เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด "หนี้ครัวเรือนชะลอลงมาที่ 88.2% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 2/2565 ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ก้อนใหญ่ แต่ยังใช้สินเชื่อไม่มีหลักประกันเสริมสภาพคล่องระยะสั้น"


• แม้ยอดคงค้างเงินกู้ยืมของครัวเรือนจะขยับขึ้นสู่ระดับ 14.76 ล้านล้านบาทในไตรมาส 2/2565 แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงตลอดในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะการชะลอตัวในส่วนของหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อก้อนใหญ่ เช่น หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้รถ 

 
• ผลสำรวจภาวะหนี้สินของภาคประชาชนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ครัวเรือนเกือบทุกกลุ่มมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน โดยค่าเฉลี่ย DSR ของครัวเรือนในผลสำรวจฯ อยู่ที่ระดับ 33.9%
 
• สำหรับแนวโน้มในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนตัวเลขประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ลงมาที่กรอบ 85.0-87.0% แต่ยังต้องติดตามครัวเรือนบางกลุ่มที่ใช้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันในการเสริมสภาพคล่องระยะสั้น และความเปราะบางของฐานะการเงินในภาคครัวเรือนในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น 

• ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2/2565 เติบโตในอัตราที่ชะลอลง หลังลูกหนี้รายย่อยชะลอการก่อหนี้ก้อนใหญ่ (หนี้บ้าน หนี้รถ) โดยจากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่ ธปท. รายงานออกมาล่าสุด แม้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.76 ล้านล้านบาทในไตรมาส 2/2565 แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจแล้ว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ปรับตัวลงมาที่ระดับ 88.2% จากระดับ 89.2% ต่อจีดีพีในไตรมาส 1/2565 นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หนี้ครัวเรือนเติบโตเพียง 3.5% YoY ซึ่งต่ำสุดในรอบ 18 ปี  และชะลอลงเมื่อเทียบกับ 3.7% YoY ในไตรมาสแรกของปี 2565  
 
 
หากมองในเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปหนี้บ้านและหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ (สัดส่วนรวมกันประมาณ 53% ของหนี้ครัวเรือนในภาพรวม หรือประมาณ 46.5% ของจีดีพี) อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า หนี้รายย่อยก้อนใหญ่ หรือมีวงเงินกู้ต่อรายที่ค่อนข้างสูง เช่น หนี้บ้าน หนี้เพื่อประกอบอาชีพ และหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ล้วนมีอัตราการเติบโตที่ช้าลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในด้านหนึ่งอาจสะท้อนว่า ครัวเรือนมีการเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า ครัวเรือนมีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูงและเริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่ เพราะฐานะทางการเงินมีสัญญาณอ่อนแอลง 
 
ในทางกลับกัน ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีหนี้สินที่อยู่ในรูปบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน มากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ 8.2% ของหนี้ครัวเรือนรวมในไตรมาส 2/2565 (จาก 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 7.7% ในไตรมาส 4/2562 ที่เป็นช่วงก่อนโควิด) ซึ่งสะท้อนว่า มีครัวเรือนจำนวนมากกู้ยืมผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวเพื่อเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหาการเงินในระยะสั้นที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย    
 
 
• ภาระหนี้ของภาครัวเรือนอยู่สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้โดยเฉลี่ย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ จากผลสำรวจภาวะหนี้สินของภาคประชาชนในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ครัวเรือนเกือบทุกกลุ่มมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน โดยสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ของครัวเรือน/ประชาชนรายย่อยในผลสำรวจฯ อยู่ที่ระดับประมาณ 33.9% โดยเฉลี่ย ซึ่งอาจมีนัยว่า ครัวเรือนบางส่วนกำลังเริ่มมีข้อจำกัดหรือต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อให้สามารถก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ได้ โดยไม่เบียดบังในส่วนที่ควรเก็บสะสมเพื่อเป็นเงินออมในอนาคต 
 
• สำหรับแนวโน้มในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับทบทวนประมาณการตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงมาที่กรอบ 85.0-87.0% (คาดการณ์เดิมที่ 86.5-88.5%) ชะลอลงเมื่อเทียบกับสัดส่วน 90.1% ต่อจีดีพีในปี 2564 เนื่องจากมูลค่าจีดีพี (Nominal GDP) เติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับครัวเรือนหลายๆ ส่วนระมัดระวังการก่อหนี้ก้อนใหม่ ทั้งนี้ แม้ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2565 นี้อาจจะชะลอลง แต่ก็มีเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในหลายประเด็น อาทิ การที่ครัวเรือนหลายส่วนพึ่งพาสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาเสริมสภาพคล่องระยะสั้น และยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่ยังคงทยอยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะสะท้อนข้อจำกัดในการบริโภคของภาคเอกชนแล้ว ยังสะท้อนถึงความเปราะบางของฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนรายย่อยในยุคที่อัตราดอกเบี้ยของไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่จังหวะขาขึ้นด้วยเช่นกัน 

 
สำหรับผลของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มทยอยปรับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะไม่มีผลกระทบกับสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยอิงกับเพดานอัตราดอกเบี้ยตามที่ทางการกำหนด เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 8.3% ของหนี้ครัวเรือน ขณะที่หากพิจารณาลักษณะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ จะเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ต่างก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ในขนาดที่น้อยกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และสำหรับในส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น หากขนาดการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่ใช้เป็นตัวอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงยังไม่เกิน 1% ก็น่าจะยังไม่กระทบต่อยอดภาระผ่อนต่อเดือนของผู้กู้สินเชื่อบ้าน อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นแล้ว และน่าจะมีการทยอยขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2566 ดังนั้น ประชาชนและครัวเรือนรายย่อยคงต้องเตรียมรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่จะขยับสูงขึ้น โดยเฉพาะสัญญาสินเชื่อใหม่ ทั้งในส่วนของสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อประกอบอาชีพ รวมถึงสินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีบ้านหรือรถเป็นหลักประกัน   
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ต.ค. 2565 เวลา : 14:21:57
11-05-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (10 พ.ค.67) บวก 2.61 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,371.90 จุด

2. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (10 พ.ค.67) ลบ 0.20 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,369.09 จุด

3. MTS Gold คาดว่าราคทองคำจะมีกรอบแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,330 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,365 เหรียญ

4. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.60-36.85 บาท/ดอลลาร์

5. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (9 พ.ค.67) บวก 18 เหรียญ ตลาดคาดเฟดลดดอกเบี้ยปีนี้ หลังข้อมูลแรงงานซบ

6. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (9 พ.ค.67) พุ่ง 331.37 จุด ตลาดแรงงานสหรัฐซบ หนุนเฟดลดดอกเบี้ย

7. ทั่วไทย ฝนฟ้าคะนองวันนี้ กรุงเทพปริมณฑล และทุกภาค ฝน 60% เว้น ภาคอีสาน 40%

8. ทองเปิดตลาดวันนี้ (10 พ.ค.67) พุ่งขึ้น 400 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,300 บาท

9. ตลาดหุ้นไทยเปิด (10 พ.ค.67) ลบ 0.15 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,369.14 จุด

10. ตลาดหุ้นปิดวันนี้ (9 พ.ค.67) ลบ 4.04 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,369.29 จุด

11. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,300 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,325 เหรียญ

12. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (9 พ.ค.67) บวก 2.55 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,375.88 จุด

13. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์

14. ตลาดหุ้นไทยเปิด (9 พ.ค.67) บวก 3.04 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,376.37 จุด

15. ทองเปิดตลาดวันนี้ (9 พ.ค. 67) "คงที่" ทองรูปพรรณ ขายออก 40,900 บาท

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 11, 2024, 5:17 am