เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4.5% - ปีหน้า 4% คาดกนง.ขึ้นดบ.เร็วสุดปลายปี


ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ (EIC) มองศก.ไทยปีนี้โต 4.5% ก่อนชะลอลงในปี 62 เหลือ 4% หลังเจอสงครามการค้า - ท่องเที่ยวเริ่มตึงตัว  พร้อมมอง กนง.จะขึ้นดบ.ช่วงต้นปี 62 หรืออย่างเร็วในช่วงปลายปีนี้


  
ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ (EICระเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวที่ 4.5%YOY ก่อนจะชะลอตัวมาอยู่ที่ 4.0%YOY ในปี 2562 ภาวะเศรษฐกิจในช่วงปี 2561 ได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ด้านต่างประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มส่งผลดีต่อรายได้และการจ้างงานชัดเจนขึ้น โมเมนตัม การเติบโตดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้แม้จะชะลอลงบ้างตามปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้า และการชะลอลงของภาวะการค้าโลก 
  
สำหรับปี 2562 อีไอซีประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.0%YOY ชะลอลงจากปีก่อนหน้า แต่ยังถือว่าเป็นอัตราที่สูงสำหรับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่เติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 3% ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญจากผลกระทบของสงครามการค้าและภาวะทางการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยจะเผชิญกับข้อจำกัดจากความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของสนามบินสำคัญต่างๆ ของไทย อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าการใช้จ่ายด้านการลงทุนในประเทศจะมีการขยายตัวที่เร่งขึ้นนำโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น และสนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว
  
รายได้ครัวเรือนไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่การใช้จ่ายจะกระจายตัวและเร่งตัวขึ้น แม้รายได้ครัวเรือนไทยจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.7%YOY ขณะที่ค่าจ้างของกลุ่มแรงงานที่เป็นลูกจ้างเพิ่มขึ้น 2.4%YOY อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าการฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่สามารถนำไปสู่การเร่งตัวของการใช้จ่ายได้รวดเร็วนัก เพราะรายได้ครัวเรือนเพิ่งเริ่มฟื้นตัว หลังจากรายได้เกษตรกรหดตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างของกลุ่มลูกจ้างขยายตัวในอัตราต่ำเฉลี่ยน้อยกว่า 2% ต่อปี จึงทำให้รายได้ที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อค่อนข้างทรงตัว 
  
นอกจากนี้ ภาระหนี้ครัวเรือนของครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งยังเป็นปัจจัยถ่วงต่อการใช้จ่ายอยู่ ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แม้อัตราการว่างงานจะค่อนข้างต่ำสะท้อนถึงอุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน (slack) ที่ยังมีอยู่ ดูได้จากจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ลดลง การทำงานแบบล่วงเวลาที่ลดลง และสัดส่วนของจำนวนคนที่ว่างงานนานกว่า 6 เดือนที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลทั้งจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง อีไอซีมองว่า เศรษฐกิจจำเป็นต้องขยายตัวได้ดีและต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งก่อนจะเห็น slack ในตลาดแรงงานลดลงซึ่งจะทำให้ค่าแรงเร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ ในระยะยาวต้องมีการยกระดับผลิตภาพของแรงงานไทยผ่านการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี่ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
  
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น อีไอซีประเมินว่าจากแนวโน้มที่เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องยาวนาน โดยจังหวะการขึ้นน่าจะเป็นในช่วงต้นปี 2562 หรืออย่างเร็วในช่วงปลายปี 2561 ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลาที่ กนง. จะมั่นใจว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 
  
นอกจากนั้น อีไอซีมองว่าวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปแตกต่างจากวัฏจักรขาขึ้นครั้งก่อนๆ สะท้อนระดับหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่สูงขึ้นมาก และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มเฉลี่ยต่ำกว่าในอดีต อีไอซีประเมินว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยขึ้นครั้งละ 0.25% และไม่ขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในทุกการประชุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากเกินไป แต่จะใช้มาตรการดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ (macro-prudential) ในจุดที่มีความเปราะบางเพื่อจัดการกับปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่ไปด้วย ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้นจะขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจและการสื่อสารของ กนง. ในระยะต่อไป 
  
อีไอซีประเมินว่า แม้เสถียรภาพเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและสภาพคล่องที่ยังมีอยู่มากในระบบการเงินของไทยจะเป็นตัวกันชนที่ช่วยลดผลกระทบจากภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นและความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระหนี้ผูกพันกับดอกเบี้ยลอยตัวและธุรกิจที่มีการพึ่งพาการกู้ยืมสูงควรให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่อาจปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (yield snapback) และความเสี่ยงจากปัญหาในการต่ออายุหนี้ (rollover risk) อย่างเหมาะสม

LastUpdate 16/10/2561 12:40:29 โดย : Admin
25-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

2. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

5. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

7. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

12. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

13. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

15. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:16 pm