เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ สถานการณ์สินค้าราคาสูงกดดันดัชนี KR-ECI ร่วงลงอยู่ในระดับต่ำ 2 เดือนติดต่อกัน : ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบาง หลังภาครัฐปรับมาตรการตรึงราคาสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมันและก๊าซหุงต้ม


 
ในเดือนเม.ย. 65 ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังบ่งชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาที่สินค้าที่อยู่ในระดับสูง โดยดัชนี KR-ECI ปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าเดือนเม.ย.65 ลดลงอยู่ที่ 32.5 และ 35.5 จาก 33.4 และ 36.1 ในเดือนมี.ค.65 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากเกี่ยวกับ “ราคาอาหารและเครื่องดื่ม” “ราคาพลังงาน” และ “ราคาสาธารณรูปโภค" หลังภาครัฐยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มและทยอยปรับราคาแบบขั้นบันได รวมถึงในเดือนพ.ค. 65 ได้ยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร และจะเริ่มทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดเช่นกัน ขณะที่มาตรการคนละครึ่งระยะที่สี่สิ้นสุดลงในเดือนที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการรับมือของครัวเรือนกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นพบว่าส่วนมาก 29.9% จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในขนาดเล็กลง หรือเปลี่ยนยี่ห้อที่มีราคาถูกลง นอกจากนี้ได้มีการสำรวจเพิ่มเติมหลัง “มาตรการคนละครึ่ง” ระยะที่สี่สิ้นสุดลงว่าจะมีผลต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างไร โดยมีครัวเรือนกว่า 40% ระบุว่าจะใช้จ่ายลดลง เนื่องจากจำนวนเงินเท่าเดิมจะซื้อสินค้าได้ลดลง ผลสำรวจเพิ่มเติมดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทางการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงซึ่งจะกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า

สถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนต่อเนื่องไปอย่างน้อยครึ่งแรกของปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาพลังงานโลกตลอดจนการส่งผ่านราคาสินค้ามายังผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขณะที่มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐทั้งในส่วนของการเยียวยา หรือมาตรการเงินอุดหนุน/ช่วยเหลือเริ่มทยอยหมดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในช่วงที่รายได้และการจ้างงานยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่และราคาสินค้ายังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบว่ายังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบาง ภาครัฐอาจจำเป็นเข้ามามีส่วนช่วยประคับประคองไม่ว่าจะเป็นในฝั่งรายได้หรือการผ่อนปรนภาระการครองชีพ

ระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงและยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อกดดันดัชนี KR-ECI เดือนเม.ย.65 ให้ลดลงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

เดือนเม.ย.65 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ยกเลิกมาตรการตรึงราคาก๊าซโดยปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 333 บาทจาก 318 บาทต่อ 15 กิโลกรัม และจะทยอยปรับราคาขึ้นเป็นแบบขั้นบันได นอกจากนี้ในเดือนพ.ค 65 ภาครัฐจะยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรต่อเนื่องจากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG)

ในเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและสร้างความกังวลให้ภาคครัวเรือนมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าลดลงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 32.5 และ 35.5 จาก 33.4 และ 36.1 ในเดือนมี.ค. 65 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีปัจจุบันพบว่าลดลงอยู่ในระดับต่ำเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของราคาสินค้าผู้บริโภค หมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงพลังงาน บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นของราคาสินค้าจำเป็นดังกล่าวซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเม.ย. 65 ที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 4.65% YoY แม้อัตราการเพิ่มขึ้นรายปีจะชะลอลงจากเดือนก่อนแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง อีกทั้งดัชนีย่อยในส่วนของเนื้อสัตว์ (+6.86%) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (+9.89%) รวมถึงค่ายานพาหนะและขนส่งและการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นถึง 10.73% หรือเมื่อมองในภาพรวมของค่าใช้จ่ายครัวเรือนรวมในเดือนเม.ย.65 อยู่ที่ 17,681 บาท จาก 16,895 บาทในเดือนเม.ย.64 (+4.65%) จะเห็นได้ว่าราคาสินค้าจำเป็นยังอยู่ในระดับสูงซึ่งจะบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือนที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานและรายได้ยังไม่ได้กลับมาปกติ นอกจากนี้มาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 ได้สิ้นสุดโครงการลงโดยยังไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มเติม (ล่าสุดมี 10 มาตรการที่เน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมว่าครัวเรือนจะมีวิธีการรับมือกับระดับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร ผลสำรวจระบุว่า 29.9% ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีขนาดเล็กลงหรือเปลี่ยนยี่ห้อให้มีราคาถูกลง ขณะที่ 14.5% ลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น บ่งชี้ว่าครัวเรือนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยลดลง อย่างไรก็ดี มี 16.6% ที่เพิ่มช่องทางในการ

หารายได้เสริม นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวการสิ้นสุดโครงการคนละครึ่งระยะที่สี่ (มี.ค.-เม.ย.65) ว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างไร ผลสำรวจระบุว่ามี 40.8% ที่เมื่อโครงการคนละครึ่งจบลงจะใช้จ่ายลดลง โดยภาพรวมจากผลสำรวจเพิ่มเติมสะท้อนว่าผลกระทบจากสินค้าราคาสูงได้เริ่มส่งผ่านมาถึงการปรับลดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการฟื้นตัวภาคธุรกิจ และการจ้างงานต่าง ๆ

*% จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจว่าจะรับมือสถานการณ์ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร (คำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ที่มา: ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ในภาวะที่รายได้ของครัวเรือนยังไม่กลับมาเต็มที่ การจ้างงานยังมีแนวโน้มเปราะบาง ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้น (รายได้ลดลง หรือคงที่แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น) ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงที่ 90.1% ในปี 2564 จาก 89.7% ในปี 2563 โดยเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของหนี้ครัวเรือนในปีที่ผ่านมา สัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 8% จาก 7% ในปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวใช้เพื่อเสริมสภาพคล่องหมุนเวียนค่าใช้จ่ายซึ่งสะท้อนถึงว่าฐานะทางการเงินของครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะที่ภาระหนี้ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ จะทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนถูกบั่นทอนลง ความเชื่อมั่นต่าง ๆ ที่ลดลงจะทำให้ครัวเรือนเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังคงอยู่ต่อเนื่อง หากพิจารณาในฝั่งผู้ผลิตผ่านดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเม.ย.65 พบว่าเพิ่มขึ้นสูงมากอยู่ที่ 12.8% YoY โดยมีแรงกดดันหลักจากราคาพลังงาน (ปิโตรเลียมดิบและก๊าซ) ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลกหลังเกิดสงครามรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจากการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐฯ และไทยจะกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง (บาทอ่อนส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น) อีกทั้งภาครัฐยกเลิกการตรึงราคาพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมัน ต่อจากนี้เราจึงอาจจะเริ่มเห็นการส่งผลผ่านราคา

ต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ผู้บริโภคซึ่งจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของภาคครัวเรือน

สถานการณ์ราคาสินค้าสูงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีสาเหตุมาจากต้นทุนราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นซึ่งเป็นภาวะที่ทั่วโลกต่างเผชิญ มาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบหรือการตรึงราคาสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาจไม่ใช่วิธีที่จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เนื่องจากยังไม่สามารถรู้ถึงจุดสิ้นสุดของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และการดำเนินมาตรการภาครัฐต่างๆ ก็มีต้นทุนที่เป็นภาระทางการคลัง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ลากยาว แนวทางที่จะบรรเทาปัญหาอาจจะต้องมุ่งเน้นไปที่ฝั่งรายได้และการจ้างงาน โดยอาจออกมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน เพิ่มทักษะต่างๆ ออกมาเพิ่มเติม

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (เม.ย.65) ขยับลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนอยู่ที่ 32.5 และ 35.5 จาก 33.4 และ 36.1 ในเดือนมี.ค.65 โดยคาดว่าสถานการณ์สินค้าราคาสูงในช่วงที่กำลังซื้อยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จะยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนต่อไปอีกสักระยะ
 

LastUpdate 10/05/2565 19:16:33 โดย : Admin
19-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (19 เม.ย.67) ลบ 25.09 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,335.93 จุด

2. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,385 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,425 เหรียญ

3. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.20%

4. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวก 9.60 เหรียญ รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

5. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวกแค่ 22.07 จุด เจ้าหน้าที่เฟดตบเท้าหนุนไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย

6. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.75-37.05 บาท/ดอลลาร์

7. ตลาดหุ้นไทยเปิด (19 เม.ย.67) ลบ 20.39 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,340.63 จุด

8. ทองเปิดตลาด (19 เม.ย. 67) พุ่งขึ้น 550 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 42,500 บาท

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์

10. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราษฎร์บูรณะ

11. ตลาดหุ้นปิด (18 เม.ย.67) ลบ 5.92 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.02 จุด

12. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (18 เม.ย.67) บวก 1.83 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,368.77 จุด

13. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.ฝน 20%

14. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (17 เม.ย.67) ร่วง 19.40 เหรียญ กังวลเฟดชะลอลดดอกเบี้ย

15. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (17 เม.ย.67) ลบ 45.66 จุด กังวลทิศทางดอกเบี้ยเฟด-ผิดหวังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 4:49 pm