เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด"


 
ในเดือนพ.ย.65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 35.0 และ 36.4 จาก 33.8 และ 35.7 ในเดือนต.ค.65 ท่ามกลางเงินเฟ้อไทยที่ปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อีกทั้ง ครัวเรือนได้รับปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจ้างงาน หลังภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการสังสรรค์และท่องเที่ยวของครัวเรือนในช่วงสิ้นปี 2565 พบว่า ร้อยละ 38 มีแผนในการจัดงานสังสรรค์กับเพื่อนๆ /ครอบครัว ขณะที่ร้อยละ 23 ยังไม่มีแผนการเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อความต้องการใช้จ่ายของครัวเรือนบางส่วน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า ครัวเรือนร้อยละ 54 คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และภาวะการครองชีพของครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ ต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนช่วงสิ้นปีนี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เป็นต้น เมื่อมองไปในปี 2566 การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะความผันผวนของราคาพลังงานซึ่งอาจส่งผลต่อขีดจำกัดของมาตรการอุดหนุนภาครัฐในระยะข้างหน้า อีกทั้ง แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่เริ่มเห็นภาพหดตัวในเดือนต.ค.65 รวมถึงภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้อย่างจำกัด หรือน้อยกว่าที่คาดการณ์ในปีหน้า อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะกลับเข้ามาหากมีการเปิดประเทศ

ดัชนี KR-ECI เดือนพ.ย.65 ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน ครัวเรือนไทยกังวลลดลงเกี่ยวกับภาระค่าครองชีพอย่างระดับราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย ขณะที่เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อความต้องการใช้จ่ายในช่วงสิ้นปี

ในเดือนพ.ย.65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 35.0 จาก 33.8 ในเดือนต.ค. 65 และดัชนี KR-ECI 3 เดือนข้างหน้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 36.4 จาก 35.7 ในเดือนต.ค. 65 สะท้อนว่าครัวเรือนมีความกังวลลดลงเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับดัชนีเงินเฟ้อไทยเดือนพ.ย.65 ที่แผ่วลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ 5.55% โดยราคาสินค้าในหลายรายการมีการปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เช่น ผักและผลไม้อย่างผักคะน้า ถั่วฝักยาว กระหล่ำปี และข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอย่างน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์เดือนต.ค.ได้ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ประเทศไทยยังคงมีการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 35 บาทเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าที่ขณะนี้อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยถึงเดือนธ.ค. 65 ก็มีแนวโน้มที่อาจถูกตรึงไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า นอกจากนี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (ณ 4 ธ.ค.65 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยแล้วกว่า 9.09 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับไทยกว่า 3 แสนล้านบาท) ได้หนุนให้การบริโภคและการจ้างงานภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/65 การจ้างงานของไทยขยายตัว 2.1%YoY รวมถึงชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของภาคเอกชนก็ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ดี ครัวเรือนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ในระยะข้างหน้า สะท้อนผ่านดัชนีดังกล่าวที่ปรับลดเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า (กังวลมากขึ้น) โดยมาจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเดือนและผลตอบแทน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญปัจจัยที่ท้าทายสำคัญหลายประการจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะชะลอลง ซึ่งจะฉุดรั้งความต้องการสินค้าจากไทย ประกอบกับปริมาณคำสั่งซื้อจากจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้จีนจะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด โดยการส่งออกไทยเดือนต.ค.65 เผชิญกับการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าภาพรวมการส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 7.8%YoY ที่ประเมินไว้เดิม ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงานในประเทศ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ารายได้เกษตรกรในปี 66 อาจหดตัวอยู่ที่ราว 0.8%YoY จากแรงกดดันด้านราคา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการสังสรรค์และท่องเที่ยวของครัวเรือนในช่วงสิ้นปี 2565 โดยสืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ที่ได้คลี่คลายลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า พบว่า ในปีนี้ครัวเรือน 38% ได้มีแผนที่จะจัดงานสังสรรค์กับเพื่อน ๆ/ ครอบครัว อย่างไรก็ตาม ครัวเรือน 23% ยังไม่มีแผนใด ๆ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่แล้ว และอีก 22% ยังไม่มีแผนเนื่องจากยังไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ พบว่า 55% ของครัวเรือนที่ระบุว่ามีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยว จะเป็นเป็นการท่องเที่ยวในจังหวัดอื่น ๆ ภายในประเทศ 78% ขณะที่อีก 22% คาดว่าจะท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีจะเพิ่มขึ้น 6.8%YoY

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงการคาดการณ์ต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2565 พบว่า 54% ของครัวเรือนคาดการณ์ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในส่วนค่ากินเลี้ยงสังสรรค์ (38%) ค่าซื้อของขวัญจับฉลาก (26%) ค่าทำบุญ (18%) ค่าการเดินทางท่องเที่ยว (17%) และอื่น ๆ อาทิ การให้เงิน (1%)

ในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางจากการเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะราคาพลังงานโลกที่แม้จะเริ่มลดลงแต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนได้ อีกทั้ง แนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศอาจไม่ปรับลดลงมาได้เร็วท่ามกลางการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการมายังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องประกอบกับการลดการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจหลักของโลกอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงปีหน้าซึ่งอาจมีผลกระทบต่อไปยังความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. (โดยปี 2566 คาดปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00%) อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคครัวเรือนจากแนวโน้มการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในกลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคารต่าง ๆ แล้ว ทั้งนี้ คงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนช่วงสิ้นปี เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องของมาตรการกับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (พ.ย.65) และ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นที่ 35.0 และ 36.4 จาก 33.8 และ 35.7 ในเดือนต.ค.65 สะท้อนครัวเรือนมีความผ่อนคลายกับภาระค่าครองชีพมากขึ้น อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของดัชนียังเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง ซึ่งคงจะต้องติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเร็วนี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ธ.ค. 2565 เวลา : 21:42:47
19-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. พรุ่งนี้ (20 เม.ย.) ราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้น 50 สต./ลิตร ตามมติ กบน. มีผลเที่ยงคืนนี้

2. ตลาดหุ้นปิด (19 เม.ย.67) ลบ 28.94 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,332.08 จุด

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (19 เม.ย.67) ลบ 25.09 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,335.93 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,385 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,425 เหรียญ

5. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.20%

6. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวก 9.60 เหรียญ รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

7. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวกแค่ 22.07 จุด เจ้าหน้าที่เฟดตบเท้าหนุนไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.75-37.05 บาท/ดอลลาร์

9. ตลาดหุ้นไทยเปิด (19 เม.ย.67) ลบ 20.39 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,340.63 จุด

10. ทองเปิดตลาด (19 เม.ย. 67) พุ่งขึ้น 550 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 42,500 บาท

11. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์

12. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราษฎร์บูรณะ

13. ตลาดหุ้นปิด (18 เม.ย.67) ลบ 5.92 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.02 จุด

14. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (18 เม.ย.67) บวก 1.83 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,368.77 จุด

15. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.ฝน 20%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:15 pm