เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ เศรษฐกิจและการลงทุนของอินเดียเติบโตสูง... โน้มนำการส่งออกไทยไปอินเดียปี' 64 เร่งตัว 40%


ประเด็นสำคัญ 

- อินเดียไม่เพียงเป็นประเทศที่น่าสนใจด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแต่ในปี 2563 ที่ผ่านมายังดึงดูด FDI ไหลเข้าประเทศสูงจนกลายเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การลงทุนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาหลังจากนี้โดยเฉพาะธุรกิจบริการเกาะกระแสดิจิทัล E-commerce และ ICT การผลิตสินค้าเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนมีบทบาทในการพลิกโฉมโครงสร้างการผลิตอินเดียให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก อานิสงส์ประเทศผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางต่างๆ รวมถึงไทยที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับการผลิตอินเดีย
 
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้นการส่งออกไทยไปอินเดียปี 2564 ได้อานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เป็นหลักทำให้ขยายตัวราวร้อยละ 40 YoY แตะมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7,700 ล้านดอลลาร์ฯ ในระยะกลาง-ยาว หาก FDI เข้าสู่อินเดียต่อเนื่องจนอินเดียสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเทคโนโลยีได้อย่างมีนัยสำคัญ เปิดโอกาสให้ไทยเป็นผู้สนับสนุนสินค้าขั้นกลางให้แก่ประเทศในเอเชียใต้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบยานยนต์ 
 

เศรษฐกิจอินเดียไตรมาส 2/2564 แม้เผชิญการระบาดหนักของโควิดสายพันธุ์เดลต้า แต่สามารถกลับมาขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 20.1 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลของการฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวรุนแรงร้อยละ 24.4 ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของอินเดียทำสถิติใหม่รายเดือนแตะ 35.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกรกฎาคม 2564 อีกทั้งรายงาน World Investment Report 2021ของ UNCTAD ระบุว่าอินเดียได้ขยับขึ้นมาเป็นปลายทางการลงทุนที่มี FDI หลั่งไหลเข้าสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลกในปี 2563 (จากอันดับที่ 8 ในปี 2562) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการลงทุนในอินเดียที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่าอินเดียกำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางการผลิตของโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะช่วยหนุนเศรษฐกิจอินเดียแล้ว ยังต้องมีการนำเข้าปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหลายประเทศที่ส่งออกจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวรวมถึงไทย โดยมีประเด็นสนับสนุน ดังนี้
 
- โครงสร้างการผลิตของอินเดียเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่มีนโยบาย Make in India ในปี 2557 ที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน ดึงดูดการลงทุนและขับเคลื่อนการผลิตในประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้นจากในอดีต แต่การลงทุนที่เข้ามาก็ยังอยู่ในกลุ่มการผลิตไม่ซับซ้อน ซึ่งในปี 2558 หลังจากใช้นโยบาย มียอดการลงทุนใหม่ (Greenfield FDI) เข้าสู่อินเดียพุ่งสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้าสหรัฐฯ และจีนได้เป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน อาทิ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน หลังจากนั้นในปี 2560 อินเดียปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax: GST หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม) ครั้งสำคัญช่วยลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีของภาคธุรกิจทำให้ภาคธุรกิจมีภาระต้นทุนทางภาษีลดลง นับว่าความพยายามดังกล่าวของภาครัฐทำให้อินเดียเป็นประเทศน่าลงทุนขยับขึ้นมาติดอันดับ 63 ของโลก (ตามรายงาน Ease of Doing Business 2020) จากที่เคยรั้งอยู่ในอันดับที่ 100 ในปี 2560
 
- โควิด-19 และสงครามการค้าเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่ทำให้อินเดียเริ่มมีบทบาทในเวทีการผลิตสินค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะ FDI ที่เข้าสู่อินเดียอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 1 ปี สะท้อนว่าอินเดียกลายเป็นอีกตัวเลือกที่เรียกได้ว่าโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ และจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นอีกในทศวรรษข้างหน้า โดยเม็ดเงินลงทุนที่ทยอยเข้าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาล้วนเป็นผลจากการที่นักลงทุนทั่วโลกมีแผนกระจายการลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัญหาสงครามการค้า ภัยธรรมชาติและโรคระบาด โดยในปี 2563 มี FDI เข้าสู่อินเดียขยายตัวถึงร้อยละ 27 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 64.0 พันล้านดอลลาร์ฯ สวนทางกับ FDI ทั่วโลกหดตัวร้อยละ 35 จนอินเดียขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 ของโลก (จากอันดับที่ 8 ในปี 2562) เป็นรองแค่สหรัฐฯ จีน ฮ่องกงและสิงคโปร์ สัญญาณดังกล่าวชี้ชัดว่าอินเดียมีแรงดึงดูดด้วยจุดเด่นที่ประเทศอื่นยากจะเลียนแบบ เป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ทั้งยังเหมาะแก่การการตั้งโรงงานผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่อุดมด้วยแรงงานมากถึง 472 ล้านคน มีค่าจ้างแรงงานต่ำเพียง 2.8 ดอลลาร์ฯ ต่อวัน (ต่ำกว่าไทย จีน และเวียดนาม) 
 
- กระแส FDI ที่เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพการผลิตของอินเดียในด้านการผลิตสินค้าเทคโนโลยีตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันให้เด่นยิ่งขึ้น ซึ่ง FDI กลุ่มใหม่ที่เข้ามาสู่อินเดียในปีที่ผ่านมาเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในกลุ่มธุรกิจ ICT ตอบโจทย์กระแสเทคโนโลยีดิจิทัลที่มาแรงในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะการลงทุนจากผู้ประกอบการ E-commerce รายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจด้านดิจิทัลในภาคส่วนต่างๆ อาทิ การเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับธุรกิจเกษตรและระบบดูแลลสุขภาพให้ทันสมัย ซึ่งการผลิตสินค้าเหล่านี้จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนทางการลงทุนในระยะต่อไป ต่อยอดจากการผลิตเดิมที่อินเดียมีศักยภาพโดดเด่นในด้านการเป็นผู้ผลิตยารักษาโรคได้ในปริมาณที่มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นทั้งผู้ผลิตวัคซีนถึงร้อยละ 50 ของความต้องการวัคซีนโลก และเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญในราคาที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบสาธารณะสุขของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ อินเดียยังสามารถต่อยอดผลิตยานยนต์ได้อีกจากที่ก็มีศักยภาพสามารถผลิตยานยนต์ได้ปีละ 26.36 ล้านคัน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่คิดเป็นสัดส่วนมากสุดร้อยละ 80 ของการผลิตยานยนต์อินเดียปี 2563
 
- เม็ดเงินลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีช่วยเชื่อมโยงการผลิตอินเดียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนโลกได้มากขึ้นจากที่ในปัจจุบันอินเดียแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับระบบการผลิตโลกเท่าใดนัก เนื่องจากอินเดียยังขาดศักยภาพในการผลิตสินค้าซับซ้อนสำหรับการส่งออก บทบาทของอินเดียในตลาดโลกจึงเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 20 มีมูลค่าส่งออกที่ 2.75 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยสินค้าหลักยังคงเป็นสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นและสินค้าที่อินเดียมีศักยภาพ อาทิ น้ำมัน โภคภัณฑ์ แร่ เคมีภัณฑ์ ยารักษาโรค ข้าว ฝ้าย อย่างไรก็ดี มีสัญญาณว่าห่วงโซ่การผลิตของอินเดียจะทยอยแข็งแกร่งขึ้นอีกจนขับเคลื่อนการผลิตของอินเดียให้เด่นยิ่งขึ้น จากการเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติเกาหลีเมื่อปีที่ผ่านมานับว่ามีบทบาทสำคัญที่จะโน้มนำการลงทุนผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องตามเข้าอินเดียเพิ่มขึ้น จากที่อินเดียมีโรงงานผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ตั้งแต่ปี 2557
 
โดยเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้นจนมีมูลค่า 3.9 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่มีสัดส่วนส่งออกในตลาดโลกเพียงร้อยละ 0.7  นอกจากนี้ ในปี 2564 ยังมีนักลงทุนขยายการผลิตและการวิจัยพัฒนาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ การลงทุนในอุตสาหกรรม IT ของนักลงทุนที่ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำของโลก และการลงทุนในกลุ่มที่เป็นซัพพลายเชนของการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 

จะเห็นได้ว่า อินเดียเริ่มกลายเป็นเป้าหมายการลงทุนที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แม้จะมีข้อจำกัดการผลิตในประเทศอยู่อีกมากแต่เม็ดเงินลงทุนที่ทยอยเข้ามาจะโน้มนำให้โครงสร้างการผลิตของอินเดียเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนโลกได้มากกว่าเดิม จากที่ก่อนหน้านี้ได้ถอนตัวจากความตกลงการค้าเสรี RCEP ที่ทำให้อินเดียพลาดในการเข้าร่วมกับซัพพลายเชนที่สำคัญของฝั่งเอเชีย ถึงแม้ว่าอินเดียจะมี FTA กับหลายประเทศ อาทิ อาเซียน ชิลี อัฟกานิสถาน ภูฏาน เนปาล สิงคโปร์ และศรีลังกา แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีการผลิตต้นน้ำที่จะเชื่อมโยงการผลิตของอินเดียกับนานาชาติได้ ขณะที่ต้องจับตาพัฒนาการทางเศรษฐกิจของ Quadrilateral Security Dialogue (Quad) ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของประเทศที่เป็นทั้งเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น มีออสเตรเลียเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแร่ธาตุสำคัญ และมีอินเดียที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ ถ้าหากการพบปะผู้นำของกลุ่ม Quad อย่างไม่เป็นทางการในช่วงเดือนกันยายน 2564 สามารถนำไปสู่การเปิดเสรีการค้า/การลงทุน หรือมีแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนอาจทำให้อินเดียมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตโลกนับจากนี้ไป 
 
สำหรับไทยในเวลานี้อินเดียเป็นตลาดอันดับ 10 ของไทย และเป็นตลาดสำคัญที่สุดของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการส่งออกของไทยไปอินเดียในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 เติบโตสูงถึงร้อยละ 57.5 (YoY) มีมูลค่า 4,486 ล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่าระหว่างกันจะมีความตกลง FTA มายาวนาน แต่ความสัมพันธ์ผ่านการส่งออกของไทยไปยังอินเดียมีสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2.9 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบขั้นต้น อาทิ ทองแดง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เพื่อสนองการผลิตและการบริโภคของอินเดียที่เพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ด้วยแรงขับเคลื่อนของตลาดโลกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจอินเดีย ประกอบกับสินค้าไทยเป็นวัตถุดิบขั้นต้นที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าเพื่อใช้ภายในประเทศอินเดีย
 
ดังนั้นอินเดียจึงน่าจะเป็นอีกตลาดที่ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับปกติก่อนโควิด-19 โดยในช่วงที่เหลือของปีการส่งออกอาจเติบโตเชื่องช้าจากฐานปีก่อนที่ปรับสูงขึ้นแต่ตลอดปี 2564 คาดว่ามูลค่าส่งออกไปอินเดียจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไม่ต่ำกว่า 7,700 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 40 สำหรับในระยะข้างหน้า หากอินเดียมีพัฒนาด้านการลงทุนเติบโตอย่างน่าสนใจเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คงโน้มนำความต้องการสินค้าขั้นกลางจากไทยเข้าไปทำตลาดได้ตามมาจากปัจจุบันที่มีมูลค่าค่อนข้างน้อยจำกัดเพิ่มเติมจากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นกลุ่นชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยได้ขยายตลาดใหม่ในเอเชียใต้ได้อีกทางหนึ่ง
 

LastUpdate 07/09/2564 18:51:58 โดย : Admin
20-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. พรุ่งนี้ (20 เม.ย.) ราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้น 50 สต./ลิตร ตามมติ กบน. มีผลเที่ยงคืนนี้

2. ตลาดหุ้นปิด (19 เม.ย.67) ลบ 28.94 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,332.08 จุด

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (19 เม.ย.67) ลบ 25.09 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,335.93 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,385 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,425 เหรียญ

5. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.20%

6. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวก 9.60 เหรียญ รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

7. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวกแค่ 22.07 จุด เจ้าหน้าที่เฟดตบเท้าหนุนไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.75-37.05 บาท/ดอลลาร์

9. ตลาดหุ้นไทยเปิด (19 เม.ย.67) ลบ 20.39 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,340.63 จุด

10. ทองเปิดตลาด (19 เม.ย. 67) พุ่งขึ้น 550 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 42,500 บาท

11. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์

12. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราษฎร์บูรณะ

13. ตลาดหุ้นปิด (18 เม.ย.67) ลบ 5.92 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.02 จุด

14. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (18 เม.ย.67) บวก 1.83 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,368.77 จุด

15. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.ฝน 20%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:04 pm