เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกไทย พ.ค.ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า EIC ปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีโต 5.8% จากแนวโน้มความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวในระยะถัดไป


 
ส่งออกสินค้าไทยเดือนพฤษภาคมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 แต่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า 
มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพฤษภาคม 2022 อยู่ที่ 25,509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.5%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) เร่งตัวขึ้นจากเดือนเมษายนที่ 9.9% เล็กน้อย และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 แต่ก็ยังถือว่าชะลอตัวลงหากเทียบกับเดือนมีนาคมและกุมภาพันธ์ที่ 19.5% และ 16.2% ตามลำดับ หากหักทองคำการส่งออกในเดือนนี้จะขยายตัวได้ 12.5% หากเมื่อพิจารณาการส่งออกเดือนพฤษภาคมเทียบกับเดือนเมษายนแบบปรับฤดูกาลจะพบว่าการส่งออกของไทยทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -0.11%MOM_sa ทำให้ภาพรวมส่งออกไทย 
5 เดือนแรกของปีโตที่ 12.9% และหากหักทองขยายตัวที่ 10.3%

สินค้าเกษตรและเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวได้ดี แต่บางสินค้ายังมีความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนชิป
ในภาพรวมการส่งออกรายสินค้าพบว่าแม้ส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ แต่มีบางหมวดสำคัญที่หดตัวหรือชะลอตัวลง โดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและขยายตัวได้ดีที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี อยู่ที่ 21.5% โดยได้รับอานิสงส์ทั้งด้านปริมาณผลผลิตในไทยที่ดีตามปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่เพียงพอและการสนับสนุนจากภาครัฐ และด้านราคาจากการชะงักของอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลกจากสงครามในยูเครนและมาตรการห้ามการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในหลายประเทศ และยังมีสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหรือกลุ่มอาหารที่ขยายตัวได้ถึง 32.7% โดยสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย (2) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 4.2% โดยมีสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังจากหดตัวติดต่อกันมาหลายเดือน อย่างไรก็ดี มีหลายสินค้าที่เป็นสินค้าฉุดมูลค่าส่งออกไทยในเดือนที่ผ่านมา คือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์และส่วนประกอบ โดยถึงแม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเดือนนี้ แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ยังหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ -17.9% ในขณะที่รถยนต์และส่วนประกอบหดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ -3.1% สอดคล้องกับปัญหาขาดแคลนชิปที่ยังยืดเยื้อทั่วโลก 

ส่งออกไปจีนและยุโรปกลับมาขยายตัว แต่ยังมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ (29.2%) ตะวันออกกลาง (38%) และอินเดีย (64.3%) เป็นตลาดหนุนสำคัญ ในขณะที่การส่งออกไปฮ่องกง (-22.4%) และออสเตรเลีย (-4%) เป็นตลาดฉุดสำคัญ ด้านมูลค่าการนำเข้าโดยรวมของจีนขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ 4.1% จากอานิสงส์ของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค แต่อาจชะลอตัวหรือหดตัวอีกครั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาและความเสี่ยงในการปิดเมืองอีกครั้ง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจทำให้การนำเข้าวัตถุดิบการผลิตของจีนชะลอตัวลง โดยในเดือนนี้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวได้ 3.8% หลังจากที่หดตัว -7.3% ในเดือนก่อนหน้าแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการขยายตัวในเดือนนี้ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการทยอยเปิดเมืองของจีน ทั้งนี้หากพิจารณาถึงระดับราคาสินค้าส่งออกของไทยที่ขยายตัวราว 5% ในเดือนนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปริมาณการส่งออกไปจีนอาจลดลง

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนยังคงหดตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ -65% และ -87.2% แต่ไม่ได้มีนัยต่อเศรษฐกิจไทยมากเนื่องจากเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยุโรป (EU28) ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโดยตรงและเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยยังขยายตัวได้มากถึง 7.7% หลังจากที่ทรงตัวก่อนหน้า โดยมีสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนหลายประการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ ไก่แปรรูป ยางพารา เป็นต้น 

มูลค่าการนำเข้าขยายตัวมากกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล
ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนพฤษภาคมขยายตัว 24.2% จากปัจจัยทางด้านราคาเป็นหลัก โดยในเดือนนี้สินค้าเชื้อเพลิงขยายตัว 67.4% สินค้าทุนขยายตัว 4.8% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัว 25.3% สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 16.6% ในขณะที่สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัว -20.9% ในด้านดุลการค้าเดือนนี้ขาดดุล -1,874.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2022 ดุลการค้าขาดดุล -4,726.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

EIC ปรับลดประมาณการเติบโตของการส่งออกสินค้าไทยลงเป็น 5.8% จากเดิม 6.1% 
ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากปัจจัยเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศจำเป็นต้องนำเอามาตรการการเงินที่ตึงตัวมาใช้เร็วและแรงมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกที่เป็นฟันเฟืองสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงจากอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกในยะยะถัดไป โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นและจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงตลาดยุโรปที่มีความเสี่ยงจากภาวะสงคราม รวมถึงปัญหาการชะงักของอุปทานที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยจะยังคงได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า การขาดแคลนสินค้าเกษตรในตลาดโลก และระดับราคาสินค้าส่งออกที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวลดลง และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export orders) ที่อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน ทำให้ EIC ปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกไทย (BOP basis) ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 5.8% จากเดิมในช่วงเดือนมีนาคมที่ 6.1%

รูปที่ 1 : การส่งออกไปจีนขยายตัวได้จากอานิสงส์ของการทยอยเปิดเมือง ในขณะที่การส่งออกไปยุโรปขยายตัวได้แม้เผชิญแรงกดดันจากภาวะสงคราม 
 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 2 : การส่งออกในเดือนพฤษภาคมมีปัจจัยหนุนหลายประการ ในขณะที่มีทองคำเป็นปัจจัยฉุดสำคัญหลังจากที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

 
รูปที่ 3 : การส่งออกในไตรมาสแรกขยายตัวได้ดีทั้งในด้านราคาและปริมาณ แต่มีแนวโน้มชะลอลงในระยะข้างหน้าโดยเฉพาะในจีนและยุโรป ตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ สงคราม นโยบายการเงินที่ตึงตัว และการปิดเมืองในจีน
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์, IHS Markit, S&P Global, JP Morgan และ CEIC
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-010722
 
 
 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.ค. 2565 เวลา : 21:39:27
26-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (26 เม.ย.67) ลบ 4.33 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,359.94 จุด

2. ประกาศ กปน.: 2 พ.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนวิภาวดีรังสิต

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (26 เม.ย.67) ลบ 2.25 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.02 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,310 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,350 เหรียญ

5. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์

6. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.90-37.15 บาท/ดอลลาร์

7. ทองปิดบวก $4.10 รับดอลล์อ่อน-แรงซื้อลดความเสี่ยง

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (26 เม.ย.67) บวก 0.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.95 จุด

9. ดาวโจนส์ปิดร่วง 375.12 จุดหลัง GDP สหรัฐชะลอตัว - เงินเฟ้อพุ่ง

10. ทองพุ่ง! ราคาทองวันนี้ 26/4/67 ครั้งที่ 1 เพิ่มขึ้น 100 บาท ทองคำแท่งขายออกบาทละ 40,850 บาท

11. ทั่วไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 43 องศาเซลเซียส ฟ้าหลัว ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และลมกระโชกแรงตลอดช่วง

12. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

13. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

15. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:11 pm