เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ B2C E-commerce กลุ่มสินค้า ปี'64 ขยายตัวกว่า 30% ผู้ประกอบการเผชิญโจทย์กำลังซื้อและการแข่งขันที่ยากขึ้น


ประเด็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้มูลค่าตลาด B2C E-commerce มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าธุรกิจค้าปลีกในภาพรวม แต่สัญญาณดังกล่าวส่งผลต่อภาพการแข่งขันที่ยากและรุนแรงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เล่น ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และการเติบโตของ E-commerce อาจจะไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับช่องทางการซื้อขายสินค้าจากเดิมที่ซื้อผ่านช่องทางหน้าร้าน (Physical store) มาเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและของใช้ส่วนตัว จึงเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวในแต่ละช่องทางการขายให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งหากรายได้ที่เข้ามาไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอ น่าจะเผชิญความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ
 
 
การซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ B2C E-commerce  เร่งตัวขึ้นในช่วง 2 ปีมานี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าตลาด B2C E-commerce เฉพาะสินค้าปี 2564 น่าจะขยายตัว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ซื้อและความหลากหลายของสินค้า พร้อมกับการปรับตัวของผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้าออนไลน์ (Last-mile delivery) รวมถึงช่องทางการชำระเงิน (Payment) ที่อำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่มจะได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงโควิด และมีสัดส่วนมูลค่ากว่า 33% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม 23% ที่เหลืออีกกว่า 44% เป็นกลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือ Non-food เช่น สินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของตกแต่ง รวมถึงของใช้ส่วนตัว (เช่น แชมพู ยาสีฟัน สบู่)
 
คาดการณ์มูลค่าตลาด B2C E-commerce กลุ่มสินค้าแยกรายประเภทสินค้า
 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าตลาด B2C E-commerce จะยังคงมีแนวโน้มขยายตัว แต่ผู้ประกอบการแต่ละรายน่าจะเผชิญโจทย์ในการดำเนินธุรกิจที่ท้าทายขึ้น จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนและปรับตัว หากรายได้ที่เข้ามาไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอ จนกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่
 
- จำนวนผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญการแข่งขันที่ยากและลำบากขึ้น เพื่อแย่งชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีจำกัด แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะกระตุ้นให้ตลาด B2C E-commerce เร่งตัวขึ้นเร็ว แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในวงกว้างเช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นจากความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต และการเติบโตของธุรกิจ E-commerce อาจจะไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่อาจเป็นการปรับช่องทางการซื้อขายสินค้าจากเดิมที่ซื้อผ่านช่องทางหน้าร้าน (Physical store) มาเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและของใช้ส่วนตัวที่คาดว่ายอดขายออนไลน์ในปี 2564 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% YoY ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้บริโภคบางส่วนก็อาจจะกลับไปใช้จ่ายผ่านช่องทางเดิมโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม แต่อาจจะไม่มากเท่ากับช่วงก่อนโควิดเพราะผู้บริโภคได้มีการปรับตัวและคุ้นชินกับช่องทางออนไลน์บ้างแล้ว 
 
ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการวางแผนและปรับตัวในแต่ละช่องทางการขาย สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของการทำการตลาดแบบ Omni-channel หรือการเชื่อมแพลตฟอร์มออนไลน์-ออฟไลน์เข้าด้วยกันจะมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้ได้ฐานข้อมูล (Big data) และสิ่งสำคัญคือ ความสำเร็จหรือผลตอบแทนที่จะได้รับหลังจากการลงทุนเรื่อง Big data ที่น่าจะให้ภาพที่ชัดเจนแก่ธุรกิจมากขึ้น
 
 
- การซื้อขายออนไลน์ของสินค้าแต่ละกลุ่มยังมีแนวโน้มขยายตัวจากสัดส่วนที่ยังไม่สูงเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวม แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับการปรับตัวของผู้บริโภค รวมถึงความพร้อมของผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจด้วย หากพิจารณาสัดส่วนมูลค่าสินค้าออนไลน์แต่ละประเภทเทียบกับมูลค่าตลาดรวมสินค้าประเภทนั้น พบว่า สินค้าส่วนใหญ่ยังมีสัดส่วนไม่เกิน 35% จึงยังมีโอกาสที่สินค้าแต่ละกลุ่มจะขยายส่วนแบ่งตลาดไปยังช่องทางออนไลน์ได้อีกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม และของใช้ส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันยังมีสัดส่วนที่เล็กมาก และเป็นสินค้าจำเป็นที่คาดว่าผู้บริโภคจะยังคงมีการใช้จ่ายผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มสินค้าแฟชั่น หรือสุขภาพและความงาม ที่สัดส่วนอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วจากปัจจัยด้านกำลังซื้อ
 
อย่างไรก็ตาม การขยายส่วนแบ่งตลาดดังกล่าว อาจจะต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคควบคู่ไปกับความพร้อมของผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจสำคัญที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอย่างธุรกิจจัดส่งสินค้า หรือ Last-mile delivery ได้รับผลกระทบ จนทำให้การจัดส่งสินค้าในบางพื้นที่ต้องหยุดชะงักชั่วคราว หรือใช้ระยะเวลาในการจัดส่งที่นานขึ้น ส่งผลกระทบต่อมายังผู้ประกอบการ E-commerce แต่ละรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ที่แม้ว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ได้ อีกทั้งราคาค่าขนส่งสินค้ากลุ่มอาหารยังค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพสินค้า ระบบการชำระเงิน รวมถึงคุณภาพในการให้บริการของพนักงานขาย พนักงานจัดส่ง ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 
 
ดังนั้น หากธุรกิจมีการปรับตัวและลดปัญหาหรือคลายความกังวลในจุดต่างๆ ของห่วงโซ่อุปทานได้ ก็น่าจะทำให้สัดส่วนมูลค่าสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เช่น การขยายคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ๆ การขยายการลงทุนการจัดส่งสินค้าในกลุ่มอาหารเพื่อรองรับกับความต้องการ การสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพของสินค้า รวมถึงการควบคุมหรือรักษาคุณภาพในการให้บริการของพนักงานที่สม่ำเสมอ เป็นต้น
 
สัดส่วนของมูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์ที่สำคัญแต่ละประเภทเทียบกับมูลค่าตลาดรวม
 
 
 
- ในระยะข้างหน้า เทคโนโลยีใหม่ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด น่าจะทำให้ภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไปอีก และยังคงตัดสินได้ยากว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด เพราะแต่ละรายต่างก็เผชิญความท้าทายหรือมีโจทย์เช่นกัน ปัจจุบัน การแข่งขันของผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม E-commerce ไม่ว่าจะเป็น 1) E-market place ที่แม้ว่ารายได้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็ยังประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องราว 30-40% ต่อปี (ปี 2561-2564) หรือแม้แต่ 2) กลุ่ม Modern trade ออนไลน์ ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เหมือนจะได้เปรียบมากขึ้น เพราะผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้ากลุ่มที่เป็น Food และสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นและยังมีโอกาส แต่ก็ต้องเผชิญโจทย์การแข่งขันกับผู้ผลิตหรือ suppliers ที่หันมาขายผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน รวมถึง 3) แพลตฟอร์ม Social commerce ที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs ก็จะมีทั้งผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการรายใดจะสามารถปรับตัวและสร้างความแตกต่างได้มากกว่ากัน 
 
นอกจากนี้ ในอนาคต หากพฤติกรรมของผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันและอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเดิมที่เข้ามาพร้อมกับการพัฒนาหรือมองหารูปแบบการทำธุรกิจค้าปลีกใหม่ๆ เพื่อมาแข่งขันกับตลาดเดิม และท้ายที่สุดแล้ว อาจจะตัดสินได้ยากว่าใครจะเข้ามามีบทบาทหรือเป็นผู้นำตลาด หรือจะมีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการตอบรับของผู้บริโภค ประสบการณ์หรือความพึงพอใจที่ผู้บริโภคจะได้รับ 
 
ดังนั้น ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ประกอบการให้ตอบพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ต่างมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นยอดขายในประเทศ รวมถึงการมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการเพิ่มรายได้ เช่น Cross-border E-commerce หรือแม้แต่การขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เช่น การเงิน โลจิสติกส์ เป็นต้น
 

LastUpdate 14/09/2564 17:28:44 โดย : Admin
26-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (26 เม.ย.67) ลบ 2.25 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.02 จุด

2. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,310 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,350 เหรียญ

3. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์

4. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.90-37.15 บาท/ดอลลาร์

5. ทองปิดบวก $4.10 รับดอลล์อ่อน-แรงซื้อลดความเสี่ยง

6. ตลาดหุ้นไทยเปิด (26 เม.ย.67) บวก 0.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.95 จุด

7. ดาวโจนส์ปิดร่วง 375.12 จุดหลัง GDP สหรัฐชะลอตัว - เงินเฟ้อพุ่ง

8. ทองพุ่ง! ราคาทองวันนี้ 26/4/67 ครั้งที่ 1 เพิ่มขึ้น 100 บาท ทองคำแท่งขายออกบาทละ 40,850 บาท

9. ทั่วไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 43 องศาเซลเซียส ฟ้าหลัว ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และลมกระโชกแรงตลอดช่วง

10. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

11. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

12. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

13. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

14. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ลบ 42.77 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งฉุดตลาด บดบังผลประกอบการ บจ.แกร่ง

15. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 เม.ย.67) ร่วง 3.70 เหรียญ นักลงทุนคลายกังวลความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:39 pm