เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC มูลค่าส่งออก (ไม่รวมทอง) เดือน มิ.ย. หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของภาวะการค้าโลก


Key summary

มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำ เดือนมิถุนายนหดตัวที่ -17.3%YOY เป็นการหดตัวที่น้อยลงจากเดือนก่อนหน้า (-27.8%YOY) ตามคาด หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ

EIC คาดภาวะการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในระยะข้างหน้า ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กอปรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ ที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว รวมถึงปัญหา supply chain disruption ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกไทยยังมีอุปสรรคและปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ ได้แก่ การกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของ COVID-19, ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ
 
ทองคำที่สูงในเดือนมิถุนายน 2019 ทำให้การส่งออกทองคำเดือนมิถุนายน 2020 หดตัวถึง -86.0%YOY ทั้งนี้การหดตัวที่ชะลอลงในเดือนมิถุนายน สะท้อนว่า การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงก่อนหน้า ที่หลายประเทศมีมาตรการปิดเมือง สำหรับการส่งออกช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ในภาพรวมหดตัวอยู่ที่ 
-7.1%YOY โดยหากหักการส่งกลับอาวุธและทองคำ การส่งออกจะหดตัวสูงถึง -10.5%YOY

สินค้าส่งออกสำคัญยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่เป็นการหดตัวที่ชะลอลง (รูปที่ 1) 
 
• การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบหดตัวในอัตราชะลอลงที่ -42.3%YOY โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่อง
เป็นเดือนที่ 9 เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอุปสงค์ในตลาดรถยนต์ที่ซบเซา ซึ่งมีการหดตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญ เช่น ออสเตรเลีย (-38.7%YOY) ญี่ปุ่น (-27.6%YOY) และฟิลิปปินส์ (-48.4%YOY)
 
• การส่งออกสินค้าเกษตรพลิกกลับมาหดตัวที่ -15.8%YOY หลังจากขยายตัว 14.1%YOY ในเดือนพฤษภาคม โดยสินค้าเกษตรหลักที่หดตัวได้แก่ ข้าว (-25.6%YOY) ยางพารา (-55.6%YOY) และน้ำตาลทราย (-57.1%YOY) อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรบางประเภทยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง (21.2%YOY) และสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง (757.8%YOY)
 
• ด้านมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ยังมีการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่หดตัว
ในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ เม็ดพลาสติก (-15.0%YOY) เครื่องใช้ไฟฟ้า (-15.2%YOY) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-20.2%YOY) เหล็กและผลิตภัณฑ์ (-30.7%YOY) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-31.8%YOY) รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูป (-36.3%YOY)
 
• ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญบางรายการสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ในเดือนมิถุนายน ได้แก่ การส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวที่ 4.6%YOY, ผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัว 10.5%YOY และการส่งออกเคมีภัณฑ์ที่ขยายตัว 0.9%YOY

รูปที่ 1 : การส่งออกรายสินค้าและรายตลาดส่วนใหญ่ยังคงหดตัว แต่เริ่มมีสัญญาณผ่านจุดต่ำสุด
 

รูปที่ 2 : สินค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยบวกและลบต่อการส่งออกในเดือน มิ.ย. 2020
 
 
ด้านการส่งออกรายประเทศ การส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญอื่น ๆ หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังญี่ปุ่น EU15 และประเทศกลุ่มอาเซียน
 
• การส่งออกไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 12.0%YOY หลังจากขยายตัว 15.3%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง
 
• การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวสูงถึง 14.5%YOY หลังจากที่หดตัวอยู่ที่ -17.3%YOY 
ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า
 
• การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -21.6%YOY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และพลาสติกและเคมีภัณฑ์
 
• การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 หดตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ -38.8%YOY หลังจากหดตัวอยู่ที่ -27.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ อัญมณีและเครื่องประดับ (ทองคำ) รถยนต์และส่วนประกอบ 
และน้ำมันสำเร็จรูป
 
• การส่งออกไปสหภาพยุโรป 15 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -22.7%YOY หลังจากหดตัวที่ -40.0%YOY ในเดือนพฤษภาคม  สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
 
• การส่งออกไปตลาด CLMV หดตัวชะลอลงที่ -17.8%YOY หลังจากหดตัวที่ -28.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเหล็กและผลิตภัณฑ์
 
• การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง หดตัวชะลอลงที่ -10.4%YOY หลังจากหดตัวสูงถึง -30.6%YOY 
ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ

ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวชะลอลงอยู่ที่ -18.2%YOY ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากหดตัวสูงถึง -34.4%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสำคัญ  ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-21.1%YOY) หมวดสินค้าเชื้อเพลิง (-30.6%YOY) สินค้าทุน (-8.2%YOY) 
 
และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-42.7%YOY) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทรงตัว
ที่ 0.0%YOY ปรับดีขึ้นหลังจากหดตัวสูงถึง -22.6%YOY ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง ทั้งนี้การนำเข้าในครึ่งปีแรกของปี 2020 หดตัวอยู่ที่ -12.6%YOY และเกินดุลการค้า 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Implication
 
การส่งออกภาพรวม (ไม่รวมทอง) ในเดือนมิถุนายนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าตามคาดหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ โดยการส่งออกเดือนมิถุนายนที่หดตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกทองคำกว่า -86%YOY ซึ่งหากหักทองคำ การส่งออก
 
จะหดตัวน้อยลงเหลือเพียง -17.3%YOY ทั้งนี้สินค้าส่งออกมีทิศทางหดตัวน้อยลงในหลายจำพวก โดยเฉพาะในหมวดเครื่องไช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้าอาหารแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรมประเภทคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรพลิกหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนตามการหดตัวของการส่งออกข้าว ยางพารา และน้ำตาลทราย 

EIC คงประมาณการส่งออกปี 2020 หดตัวที่ -10.4% โดยคาดว่าภาวะการค้าโลกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ 
ในระยะต่อไป ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กอปรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ ที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รวมถึงปัญหา supply chain disruption ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง โดยล่าสุด ข้อมูล
การส่งออกของหลายประเทศสำคัญเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับ Global PMI: export orders ที่ปรับดีขึ้นในช่วงหลัง (รูปที่ 3) สะท้อนการส่งออกไทย (ไม่รวมทองคำ) ที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้า

รูปที่ 3 : ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ภาวะการค้าโลกเริ่มส่งสัญญาณผ่านจุดต่ำสุด 
 
 
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกไทยยังมีอุปสรรคและปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ ได้แก่
 
1) ความเสี่ยงของ COVID-19 ที่จะกลับมาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งในหลายประเทศ โดยล่าสุด จากรูปที่ 4 
จะเห็นได้ว่า มีบางประเทศที่ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น หลังจากผ่อนคลายไปในช่วงก่อนหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวได้ นอกจากนี้ หากมีการระบาดรุนแรงอีกครั้ง ก็ย่อมทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทย เช่น น้ำมันสำเร็จรูป  และปิโตรเคมี ผ่านราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง

รูปที่ 4 : จากการระบาดของ COVID-19 ที่กลับมา ทำให้บางประเทศกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ยังไม่เข้มงวดมากเท่ากับในช่วงก่อนหน้า
 
 
 
2) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เริ่มกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หลังสหรัฐฯ 
ออกมาตรการกดดันจีนด้านต่าง ๆ เพื่อให้จีนทำตามข้อเรียกร้องและทำตามเป้าหมายข้อตกลงการค้าระยะแรก รวมถึงล่าสุด ที่สหรัฐฯ ได้มีการสั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมืองฮุสตัน และจีนตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองเฉิงตู ซึ่งอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งและการตอบโต้เพิ่มเติมระหว่างกันในระยะต่อไปได้

3) การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2020 ซึ่งทำให้ความไม่แน่นอนทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ 
ที่มีต่อประเทศต่าง ๆ สูงขึ้น รวมถึงความผันผวนของตลาดเงินที่อาจเกิดขึ้นได้

บทวิเคราะห์โดย...https://www.scbeic.com/th/detail/product/6963

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ :
 
ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ (kampon.adireksombat@scb.co.th)
ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและการตลาดเงิน
 
พนันดร อรุณีนิรมาน (panundorn.aruneeniramarn@scb.co.th)
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

พิมพ์ชนก โฮว (phimchanok.hou@scb.co.th)
นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 
EIC Online: www.scbeic.com
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ค. 2563 เวลา : 10:56:27
19-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราษฎร์บูรณะ

2. ตลาดหุ้นปิด (18 เม.ย.67) ลบ 5.92 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.02 จุด

3. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (18 เม.ย.67) บวก 1.83 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,368.77 จุด

4. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.ฝน 20%

5. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (17 เม.ย.67) ร่วง 19.40 เหรียญ กังวลเฟดชะลอลดดอกเบี้ย

6. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (17 เม.ย.67) ลบ 45.66 จุด กังวลทิศทางดอกเบี้ยเฟด-ผิดหวังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

7. ทองเปิดตลาด (18 เม.ย. 67) ร่วงลง 350 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,800 บาท

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (18 เม.ย.67) บวก 5.7 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,372.01 จุด

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (18 เม.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.65-36.95 บาท/ดอลลาร์

11. พรุ่งนี้ (18 เม.ย. 67) ราคาน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ปรับขึ้น 40 สต./ลิตร

12. ตลาดหุ้นปิด (17 เม.ย.67) ลบ 29.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,366.94 จุด

13. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า(17 เม.ย.67) ลบ 30.34 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,366.04 จุด

14. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับระยะสั้นที่ระดับ 2,365 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,400 เหรียญ

15. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 8:32 am