เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บทวิเคราะห์เกียรตินาคินภัทร (KKP): ''ฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร ยามไร้การท่องเที่ยว''


ผ่านมาเกือบ 5 เดือนที่โลกได้รู้จักกับโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า COVID-19  จนมาถึงวันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ  5 ล้านคนไปแล้ว  และจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉียดวันละ 1 แสนรายทุกวัน 

สำหรับประเทศไทย ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะอยู่ในระดับต่ำและดูเหมือนสถานการณ์จะควบคุมได้ดีกว่าในหลาย ๆ ประเทศ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ก็นับว่ารุนแรงไม่น้อย  เนื่องมาจากการที่ไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ โดยในปีล่าสุดรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของ GDP ไทย หากเทียบกับประเทศไต้หวันซึ่งรั้งอันดับสองในเอเชีย และมีสัดส่วนเดียวกันนี้อยู่ที่เพียง 4%
 
 
คำถามที่ทุกคนคงอยากรู้คือ หากประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้จริงหลังจากนี้ คือ ไม่มีการระบาดระลอกสองเกิดขึ้นแล้ว การผ่อนคลายล็อกดาวน์ในระยะต่อไปจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว หรือฟื้นตัวแบบ รูปตัว V เลยหรือไม่  KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเราอาจไม่สามารถคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างฉับพลันได้ถึงแม้จะมีการทยอยเปิดเมืองแล้วก็ตาม ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ
 
ข้อแรก การเปิดรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มจะเป็นด่านสุดท้ายที่จะถูกคลายล็อก
 
ส่วนหนึ่งจากความยากในการตรวจสอบนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใหม่ในประเทศเนื่องจากยังไม่มีระบบการตรวจสอบผู้ติดเชื้อ (testing) ที่มีประสิทธิภาพทราบผลได้รวดเร็ว และระบบการติดตามคัดกรองผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อที่รัดกุมและครอบคลุมเพียงพอ (contact tracing) ในปี 2019 เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีรวมถึง 39.8 ล้านคน คิดเป็นนักท่องเที่ยวขาเข้าเฉลี่ย 109,040 คนในแต่ละวัน ถ้าจะเปิดการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ อาจจะต้องมีการเตรียมการทั้งระบบการตรวจสอบ สถานที่กักตัว และระบบติดตามให้เพียงพอกับคนจำนวนมากที่จะเข้ามาในแต่ละวัน จึงคาดหวังได้ยากว่าประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เต็มที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในปีนี้ 
 
ถึงแม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะกลับมาได้บ้างจากการปลดล็อกภายในประเทศ แต่ลำพังการใช้จ่ายภายในประเทศ ยากมากที่จะชดเชยเม็ดเงินที่สูญเสียไปจากการท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย จากตัวเลขสถิตินักท่องเที่ยว เราสามารถประมาณได้ว่า ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในประเทศไทยถึงประมาณ 1 ล้านคนในแต่ละวันโดยเฉลี่ย (อาจมากน้อยต่างกันตามฤดูกาล) และการใช้จ่ายของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ต่างกันลิบลับ จากสถิติบัญชีรายได้ประชาชาติ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,039 บาทต่อคนต่อวัน สูงกว่าการใช้จ่ายเฉลี่ยของไทยเที่ยวไทยกันเองถึงกว่า 2 เท่า และมากกว่าการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของคนไทยถึง 13 เท่า หากจะให้การใช้จ่ายของคนไทยกันเองสามารถชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากรายได้ที่สูญเสียไปจากการท่องเที่ยวได้หมด คนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปทุกๆ คน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 56.5 ล้านคน จะต้องเพิ่มการใช้จ่ายขึ้นคนละ 20% ซึ่งคงเป็นไปได้ยากในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้

ข้อที่สอง การเปิดเมืองแบบที่ยังมีการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) อย่างเคร่งครัด
 
ยังคงเป็นเรื่องที่ทางการยังคงให้ความสำคัญเพื่อประสิทธิผลในการควบคุมโรค ฉะนั้น แม้ว่าไทยจะสามารถเปิดประเทศเพื่ออนุญาตให้มีการเดินทางและการท่องเที่ยวได้กับบางประเทศหรือกลุ่มประเทศ แต่การท่องเที่ยวแบบต้องกักตัวและรักษาระยะห่าง ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยวของต่างชาติ และเพิ่มต้นทุนทำให้หลายธุรกิจไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้เต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวดสปา กรุ๊ปทัวร์ การโดยสารรถบัส สถานที่จัดการแสดงโชว์ ผับบาร์ ล้วนแล้วแต่ต้องมีการจัดระเบียบใหม่ อาจทำให้รับลูกค้าได้เพียงครึ่งเดียวของระดับปกติ บางธุรกิจที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็มีแนวโน้มถูกปิดยาว
 
การที่ร้านค้าสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้หลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่ยอดขายไม่กลับมาเป็นปกติ ก็อาจทำให้ไม่คุ้มค่าที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง หลายธุรกิจมีสัดส่วนต้นทุนที่ไม่ผันแปรตามยอดขาย (fixed cost) เช่น ค่าสิ่งปลูกสร้าง ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงานประจำ สูงอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มโรงแรมและกลุ่มร้านอาหารจะต้องมียอดขายอย่างน้อย 40-50% ของยอดปกติจึงจะเริ่มมีกำไร (breakeven) อีกทั้งการที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการดูแลสุขอนามัยภายในร้านและการปฏิบัติตามกฎรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด ยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและรายรับลดลงไปอีก ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่แม้จะเปิดเมือง แต่หลายธุรกิจก็ยังต้องประสบกับภาวะขาดทุนหรือต้องปิดตัวไปถาวร ยิ่งตอกย้ำให้เศรษฐกิจอาจทรุดตัวลงไปนานกว่าที่หลายฝ่ายคาด 
 
ข้อที่สาม หากรายได้จากการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่กลับมาเป็นปกติ รวมถึงธุรกิจที่ให้บริการคนไทยเองก็ไม่สามารถสร้างรายรับได้เหมือนเดิม แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการใช้จ่ายของผู้ประกอบการและแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
 
 
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นปีละ 12% โดยเฉลี่ย การท่องเที่ยวที่โตอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ทำให้คนไทยหันมาทำธุรกิจโรงแรมที่พักเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน  โดยระหว่างปี 2013-2018 จำนวนโรงแรมที่พักเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 10% (ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมที่พักที่ไม่ได้จดทะเบียนกิจการโรงแรม ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก) หากดูอัตราการเติบโตของจำนวนห้องพัก จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคืออยู่ที่ 7% ต่อปี แสดงว่าที่พักที่เกิดใหม่ในระยะหลังมีขนาดเล็กลง นั่นคือผู้ประกอบการรายเล็กกระโดดลงมาทำธุรกิจที่พักกันมากขึ้น จำนวนแรงงานที่เข้ามาอยู่ในภาคโรงแรมและภัตตาคารก็เพิ่มขึ้นเช่นกันเฉลี่ย 4% ต่อปี สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ หากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้อาจอยู่ไม่รอดและต้องปิดตัวลง สภาวะวิกฤตการท่องเที่ยวไทยเช่นนี้ย่อมกระทบต่อรายได้ของทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องอีกมหาศาล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจถึงแม้จะเริ่มมีการทยอยเปิดเมือง
 
 
ความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฏรุนแรงขึ้นสวนทางกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ค่อย ๆ ทยอยลดลง ประกอบกับความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการรองรับผู้ป่วยใหม่ต่อวัน 
 
เราจึงเห็นประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถควบคุมการติดเชื้อได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน มาตรการของไทยก็ยังคงเข้มงวดต่อเนื่อง การทยอยปลดล็อกภายในประเทศเป็นไปอย่างระมัดระวังเป็นอย่างมาก 
 
การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เป็นการหาจุดสมดุลระหว่างการลดต้นทุนผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการลดความเสี่ยงและข้อจำกัดทางระบบสาธารณสุข  แต่ในวันที่ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ในหลัก ‘ต่ำสิบ’ อย่างต่อเนื่อง และข้อจำกัดทางระบบสาธารณสุขได้รับการเตรียมพร้อมเพิ่มมากขึ้น การตั้งการ์ดรักษามาตรการระยะห่างทางสังคมที่ถูกตั้งคำถามว่าเคร่งครัดเกินควร อาจทำให้คนไทยกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศต้องตกอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม  หากไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐอย่างเพียงพอและทันท่วงทีแล้ว ต้นทุนที่ประเทศต้องแบกรับย่อมตกอยู่กับคนไทยทุกคนโดยเฉพาะสำหรับคนรายได้น้อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และโอกาสในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คงจะเป็นไปได้ยาก
 
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประมาณการ GDP ปีนี้โตติดลบ 9% ปรับลดจากครั้งก่อนหน้าที่ประเมินติดลบ 6.8%
 
โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งมองว่าจะมาเพิ่มอีกเพียง 3 ล้านคน จากข้อสมมุติว่าไทยจะสามารถทยอยเปิดประเทศให้กับบางประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำได้ และจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในทั้งปีนี้มีเพียง 9 ล้านคน ลดลงถึง 77% จากตัวเลขปีที่แล้ว ถ้าเราไม่สามารถเปิดประเทศได้เลยก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่านี้
 
ภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็ก คงต้องปรับกระบวนท่ากันขนานใหญ่
เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง  สิ่งที่น่ากังวลคือถึงแม้ในระยะต่อไปจะมีการเปิดพรมแดนให้มีการเดินทางเข้าออกประเทศได้แล้วก็ตาม ก็ยังหวังไม่ได้ว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาทะยานเฟื่องฟูได้อย่างรวดเร็วเหมือนในช่วงยุคก่อน COVID-19 อย่างไรก็ตาม มองในแง่ดี วิกฤตโควิดครั้งนี้นับเป็นโอกาสให้เศรษฐกิจไทยได้ ‘รีเซ็ต’ ตัวเอง ลด การกระจุกตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งมากจนเกินไป และมองหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่  โดยหากยังไม่มีก็คงต้องเริ่มสร้างขึ้นมาในวันนี้
 
 

บันทึกโดย : วันที่ : 04 มิ.ย. 2563 เวลา : 16:40:38
26-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

2. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

5. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

7. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

12. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

13. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

15. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:14 am