หุ้นทอง
PwC เตือนปี 63 หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนถูกจัดประเภทใหม่เป็นหนี้สินสะเทือนสถานะทางการเงินบจ.


PwC ประเทศไทยห่วงมาตรฐาน TAS 32 ฉบับใหม่ปรับหลักเกณฑ์การจัดประเภทตราสาร อาจทำให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนเปลี่ยนจากทุนเป็นหนี้สินในการบันทึกงบการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ D/E สูงเกินข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จนทำให้แบงก์มีสิทธิเรียกคืนเงินกู้ก่อนกำหนด เผยปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย 8 แห่งเป็นผู้ออกหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว มูลค่าคงค้างเกือบ 8 หมื่นล้านบาท (มูลค่า ณ 30 กันยายน 2562) ชี้หากไม่มีแนวทางผ่อนผันยกเว้นการจัดประเภทใหม่ชั่วคราว อาจส่งผลกระทบกับตลาดรวมและราคาหุ้นในระยะสั้น


 
 
 
นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อ“บริหารความท้าทายขององค์กรในทศวรรษใหม่อย่างมืออาชีพ” (Connecting the dots: Managing corporate challenges in 2020 and beyond) ว่าในปี 2563 ธุรกิจจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล การก้าวตามเทคโนโลยีเกิดใหม่ให้ทัน รวมไปถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานการบัญชีและหลักการทางบัญชีใหม่หลายฉบับที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้าไม่ว่าจะเป็น TFRS 9, TAS 32 และ TFRIC 23 เป็นต้น
 
ซึ่งทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 ที่ระบุเรื่องการจัดประเภทตราสารหนี้สินและทุนให้มีเงื่อนไขที่ละเอียดและชัดเจนขึ้น ซึ่งคาดว่า จะส่งผลให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราหนี้สินต่อทุน (Debt-to-equity ratio: D/E ratio) เพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและในที่สุดทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงตามไปด้วย

โดยปกติแล้วลักษณะที่สำคัญของ Perpetual Bond มี 2 ประการ คือ 1) ไม่มีกำหนดการชำระคืนเงินต้นที่แน่นอน กล่าวคือ ผู้ถือไม่มีสิทธิไถ่ถอน สิทธิการไถ่ถอนอยู่ที่ผู้ออกหุ้นกู้ และ 2) มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยออกไปได้ ทั้งนี้ TAS 32 ฉบับใหม่ได้ให้คำอธิบายการพิจารณาจัดประเภทตราสารว่า จะเป็นหนี้ หรือทุนชัดเจนขึ้น โดยระบุว่าถ้าการชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่กิจการไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ทันที เมื่อมีผลขาดทุนสะสมจนทำให้ส่วนของทุนเหลือน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน กรณีเช่นนี้จะต้องแสดง Perpetual Bond เป็นหนี้สิน เว้นแต่มีการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะกิจการได้ชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ (Liquidation) ไม่ว่าโดยสมัครใจ หรือโดยผลของกฎหมายล้มละลาย (กรณีศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย) ตราสารนั้นจะถูกจัดประเภทเป็นทุนแต่ปัจจุบันหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนของบริษัทจดทะเบียนไทย 8 แห่งที่อยู่ในตลาดนั้น มีการระบุเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กิจการไม่อาจควบคุมได้ คือ บริษัทจะชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยในกรณีที่ 1) บริษัทผู้ออกเลิกกิจการ 2) ล้มละลาย 3) เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และ 4) ถูกพิทักษ์ทรัพย์ถาวร ซึ่งจะเห็นว่าหากบริษัทเกิดกรณีตามเงื่อนไขข้อที่ 3 และ 4 อาจทำให้ไม่สามารถเลื่อนการชำระคืนเงินต้นหรืออัตราดอกเบี้ยออกไปได้ นั่นจึงทำให้หุ้นกู้ดังกล่าว ควรจะต้องถูกจัดประเภทเป็นหนี้สินแทน

ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ออกหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว มีมูลค่าคงค้างประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท (ณ 30 กันยายน 2562) ซึ่งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการส่วนใหญ่ จะต้องการใช้เงินลงทุนสูง แต่ไม่ต้องการเพิ่มทุน หรือกู้ยืมเงิน เพราะเกรงจะกระทบกับสัดส่วนหนี้สินต่อทุน และส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงตามไปด้วย จึงหันมาออกหุ้นกู้ที่ประเภทนี้ เนื่องจากไม่กระทบอัตราหนี้สินต่อทุนและยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการโครงสร้างหนี้อีกด้วย 

สำหรับแนวทางการรับมือกับ TAS 32 นั้น บริษัทผู้ออกสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ แก้ไขสัญญาหุ้นกู้ หรือไถ่ถอนแล้วออกหุ้นกู้รุ่นใหม่ทดแทน แต่ทั้ง 2 แนวทางมีสิ่งที่บริษัทต้องพึงพิจารณาทั้งภาระค่าใช้จ่ายที่สูงและระยะเวลาในการดำเนินการขั้นต่ำ 2-3 เดือน ซึ่งคาดว่าบริษัทไม่น่าจะสามารถดำเนินการเสร็จได้ทันภายใน 1 มกราคม 2563 

“มาตรฐาน TAS 32 ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีหุ้นกู้เหล่านี้คงค้างอยู่ โดยปัจจุบันสภาวิชาชีพบัญชีอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางยกเว้น หรือผ่อนผันให้กับหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนที่ออกและมียอดคงค้างอยู่ไม่ต้องมีการจัดประเภทใหม่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทและนักลงทุนต้องติดตามว่า โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้นมากและอาจส่งผลให้เจ้าหนี้เงินให้กู้ยืมของบริษัท เช่น ธนาคารพาณิชย์ มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินกู้ซึ่งเดิมยังไม่ถึงกำหนดชำระได้ในทันที เนื่องจากผิดข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้เรื่องการคงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและท้ายที่สุดก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทในระยะสั้นได้” นายชาญชัยกล่าว 

นอกจากนี้กฎทางบัญชีใหม่ (TFRIC 23) เรื่องความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวิธีการทางภาษีเงินได้ ซึ่งมีหลักการในสาระสำคัญเช่นเดียวกับ Fin 48 ที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้กิจการต้องรับรู้ประมาณการค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินในประเด็นภาษีที่มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนในงบการเงิน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขในงบการเงิน เพราะปัจจุบันบริษัทประมาณการค่าใช้จ่ายทางภาษีหรือหนี้สินภาษีเงินได้ เฉพาะรายการที่คิดว่า บริษัทมีภาระจะต้องจ่ายอย่างแน่นอนแต่รายการที่คลุมเครือหรือรายการที่อาจจะเสียภาษีผิดพลาดจะไม่ถูกนำมาตั้งในงบการเงิน และรอจนกว่ากรมสรรพากรจะเข้ามาชี้ประเด็น จึงจะต่อสู้และแก้ต่าง โดยปกติบริษัทบันทึกบัญชีเมื่อการต่อสู้ถึงที่สิ้นสุด 

“ธุรกิจจะต้องพิจารณาประเด็นภาษีที่มีความคลุมเครือว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนว่าจะมีภาระหนี้สิน โดยอาจพิจารณาจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความน่าจะเป็นว่า ประเด็นดังกล่าวต้องเสียภาษีหรือไม่ และเสียในอัตราอะไร ซึ่งถ้าบริษัทสามารถประมาณการว่า มีภาระภาษีค่อนข้างแน่นอนและมีประมาณการตัวเลขที่สมเหตุสมผล เชื่อถือได้ ก็ควรบันทึกรายการเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี หรือหนี้สินภาษีเงินได้ในปีที่เกิดรายการเลย แม้ว่าทางกรมสรรพากรยังไม่ทราบถึงเรื่องที่คลุมเครือก็ตาม เพราะใน TFRIC 23 มีข้อสมมติฐานว่า เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบภาษีมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั้งหมดอย่างครบถ้วนของเรื่องที่ยังมีความไม่แน่นอนทางภาษี” นายชาญชัยกล่าว

อย่างไรก็ดีปัจจุบันรายการทางธุรกิจนั้นมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งกฎหมายภาษีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทยมีหลักการที่แตกต่างกันมาก ประกอบกับความคลุมเครือในการตีความและไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการเสียภาษีของธุรกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆที่มีความซับซ้อน ดังนั้นกิจการจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายภาษีและการตีความที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและกำหนดจุดยืนในการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องและเหมาะสม
 
“ดิจิทัล” เทรนด์ความท้าทายที่ธุรกิจต้องติดตาม

อย่างไรก็ดีแม้การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางบัญชีจะเป็นความท้าทายและธุรกิจต้องติดตามอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจควรต้องติดตามไม่แพ้กัน ซึ่งเทคโนโลยีที่ต้องจับตาในทศวรรษหน้านั้นคือ เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud computing) โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G จะทำให้การใช้เทคโนโลยีอื่นๆนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตจะมีความเร็วสูงมาก และทำลายข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีอื่นๆมาใช้และก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ เช่น Smart city และ eHealth ขณะที่เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งคล้ายกับระบบคอมพิวเตอร์ที่มีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ แต่สามารถรองรับการใช้งาน การประมวลผล และเก็บข้อมูลได้จำนวนมหาศาล ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจทำงานได้อย่างไร้ขีดจำกัด สามารถปฏิบัติงาน และติดตามควบคุมแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“สิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องเร่งลงมือทำตั้งแต่วันนี้คือ ทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเข้ามา โดยไม่ลืมที่จะประเมินว่า บริษัทของตนนั้นต้องการนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ด้านไหนบ้าง เพราะทุกเทคโนโลยีอาจไม่ได้เหมาะกับธุรกิจเราทั้งหมด หลังจากนั้นต้องพิจารณาแผนการลงทุนที่เหมาะสม รวมไปถึงยกระดับทักษะของบุคลากรให้พร้อมรับมือกับการเข้ามาของดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมที่จะลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากภัยไซเบอร์เป็นสิ่งที่จะเข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และภูมิภาคอาเซียนเองก็มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากอาชญากรทางคอมพิวเตอร์มากขึ้นตามการขยายตัวของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต” นายชาญชัยกล่าว

นอกจากนี้การระดมทุนด้วยการออกเหรียญดิจิทัล (Initial Coin Offering: ICO) ที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน ยังเป็นอีกประเด็นที่ธุรกิจต้องติดตามว่า จะมีการพัฒนามาตรฐานการรายงานทางการเงินให้ทันต่อสินทรัพย์ประเภทนี้ รวมไปถึงสินทรัพย์ใหม่ๆในยุคดิจิทัลออกมาอย่างไร สำหรับไอซีโอนั้น แม้ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีที่เฉพาะเจาะจง แต่หน่วยงานกำกับก็มีแนวทางในการกำกับดูแลในระดับหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่ช้าก็เร็วจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนในด้านต่าง ๆ ออกมามากยิ่งขึ้น โดยระหว่างนี้หากPwC ประเทศไทยต้องตรวจสอบหรือรับรองความถูกต้องของงบการเงินของบริษัทที่ออกหรือถือครองสกุลเงินดิจิทัลก็จะต้องได้รับการอนุมัติจาก PwC Global ก่อนและในระหว่างตรวจสอบงบการเงิน ทีมงานต้องปรึกษาและรับคำแนะนำจากเครือข่ายในต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการดำเนินการ ดูแลควบคุมระบบ รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกรรมในสกุลเงินดิจิทัล
 

LastUpdate 17/10/2562 19:37:26 โดย : Admin
25-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

2. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

3. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

4. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

5. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

6. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

7. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

8. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

10. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

11. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

12. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

13. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

14. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

15. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (23 เม.ย.67) ร่วง 4.30 เหรียญ คลายความกังวลตะวันออกกลาง-จับตาเงินเฟ้อและGDPสหรัฐ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 4:56 pm