เม.ย.67) ลบ 20.39 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,340.63 จุด

10. ทองเปิดตลาด (19 เม.ย. 67) พุ่งขึ้น 550 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 42,500 บาท

11. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์

12. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราษฎร์บูรณะ

13. ตลาดหุ้นปิด (18 เม.ย.67) ลบ 5.92 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.02 จุด

14. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (18 เม.ย.67) บวก 1.83 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,368.77 จุด

15. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.ฝน 20%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:43 pm