เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เปิดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อ 20 พ.ค.63


การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 3/2563  เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกรรมการที่เข้าร่วมประชุม คือ นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน),นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน),นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน,นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ,นายคณิศ แสงสุพรรณ,นายสุภัค ศิวะรักษ์ และนายสมชัย จิตสุชน โดยมองถึงภาวะเศรษฐกิจและภาวะการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้จากการระบาดของ COVID-19และมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและเศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมจีน)  เข้าสู่ภาวะถดถอย การผลิตและการส่งออกหดตัวตามอุปสงค์โลก เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำแม้ทางการจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแต่ยังคงใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังต่ำกว่าปกติทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทั่วโลกได้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศจะมีข้อจำกัดมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อGDP ที่สูงขึ้น สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำมาก และขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (asset purchases) รวมถึงมาตรการให้กู้ยืมเงิน (lending facilities) เพิ่มเติมตามที่ได้ประกาศไว้ ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคหลายแห่งผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม อาทิ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ธนาคารกลางสิงคโปร์ผ่อนคลายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ธนาคารกลางส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้นในระยะต่อไป

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสหดตัวมากกว่าคาดและฟื้นตัวช้า จากการระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมารอบสองในประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแล้ว รวมถึงยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ (1) การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้น (2) ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกทั้งในและนอกภาคการเงิน เช่น ครัวเรือนและธุรกิจอาจมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงิน (solvencyrisk) หรือมีการเร่งขายสินทรัพย์เป็นจำนวนมากส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลดลงเร็ว (distressed assets) และกลับมากระทบภาคเศรษฐกิจจริงได้(3) ความผันผวนของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ และ (4) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ คณะกรรมการฯ จะติดตามการระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศและความเสี่ยงต่าง ๆ ข้างต้นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย

ภาวะตลาดการเงิน

ตลาดการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงิน โดย ธปท. ได้เข้าดูแลสภาพคล่องผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล จัดตั้งกลไกช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ปรับสูงขึ้นมากตามภาวะตลาดการเงินโลกตึงตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น ด้านสินเชื่อขยายตัวโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่พึ่งพาสินเชื่อแทนการออกตราสารหนี้มากขึ้น รวมทั้งความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องของระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูงอย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) จากร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝากเป็นเวลา 2 ปี
 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และสกุลเงินภูมิภาคสะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนเริ่มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น (risk-on sentiment) หลังสถานการณ์การระบาด COVID-19 ปรับดีขึ้นและหลายประเทศรวมถึงไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติจึงเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทย แต่ยังคงขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกทองคำที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาทองคำอีกด้วย ในระยะข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไป และศึกษาถึงมาตรการที่จะลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากการส่งออกทองคำด้วย

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพระบบการเงิน

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยการส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาดตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดลงมากจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่อาจขยายระยะเวลาออกไป ด้านการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาดตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และราคาน้ำมันที่หดตัวส่งผลต่อราคาสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม อุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่หดตัวส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนลดลงในวงกว้าง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว จากการว่างงานที่สูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาของภาครัฐจะมีส่วนช่วยประคับประคองกำลังซื้อของครัวเรือนได้บางส่วน ทั้งนี้ ครัวเรือนภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากขึ้น ส่วนครัวเรือนนอกภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากการลดชั่วโมงทำงาน การลดค่าจ้าง และการเลิกจ้างของธุรกิจการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวจากอุปสงค์และความเชื่อมั่นที่ลดลงมาก รวมถึงธุรกิจปรับลดการลงทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี ยังคงมีการลงทุนในกลุ่มโทรคมนาคมและกลุ่มสุขภาพเพื่อรับมือ COVID-19 และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จากการย้ายฐานการผลิตมาไทยของผู้ผลิตบางราย การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ โดยรัฐบาลขยายกรอบวงเงินมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบระยะที่ 1 และ 2 และออกมาตรการใหม่ระยะที่ 3 และอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงเม็ดเงินจากการออกพระราชกำหนดเพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 1 ล้านล้านบาทและแผนการปรับโครงสร้างงบประมาณปี 2563 ตามร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย โดยภาครัฐมุ่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและรองรับรายจ่ายด้านสาธารณสุข รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ได้ 

คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง และวิเคราะห์หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น(scenario analysis) จากปัจจัยสำคัญต่าง ๆได้แก่ (1) แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าและการระบาดในต่างประเทศ รวมถึงผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนและยารักษา (2) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและโอกาสที่จะเกิดการระบาดรอบสองในประเทศ และ (3) ประสิทธิผลของมาตรการด้านการคลัง การเงิน และสินเชื่อ โดยต้องออกใช้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและทันการณ์เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs ให้ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง 
 
 
คณะกรรมการฯ กังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่จะลดลงมากและอาจใช้เวลานานกว่าจะกลับเป็นปกติ ทั้งในกลุ่มลูกจ้างและผู้จ้างงานตนเอง (self-employed) โดยแรงงานบางส่วนอาจว่างงานชั่วคราวในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด แต่แรงงานบางส่วนอาจว่างงานถาวรเนื่องจากธุรกิจประสบปัญหาด้านฐานะทางการเงินจนปิดกิจการ ลดการจ้างงานตามอุปสงค์ที่ลดลงหรือปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน (automation) มากขึ้น กลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะหางานยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง(economic scars) จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากฐานะทางการเงินที่เปราะบางของภาคเอกชน แนวโน้มการว่างงาน และแนวโน้มเศรษฐกิจ ดังนั้น มาตรการการคลังและการลงทุนภาครัฐจะต้องเป็นเครื่องมือหลักในการประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะทรุดตัวมากจนถึงระดับที่ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินในวงกว้าง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย โดยมีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่ประเมินไว้จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงมากและมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าของภาครัฐ รวมทั้งราคาในหมวดอาหารสดปรับลดลงตามอุปสงค์ในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าหมวดอื่นส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและผลของมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีความเสี่ยงด้านต่ำสอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบเป็นผลชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย จึงไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด(deflation risk)

ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ส่งผลให้เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จำนวนครัวเรือนและธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของภาครัฐจะทยอยสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และสายการบิน ได้รับผลกระทบมากจาก COVID-19 ส่วนธุรกิจปิโตรเลียมได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงจากทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีราคาอาคารชุดเริ่มทรงตัวหลังจากที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการลดการเปิดโครงการใหม่ และเร่งส่งเสริมการขายเพื่อระบายอุปทานคงค้าง คณะกรรมการฯ เห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ระดมทุนผ่านทั้งสินเชื่อ ธพ. และตราสารหนี้ภาคเอกชน อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นสูง เช่น ธุรกิจก่อสร้าง จึงควรติดตามภาวะอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) และด้านความมั่นคงทางการเงิน (solvency risk) ของครัวเรือนและธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้กู้ ทั้ง ธพ. สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-banks) กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพย์ และย้อนกลับมากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้



อย่างไรก็ดี ระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้ รวมถึง ธปท. ได้มีมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์สภาพคล่องเช่น Liquidity Coverage Ratio (LCR) และ Net Stable Funding Ratio (NSFR) ให้ต่ำกว่าร้อยละ 100 ได้ชั่วคราว ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าสถาบันการเงินต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ (proactive debt restructuring) รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า และให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด เช่น การสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditor) มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น การขยายบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (asset management company: AMC) ในการรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ

การดำเนินนโยบายการเงิน

คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่กรรมการ 3 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมีผลกระทบต่อการจ้างงานและความเปราะบางด้านเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น อาจมีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่คาด ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในปัจจุบันและรองรับโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไปในอนาคตได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นโดยปัจจัยลบดังกล่าวจะฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ จึงควรผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อไม่ให้การดำเนินนโยบายล่าช้าเกินไป และให้มีประสิทธิผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันการณ์ รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการทางการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และให้เร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว โดยกรรมการบางท่านเห็นควรให้รอประเมินผลการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา รวมทั้งประเมินภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการระบาดภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ก่อนตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะต่อไป
 

คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้นในระหว่างที่มาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ยังมีผลบังคับใช้ และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ ทั้งโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของ ธปท. และของธนาคารออมสิน โครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และโครงการสินเชื่อที่ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์มีความสำคัญและจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ยังอยู่ในระดับต่ำ อายุหนี้เฉลี่ยยาวประมาณ 10 ปี และเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในสกุลเงินบาท นโยบายการคลังของไทยจึงยังมีขีดความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางให้เหมาะสมหลังควบคุมการระบาดได้ ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะต่อไปมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ หากการกู้ยืมดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพในอนาคต นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ควรดำเนินมาตรการที่เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเร่งรัด การให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ก่อนที่มาตรการการเงินการคลังที่ออกมาในช่วงเยียวยาเศรษฐกิจจะทยอยสิ้นสุดลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและศักยภาพการเติบโตในระยะยาว นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐจะต้องสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่หลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลายลงด้วย

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 


บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 04 มิ.ย. 2563 เวลา : 12:19:39
26-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

2. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

5. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

7. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

12. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

13. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

15. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:02 am