หุ้นทอง
บทความ ก.ล.ต. เรื่อง ''มองไปข้างหน้ากับการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์''


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุน  นับแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 บทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต. เพิ่มขึ้นตามลำดับผ่านการเป็นผู้กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายจนรวมเป็น 6 ฉบับในปัจจุบัน  ได้แก่  (1) พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (2) พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นนายทะเบียนตั้งแต่ปี 2543 (3) พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 (4) พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 (5) พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 และ (6) พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เป็นลำดับ

จากการผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนจะมีอายุครบ 3 ทศวรรษในปีหน้า (2565) ก.ล.ต. ตระหนักและเข้าใจความคาดหวังที่สังคมมีต่อบทบาทขององค์กรในการบังคับใช้กฎหมายที่อยากเห็นความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายที่เฉียบขาด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วยมาตรการที่สามารถป้องปรามผู้กระทำความผิดหรือบุคคลอื่น ๆ ในการที่จะกระทำความผิดเช่นนั้น (deterrence) ในขณะที่เศรษฐกิจและสังคมโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง ในส่วนของการทำธุรกรรมทางการเงินและในตลาดทุนมีความซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ และมุ่งไปสู่ลักษณะที่ไร้พรมแดน นับเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน

ในภาคตลาดทุนเองก็พบลักษณะการกระทำผิดที่มีการวางแผน การอำพรางพยานหลักฐาน และปิดบังซ่อนเร้น เพื่อให้ยากต่อการติดตามตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมเงินสด การใช้อินเทอร์เน็ตในการซื้อขาย ใช้บัญชีในการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากในหลายบริษัทหลักทรัพย์ และใช้บัญชีธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายมีความซับซ้อน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้คาดการณ์ทิศทางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ในเชิงรุก นำมาวางแผนและพัฒนาการทำงานมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายนั้นๆ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “การป้องกัน” และ “การตรวจจับ” โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคดีแพ่งและสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยได้มีการลงนาม MoU ระหว่างกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ในด้านการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดในตลาดทุน การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการป้องกันการใช้ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือสนับสนุนการก่อการร้าย

ในด้านการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน ก.ล.ต. ได้หารือและประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการใช้มาตรการขึ้นเครื่องหมายเพื่อเตือน การปรับมาตรการกำกับดูแลต่างๆ เพื่อป้องปรามการสร้างราคา รวมทั้งการร่วมหารือตั้งแต่เริ่มเกิดเคส เพื่อให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น เช่น การทบทวนความเหมาะสมของสัดส่วนจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด (Free Float) การปรับปรุงปัจจัยที่จะทำให้ใช้มาตรการต่าง ๆ ได้รวดเร็วและเหมาะสมมากขึ้น การเพิ่มบทบาทให้บริษัทหลักทรัพย์กำกับดูแลเข้มงวดมากขึ้น ในการทำความรู้จักลูกค้าและกำกับดูแลลูกค้าเพื่อป้องกันการกระทำที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น และในส่วนของ ก.ล.ต. ก็ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงานและพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัย (e-enforcement) เพื่อใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจจับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้ง หาความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนได้เร็วขึ้น

ในการทำงานของ ก.ล.ต. ที่เน้นในเชิงรุก และมุ่งผลสำเร็จของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือนั้น ก.ล.ต. ยึดมั่นในการดำเนินการทุกขั้นตอนโดยชอบด้วยกฎหมาย (Due Process of Law) เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแสดงพยานหลักฐานตามสิทธิอันพึงมี มีการดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยรอบด้านด้วยความรอบคอบและรัดกุม มีกระบวนการพิจารณาที่ผ่านการกลั่นกรองและรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ตั้งแต่กลางปี 2562 ก.ล.ต. สามารถดำเนินการแล้วเสร็จไปหลายกรณี ทั้งการดำเนินคดีอาญาและการดำเนินคดีทางแพ่ง ในฐานความผิดต่าง ๆ เช่น สร้างราคาหลักทรัพย์ ใช้ข้อมูลภายใน แพร่ข่าวเท็จ และทุจริต

การปรับปรุงการทำงานทั้งในภาพของการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ และในองค์กร ก.ล.ต. ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ยังไม่อาจจะสนับสนุนการทำงานของ ก.ล.ต. ให้เท่าทันพลวัตของโลกไปได้ทั้งหมด เนื่องจากการทำงานของหน่วยงานกำกับและพัฒนาตลาดทุนต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานในด้านกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะให้ผลสำเร็จ แต่ก็ต้องดำเนินการ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เพื่อส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัลและยกระดับประสิทธิภาพการกำกับดูแลให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมทั้งสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของตลาดทุนในยุคดิจิทัล และให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมกับส่งเสริมการระดมทุนและการประกอบธุรกิจในตลาดทุน และการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในชั้นก่อนฟ้องคดี โดยให้เจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในความผิดฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหลักทรัพย์ความผิดฐานสร้างราคาหรือปริมาณหลักทรัพย์ และความผิดฐานบอกกล่าวเผยแพร่หรือรับรองข้อความเท็จ เนื่องจาก ก.ล.ต. มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในการตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในชั้นก่อนฟ้องคดีต่อศาล และยังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้มีการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบของ ก.ล.ต. เพื่อสนับสนุนให้การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยปิดการรับฟังความเห็นร่างกฎหมายไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอร่างกฎหมายไปยังกระทรวงการคลัง

เพื่อให้บรรลุพันธกิจขององค์กรที่ว่า “กำกับและพัฒนาตลาดทุนให้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และสังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้”  ผู้บริหารและพนักงาน ก.ล.ต. มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มความสามารถ เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต พร้อมเปิดรับความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลาย ตลอดจนคาดการณ์ทิศทางของความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ไปข้างหน้า เพื่อนำมาวางแผนและพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมการแสวงหาและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการป้องกัน การป้องปราม และการตรวจจับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน ทั้งหมดนี้ทำด้วยความยึดมั่นในการทำงานบนกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย และหลักการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2564 เวลา : 17:28:04
11-07-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ประกาศ กปน.: 17 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนศรีนครินทร์ตัดถนนหนามแดง-บางพลี

2. ประกาศ กปน.: 19 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนประเสริฐมนูกิจ

3. ตลาดหุ้นปิด (9 ก.ค.68) ลบ 5.25 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,110.40 จุด

4. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (9 ก.ค.68) ลบ 4.05 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,111.60 จุด

5. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 3,290 เหรียญ และ 3,340 เหรียญ

6. ทองเปิดตลาดวันนี้ (9 ก.ค.68) ลดลง 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 51,800 บาท

7. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (9 ก.ค.68) บวก 0.60 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,116.25 จุด

8. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (8 ก.ค.68) ร่วง 25.90 เหรียญ เหตุบอนด์ยีลด์พุ่ง-ดอลลาร์แข็งค่า

9. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (8 ก.ค.68) ร่วง 165.60 จุด ทรัมป์ไม่ขยายเส้นตายรีดภาษีการค้า 1 ส.ค.

10. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 ก.ค.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 32.57 บาทต่อดอลลาร์

11. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.75บาท/ดอลลาร์

12. พยากรณ์อากาศวันนี้ (9 ก.ค.68) ฝนตกหนักในภาคตะวันออก 70% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคอีสาน-ภาคกลาง 60% ภาคใต้ 40-60%

13. ประกาศ กปน.: 12 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

14. ตลาดหุ้นปิด (8 ก.ค.68) ลบ 7.35 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,115.65 จุด

15. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 3,300 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,350 เหรียญ ยังคงแนะนำให้ทำกำไรในกรอบแคบ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 11, 2025, 9:00 am