เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เปิดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินล่าสุด


รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2563 

วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย
 
เผยแพร่ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

กรรมการที่เข้าร่วมประชุม

นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน 
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายคณิศ แสงสุพรรณ นายสุภัค ศิวะรักษ์ นายสมชัย จิตสุชน

ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มหดตัวรุนแรงในปีนี้และอาจใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าที่ประเมินไว้ เพราะ การระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาด แม้เศรษฐกิจบางประเทศเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นบ้างจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและเศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมจีน) มีแนวโน้มหดตัวแรงในปีนี้และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามกิจกรรมการผลิต การจ้างงาน และการบริโภคที่อ่อนแอลงมาก บางประเทศยังมี การระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่อง หรือเผชิญการระบาดระลอกสองหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุม เศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อยจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้นอย่างช้า ๆ หลัง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐทั่วโลกได้เร่งผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพิ่มเติมต่อเนื่องเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำมากและหลายธนาคารกลาง อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่นธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษได้ขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (asset purchases) เพิ่มเติม ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคบางแห่ง อาทิ ธนาคารกลางเกาหลีใต้และธนาคารกลางอินโดนีเซียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ด้านนโยบายการคลัง รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม หลายประเทศมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องและออกมาตรการการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศอาจมีข้อจำกัดจากขีดความสามารถของนโยบายการคลัง (fiscal policy space) ที่น้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียยังมีขีดความสามารถในการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

คณะกรรมการฯ ประเมินว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะขยายตัวต่ำกว่าคาด จาก (1) การระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมาระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง (2) ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกจากความเสี่ยงที่ภาคเอกชนและรัฐบาลของบางประเทศ มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นหรืออาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (3) การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้น และ (4) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความตึงเครียดระหว่างจีนและฮ่องกง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสหดตัวมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่แนวโน้มการฟื้นตัวในอนาคตยังไม่แน่นอนอยู่มากและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ โอกาสและความรุนแรงของการระบาดระลอกสอง ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จและทั่วถึง และประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 

ภาวะตลาดการเงิน

นโยบายการเงินการคลังทั่วโลกที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมต่อเนื่อง สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีสัญญาณปรับดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น (risk-on sentiment) สะท้อนจากราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับสูงขึ้นแม้มีความกังวลว่าการประเมินความเสี่ยงในตลาดการเงินอาจไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และผลประกอบการของภาคธุรกิจที่จะลดลงมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปรับฐานราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงิน (market correction) ในระยะต่อไป กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) เริ่มมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้ดีและมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจน้อยกว่าภูมิภาคอื่น สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อน เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลง ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตามข้อมูลเศรษฐกิจ สถานการณ์การระบาด และความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลิตวัคซีน ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดระลอกสองในหลายประเทศ สำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตและต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจ  คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงของตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 ซึ่งมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น non-investment grade สำหรับการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านสถาบันการเงิน สินเชื่อขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและเพื่อทดแทนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ที่ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงคณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องของระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก สอดคล้องกับ risk-on sentiments และส่วนหนึ่งจากแรงขายดอลลาร์ สรอ.ที่ได้จากการส่งออกทองคำหลังราคาปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเงินสกุลภูมิภาค ดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) จึงปรับเพิ่มขึ้น ในระยะข้างหน้าตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนตามการระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไป ตลอดจนประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพระบบการเงิน

เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ จากการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่รุนแรงกว่าคาดและรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักรุนแรง และกระทบต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตใหม่ของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวสูงในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลก รวมถึงภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต (supply chain disruption) และการระงับเส้นทางขนส่ง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าจะทยอยปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยให้อุปสงค์ต่างประเทศปรับดีขึ้น การส่งออกบริการ มีแนวโน้มหดตัวแรงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากตลอดช่วงประมาณการ อย่างไรก็ดี  การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นกับความเชื่อมั่นต่อการควบคุมการระบาดและแนวทางการเปิดประเทศภายใต้มาตรการระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble) ของไทย การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้และคาดว่าจะฟื้นตัวได้จำกัด เนื่องจากการจ้างงานเปราะบางมากขึ้น การว่างงานปรับสูงขึ้นและรายได้แรงงานชะลอตัวตามการปรับตัวของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงครัวเรือนจึงระมัดระวังการใช้จ่าย แม้มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือสภาพคล่องของภาครัฐที่ดำเนินการไปและการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมจะช่วยประคับประคองการบริโภคของครัวเรือนได้บ้างด้าน

การลงทุนภาคเอกชน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับลดลง กำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูงในหลายภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลื่อนหรือชะลอการลงทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าการลงทุนบางโครงการมีแนวโน้มดำเนินการได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจาก (1) การเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดฯ และ (2) การเพิ่มสัดส่วนของงบประจำเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้เร็วขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายฯ และการปรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 8.1 ในปี 2563 และจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 5.0 ในปี 2564 ตามแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจโลกที่อาจหดตัวหรือฟื้นช้ากว่าคาด ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่จะลดลงมาก รวมทั้งโอกาสและความรุนแรงของการระบาด COVID-19 รอบสองหากมีการเปิดประเทศตามมาตรการระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble)

คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่คณะกรรมการฯ ยังกังวลต่อ (1) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงต่อเนื่องนาน และยังต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลงด้วย และ (2) ตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างรุนแรงกว่าคาด โดยแรงงานในแต่ละสาขาธุรกิจจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป และแรงงานบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา แรงงานที่มีอายุ และแรงงานที่มีทักษะน้อย (unskilled) จะได้รับผลกระทบมากและจะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต(automation) มากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้รายได้และการจ้างงานของครัวเรือนนอกภาคเกษตรฟื้นตัวช้า และอาจไม่กลับไปสู่การจ้างงานในระดับเดิมก่อนการระบาดของCOVID-19 ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการระบาดคลี่คลายลง รวมทั้งนโยบายด้านแรงงานที่จะส่งเสริมการจ้างงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรักษาศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าคาดตามราคาพลังงานที่ปรับลดลงแรงเป็นสำคัญ สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลงจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกและกำลังการผลิตส่วนเกิน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าและน้ำประปาของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบที่ร้อยละ 1.7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วง ปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบไม่ได้แสดงว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (deflation risk) ในปัจจุบัน โดยพิจารณาจาก 4 เงื่อนไข ได้แก่ (1) ราคาสินค้าและบริการไม่ได้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องยาวนาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางสูงขึ้นและเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 (2) ราคาสินค้าและบริการหดตัวเฉพาะในบางประเภท โดยราคาของสินค้าและบริการกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ต่างจากกรณีภาวะเงินฝืดที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่จะหดตัว (3) การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสาธารณชนในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าจากการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามและประเมินเงื่อนไขสุดท้ายว่า (4) อุปสงค์และการจ้างงานจะชะลอตัวยาวนานต่อเนื่องหรือไม่หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด โดยจะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งรายได้ การจ้างงาน รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อสารกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและ
ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด

เสถียรภาพระบบการเงินไทยเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวมากกว่าคาดจากผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งอาจส่งผลให้ (1) ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกปรับตัวรุนแรง (2) เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนในหลายประเทศรวมถึงไทย และ (3) ตราสารหนี้ภาคเอกชนบางกลุ่มมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น non-investment grade นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้เตรียมมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อลูกหนี้ภาคครัวเรือนและธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและสินเชื่อกลุ่มแรก ๆ ทยอยสิ้นสุดลง โดยการกำหนดแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมควรคำนึงถึงความแตกต่างของครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจเนื่องจาก แต่ละกลุ่มมีศักยภาพในการฟื้นตัวแตกต่างกัน ซึ่งจะเอื้อให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก COVID-19 ได้ โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 และเร่งดำเนินการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุกแก่ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมรวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องควรเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินที่จะเพิ่มขึ้น หากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาดมากเช่น สร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditor) มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ขยายบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (asset management company: AMC) ในการแยกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบการเงินออกไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม

การดำเนินนโยบายการเงิน

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าที่คาดไว้มาก รวมทั้งยังสร้างความไม่แน่นอนต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินได้ผ่อนคลายลงอย่างทันท่วงทีตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการระบาดโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้ง จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ การปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) ลงชั่วคราว ควบคู่กับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อของ ธปท. และมาตรการการคลังของรัฐบาล ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดที่เกิดขึ้น และจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลายลง ตลอดจนเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี และเห็นควรให้ติดตามและประเมินผลของมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปก่อนดำเนินมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ กรรมการบางส่วนเห็นควรให้ศึกษาผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่อาจส่งผลต่อการทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินของสถาบันการเงิน พฤติกรรมการออมและการลงทุนของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวได้ อีกทั้งเนื่องจากสถานการณ์ การระบาดของ COVID-19 ยังไม่แน่นอนกรรมการส่วนหนึ่งจึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังจำเป็นต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเห็นว่ามาตรการด้านการเงินในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลให้สภาพคล่องในระบบการเงินกระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ผ่านการเร่งรัดสินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ (2) การเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้อย่างจริงจัง และ (3) การเตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินของภาคธุรกิจ (solvency risk) รวมถึงส่งเสริมให้เกิดกระบวนการแยกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบการเงินเพื่อไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม และสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายมีมาตรฐานและดำเนินการได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการคลังของไทยยังมีขีดความสามารถรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และภาครัฐควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้ในภูมิทัศน์ใหม่หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง เนื่องจากธุรกิจแต่ละสาขาจะเผชิญกับการฟื้นตัวและความท้าทายในการปรับตัวที่แตกต่างกัน โดยภาครัฐควร 

(1) มีกลไกการบริหารกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม อาทิ เอื้อให้เกิดการควบรวมกิจการในสาขาที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการระบาดคลี่คลายลง
(2) ออกแบบนโยบายเพื่อสนับสนุนและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพและมีโอกาสฟื้นตัวเร็วขึ้น
(3) เร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล 
(4) สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงาน (reskill and upskill) เพื่อรองรับการจ้างงานในอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายและปรับตัวเข้าสู่บริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดคลี่คลายลง
และ (5) เร่งปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ใหม่

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ค. 2563 เวลา : 10:51:11
25-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

2. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

3. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

4. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

5. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่งตต. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 10%

6. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 37.00-37.25 บาท/ดอลลาร์

7. ทองเปิดตลาด (25 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

8. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (25 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์

9. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 เม.ย.67) ลบ 2.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,358.97 จุด

10. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

11. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

12. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

13. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

14. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (23 เม.ย.67) ร่วง 4.30 เหรียญ คลายความกังวลตะวันออกกลาง-จับตาเงินเฟ้อและGDPสหรัฐ

15. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (23 เม.ย.67) พุ่งขึ้น 263.71 จุด ขานรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่งเกินคาด

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:03 pm