เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี'65 คาดขยายตัว 20% ไทยควรเร่งสร้างแบรนด์เจาะตลาดกลุ่มพรีเมี่ยมมากขึ้น


ประเด็นสำคัญ

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2565 สามารถแตะระดับที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตราว 20% ชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2564 ที่คาดว่าจะโต 23% ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 3 ของโลก จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่องทั้งปริมาณการเลี้ยงสัตว์ที่ยังคงเพิ่มขึ้น และพฤติกรรม Pet Humanization ที่เจ้าของใส่ใจสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวและพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนความได้เปรียบทางด้านภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงที่สำคัญบางประเทศ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น
 
 
• อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตามไม่ว่าจะเป็น ราคาพลังงานที่สูงขึ้นและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงโดยเฉพาะคู่แข่งอย่างเวียดนามที่เริ่มมีบทบาทในตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องพัฒนาและเร่งสร้างแบรนด์ และอาจมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอาหารสัตว์พรีเมี่ยมและสอดรับกับเทรนด์ในระยะข้างหน้า ที่สำคัญคือการเตรียมการรองรับความต้องการของตลาดนำเข้าหลักทั่วโลกที่คงจะมีการกำหนดมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน (CO2) รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เป็นต้น
 
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่รุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องปิดกิจการจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจที่เติบโตสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน คือ ธุรกิจส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง  ซึ่งได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 ที่มาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั่วโลกอย่างชัดเจน (New Normal) ทำให้คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ชีวิตและทำงานที่บ้านมากขึ้น อาจก่อให้เกิดความเครียดและความเหงาตามมา การเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อนจึงได้รับความนิยมมาก 
 
สะท้อนจากในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันเลี้ยงสัตว์เพิ่มกว่า 11 ล้านตัว  เช่นเดียวกันกับ  ชาวสหราชอาณาจักรที่มีการเลี้ยงสัตว์เพิ่มกว่า 3.2 ล้านตัว  จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นผู้นำการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9.4%  ของมูลค่าตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลก รองจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการของไทยมีข้อได้เปรียบคู่แข่งจากปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่เป็นผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตรและประมง เช่น แป้ง ธัญพืช และเศษอาหารทะเล อีกทั้งผู้ประกอบการไทยยังมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตที่บางส่วนสามารถต่อยอดจากการผลิตอาหาร โดยเฉพาะการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง ตลอดจนต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญที่เป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และไทยยังได้เปรียบด้านภาษีจากการมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญบางประเทศ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น อินเดีย โดยรวมคิดเป็น 47%  ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทั้งหมด 
 
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยยังเห็นโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2565 สามารถแตะระดับ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวราว 20% ชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2564 ที่คาดว่าจะโต 23% ขึ้นเป็นผู้นำส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 3 ของโลก เป็นผลมาจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังขยายตัว โดยเฉพาะจากตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงหลักของไทย คือ สหรัฐอเมริกาและอาเซียนที่มีแนวโน้มความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะข้างหน้าคาดว่าไทยยังคงสามารถครองส่วนแบ่งหลักของตลาดต่อไปได้ ขณะที่ญี่ปุ่น แม้แนวโน้มจำนวนสัตว์เลี้ยงจะลดลงแต่มีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและราคาต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้นแทน นอกจากนี้ ยังมีตลาดใหม่ที่น่าสนใจคือ อินเดีย ซึ่งสัดส่วนการส่งออกไปอินเดียเทียบกับตลาดส่งออกหลักของไทยยังไม่มากนัก แต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอินเดียมีความต้องการอาหารสัตว์ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้น แต่กำลังการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
 
นอกจากนี้โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (Omicron) ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน คาดว่ายังคงเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง และในระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโต คือ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีจำนวนผู้สูงอายุและคนโสดเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสังคมในปัจจุบันมีขนาดครอบครัวที่เล็กลงทำให้คนเลี้ยงสัตว์มากขึ้น อีกทั้งแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่เลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกของครอบครัว (Pet Humanization) มีมากขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงและพร้อมจะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาสูงเพื่อสัตว์เลี้ยง 
 

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงจะยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่มองว่าผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในเรื่องของคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนามที่แม้ยังมีส่วนแบ่งการตลาดไม่มากนักราว 1% ของมูลค่าตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงโลก แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด  ซึ่งเวียดนามได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย อีกทั้งการจะขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ของโลก หรือเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ไทยจำเป็นจะต้องสร้างแบรนด์สินค้าที่เป็นของตัวเองให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จะส่งออกแบรนด์ของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยกว่า 80%  รับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำเพื่อขายในตลาดโลก ขณะที่ผลิตภายใต้แบรนด์ไทยมีเพียงแค่ 20%7 เท่านั้น
 
นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ตลาดนำเข้าหลักทั่วโลกจะมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการบังคับใช้กฎระเบียบหรือการกำหนดมาตรฐานการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องตระหนักและเตรียมการรับมือด้วยการพัฒนาและปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงการทำการตลาด เพื่อตอบโจทย์ประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็น การลดการปล่อยคาร์บอน, มีเทน รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เป็นต้น 
 
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยควรเร่งสร้างแบรนด์ของตัวเองให้มากขึ้นและส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก โดยอาศัยชื่อเสียงเรื่องคุณภาพสินค้าที่ได้การยอมรับในระดับสากล ตลอดจนใช้องค์ความรู้จากการเป็นฐานการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ดังจากต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ และควรมุ่งเน้นการเป็นผู้นำในตลาดกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยม เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่หลากหลายและมีคุณภาพสูงขึ้น เช่น การเพิ่มการผลิตขนมและของขบเคี้ยวของสัตว์เลี้ยงรวมทั้งอาหารที่ใช้วัตถุดิบ Human-grade ให้มากขึ้น รวมถึงศึกษาพฤติกรรมและความต้องการเฉพาะของแต่ละตลาดส่งออก เช่น ญี่ปุ่นนิยมอาหารสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กและสัตว์เลี้ยงสูงวัย ขณะที่อินเดียต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิคที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อวัว เป็นต้น หรือแม้แต่การพัฒนาสูตรอาหารที่เน้นเรื่องสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากปัจจุบันเจ้าของสัตว์เลี้ยงใส่ใจต่อสุขภาพสัตว์มากขึ้น และสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มอายุยืนอาจทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมาจึงต้องการอาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น อาหารแคลอรี่ต่ำสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักเกิน อาหารสัตว์เลี้ยงสูงวัย อาหารสำหรับรักษาโรคเฉพาะทาง วิตามินเพื่อสุขภาพและอาหารเชิงบำบัดที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง
 
ซึ่งปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการทดลองผลิตอาหารและวิตามินที่มีส่วนผสมของ CBD หรือกัญชง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของไทยหลังจากได้ปลดล็อคการใช้กัญชงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเอื้อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาวัตถุดิบสำหรับคิดค้นสูตรอาหารสัตว์เลี้ยงใหม่ๆ ได้ต่อไป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไทยรายใหญ่หลายรายทั้งในและนอกอุตสาหกรรมอาหารได้เริ่มสร้างแบรนด์เพื่อเจาะตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มพรีเมี่ยมไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาและยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน สามารถสร้างแบรนด์ไทย รวมทั้งรุกตลาดกลุ่มพรีเมี่ยมได้สำเร็จ ก็น่าจะทำให้ไทยยังคงรักษาความเป็นผู้นำในการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้อย่างต่อเนื่อง 

LastUpdate 01/12/2564 09:49:58 โดย : Admin
16-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (11 เม.ย.67) ลบเล็กน้อย 2.43 จุด

2. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (11 เม.ย.67) พุ่งขึ้น 24.30 เหรียญ หลังดัชนี PPI ต่ำกว่าคาดหนุนเฟดลดดอกเบี้ยเร็วสุด ก.ค.67

3. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,365 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,410 เหรียญ

4. ทั่วไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด มีฝนฟ้าคะนอง 10%

5. ทองเปิดตลาด (12 เม.ย.67) พุ่งพรวด 700 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,650 บาท

6. ตลาดหุ้นปิด (11 เม.ย.67) ลบ 11.79 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,396.38 จุด

7. ประกาศ กปน.: 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง

8. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (11 เม.ย.67) ลบ 4.71 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,403.46 จุด

9. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,330 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,365 เหรียญ

10. ทองเปิดตลาด (11 เม.ย.) ปรับขึ้น 150 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,100 บาท

11. ตลาดหุ้นไทยเปิด (11 เม.ย.67) ลบ 2.52 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,405.65 จุด

12. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์

13. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (10 เม.ย.67) ร่วง 422.16 จุด เหตุดัชนี CPI สูงเกินคาด วิตกเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงต่อ

14. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (11 เม.ย.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์

15. ภาคเหนือยังคงมีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง 30% ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางแห่ง / ภาคตะวันออก-ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 20% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคกลาง 10%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 1:31 pm