เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 8/2563


ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาด ของ COVID-19 ระลอกใหม่ หลายประเทศจึงกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่เข้มงวดมากจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเท่าช่วงก่อนหน้า ขณะที่ภาครัฐทั่วโลกยังดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 
 
ตลาดการเงินโลกยังอยู่ในภาวะยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น (risk-on sentiment) ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและราคาสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าตลาดตราสารทุนและตลาดพันธบัตรของกลุ่ม EMs อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตราสารทุนของภูมิภาคเอเชีย ก่อนที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะปรับลดลง หลังการระบาดระลอกใหม่ รวมถึงข่าวการกลายพันธุ์ของ COVID-19 สำหรับตลาดการเงินไทย เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิโดยเฉพาะตลาดหุ้น ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาหลักทรัพย์ไทยที่ยังปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าภูมิภาคในช่วงก่อน ขณะที่อัตราผลตอบแทน พันธบัตรปรับลดลงทุกระยะจากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ ประกอบกับพันธบัตรระยะสั้นมีแรงกดดัน เพิ่มเติมจากอุปทานพันธบัตรภาครัฐที่มีจำกัด ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับภูมิภาคและกลุ่ม EMs จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นสำคัญ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) ทรงตัวใกล้เคียงเดิมเทียบการประชุมครั้งก่อน
 
มองไปข้างหน้า ตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มอยู่ในภาวะ risk-on ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มผันผวนและไหลเข้าในสินทรัพย์ของกลุ่ม EMs รวมถึงไทยมากขึ้น สำหรับเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากแนวนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ที่มีท่าทีประนีประนอมกว่าเดิมและแนวโน้มการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในหลายประเทศ อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะต่อไป
 
ภาวะเศรษฐกิจไทย
 
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย((1)) ในปี 2563 จะหดตัวร้อยละ 6.6 ซึ่งติดลบน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม โดยจะกลับมาขยายตัวในปี 2564 ที่ร้อยละ 3.2 และจะขยายตัวเร่งขึ้นในปี 2565 ที่ร้อยละ 4.8 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดในครึ่งหลังของปี 2565 ปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ได้แก่
 
(1) พัฒนาการเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และสองเดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ที่ดีกว่าคาด โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า
 
(2) เครื่องชี้ตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง จำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน((2)) มีแนวโน้มลดลง โดยจำนวนผู้เสมือนว่างงาน ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 2.2 ล้านคน ต่ำกว่าช่วงที่สูงที่สุดในไตรมาสที่ 2 ที่ 5.4 ล้านคน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป
 
และ (3) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อแนวโน้มการส่งออกของไทย สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่
 
(1) ข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 รวมถึงความไม่แน่นอน ของประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่จะกระทบต่อความสามารถในการเปิดรับ
นักท่องเที่ยวต่างชาติและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
 
และ (2) ข้อสมมติการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับลดลงตามกรอบงบประมาณปี 2564 และกรอบงบเหลื่อมปีที่ประกาศออกมาต่ำกว่าคาด รวมถึงการปรับลดแผน และการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ
 
มองไปข้างหน้า ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่ประเมินไว้
จากหลายปัจจัย ได้แก่
 
(1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ในระยะสั้น รวมถึงการเข้าถึงและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในไทยที่อาจเป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งจะกระทบต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว ต่างชาติในระยะถัดไป
 
(2) แรงกระตุ้นทางการคลังที่อาจแผ่วลง จากการเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ ล่าช้า มาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่จะทยอยหมดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และกรอบระยะเวลาการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดฯ ที่จะสิ้นสุดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
 
และ (3) ความเปราะบางของฐานะการเงินในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจSMEsซึ่งหากภาคธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอและทันการณ์จากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินของภาครัฐจะส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงานและเศรษฐกิจโดยรวมได้
 
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบ โดยจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ แม้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ จะปรับสูงขึ้นตามความคืบหน้าของกระบวนการผลิตวัคซีน แต่ผลของฐานจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่สูงกว่าคาดในปี 2563 และการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรในปี 2564 ทำให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดไว้เดิมอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

(1) ประมาณการเผยแพร่ ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ได้ค านึงถึงผลกระทบของมาตรการที่เข้มงวดในจังหวัดสมุทรสาคร และมาตรการควบคุม กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ทำให้ภาคบริการได้รับผลกระทบเพียงบางส่วน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัย แต่ยังไม่รวมผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ที่กระจายวงกว้างมากขึ้นในหลายจังหวัด และผลกระทบจากการประกาศมาตรการที่เข้มงวดขึ้นที่ มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564
 
(2)ผู้เสมือนว่างงาน คือ ผู้ทำงานต่ำกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในภาคเกษตร และต่ ากว่า 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นอกภาคเกษตร 
 
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
 
คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย รวมถึง มาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
- การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดรุนแรง จะกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยได้มาก ดังนั้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการ อย่างใกล้ชิดและประเมินความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการลงทุน ด้านสาธารณสุขเชิงรุก ทั้งการตรวจ ติดตาม และคัดกรอง รวมถึงการลงทุนด้านวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสและความรุนแรงของการระบาดซ้ำและสามารถเปิดประเทศได้เร็วขึ้น เป็นการใช้จ่าย ทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าและสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
- การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจและกลุ่มพื้นที่ จึงควรติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจเชิงลึกเพิ่มเติม อาทิ รายได้ของแรงงานอาชีพอิสระนอกภาคเกษตร โดยการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่มมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ การใช้กลไกการค้ าประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่อ (บสย.) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องที่ตรงจุดและทันการณ์นอกจากนี้แม้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินจะเพิ่มต้นทุนทางการคลังในระยะสั้น แต่จะช่วยพยุงการจ้างงาน เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว (scarring effects) ซึ่งช่วยลดต้นทุน ของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้
 
- ค่าเงินบาทยังเผชิญความท้าทายในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในระยะสั้น ตลาดการเงินโลก ยังอยู่ในภาวะ risk-on และเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็วและกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ภาคธุรกิจจึงควรป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินและเร่งปรับตัวเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเชิงมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะลดการพึ่งพาการแข่งขันด้านราคา คณะกรรมการฯ เห็นควรให้เร่งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (new FX ecosystem) เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุลมากขึ้น นักลงทุนไทยลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัว และผู้ให้บริการแข่งขันเพิ่มขึ้น
 
- มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ การที่ระดับหนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นในระยะปานกลางไม่ได้สร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก (1) หนี้สาธารณะของไทยในช่วงก่อนการระบาดอยู่ในระดับต่ำ (2) อายุหนี้เฉลี่ยยาวประมาณ 10 ปี (3) หนี้เกือบทั้งหมดเป็นหนี้สกุลเงินบาท และ(4) แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ณ ราคาประจำปี(nominal GDP growth) สูงกว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของรัฐบาล นอกจากนี้ ไทยมีระดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+ และมีมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับมีเสถียรภาพ (stable outlook) คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากการก่อหนี้ของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตและเอื้อให้แนวโน้มหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีความยั่งยืนได้ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาปกติ รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลังผ่านการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายเพื่อสนับสนุนความยั่งยืน ทางการคลังในระยะยาวต่อไป
 
การดำเนินนโยบายการเงิน
 
คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นกว่าคาด แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้เพื่อรักษาขีดความสามารถ ในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ยังเปราะบาง จึงเห็นควรให้ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยผ่านการผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (new FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้น
 
คณะกรรมการฯ เห็นว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่องมาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์อาทิ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุง โครงสร้างหนี้ให้เกิดผลในวงกว้าง สำหรับมาตรการการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงควรเร่งเบิกจ่ายและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางอย่างตรงจุด รวมถึงควรเร่งดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขเชิงรุกและจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้เพียงพอ เพื่อจำกัดผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจ
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นของนโยบายด้านอุปทานเพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ภายหลังการระบาดของ COVID-19 ที่โครงสร้างเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการยกระดับทักษะแรงงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลรวมถึงเร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว
 
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐความเปราะบางในตลาดแรงงาน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศความคืบหน้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

LastUpdate 06/01/2564 12:18:30 โดย : Admin
25-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (24 เม.ย.67) บวก 3.64 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.10 จุด

2. ประกาศ กปน.: 27 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (24 เม.ย.67) บวก 3.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.90 จุด

4. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ 2,260 เหรียญ และแนวต้านที่ 2,335 เหรียญ

5. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (23 เม.ย.67) ร่วง 4.30 เหรียญ คลายความกังวลตะวันออกกลาง-จับตาเงินเฟ้อและGDPสหรัฐ

6. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (23 เม.ย.67) พุ่งขึ้น 263.71 จุด ขานรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนแข็งแกร่งเกินคาด

7. ทั่วไทยมีฝนฟ้าคะนอง ภาคเหนือ 30% ภาคอีสาน-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่ง ตต. 20% ภาคใต้ ฝั่ง ตอ.10% กรุงเทพปริมณฑล ฝนเล็กน้อยบางแห่ง

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.80-37.05 บาท/ดอลลาร์

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (24 เม.ย.67) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 36.93 บาทต่อดอลลาร์

10. ทองเปิดตลาด (24 เม.ย. 67) ปรับขึ้น 100 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 40,950 บาท

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (24 เม.ย.67) บวก 7.26 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.72 จุด

12. ประกาศ กปน.: 25 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันตก)

13. ประกาศ กปน.: 25 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนประชาร่วมใจ

14. ตลาดหุ้นปิด (23 เม.ย.67) บวก 7.94 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,357.46 จุด

15. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (23 เม.ย.67) บวก 11.57 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.09 จุด

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 9:29 am