เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai Compass วิเคราะห์ "ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร Q4/65 หดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี คาดส่งออกปี 66 ขยายตัวได้ แต่เผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว"


 
• มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยในไตรมาส 4 อยู่ที่ 10,934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 402,788ล้านบาท) ซึ่งหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่  5.7%YoY โดยสินค้าส่งออกที่หดตัวแรง ได้แก่ ยางพารา ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวได้ ได้แก่ มันสำปะหลัง ไก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง
 
• การส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 หดตัว
 
• Krungthai COMPASS มองว่า ในปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ต้นทุนดอกเบี้ยและต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีความท้าทายด้านมาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้า ที่จะกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2565 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2565 หดตัวที่ 5.7%YoY เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.1%YoY การส่งออกหดตัวในทุกตลาดสำคัญ โดยตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคิดเป็น 29% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัว 5.7%YoY เนื่องจากมาตรการ Zero-COVID ของจีนที่เข้มงวด ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคในจีนชะลอตัวลง เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 11% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัวถึง 19.3%YoY เนื่องจากความกังวลในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะชะลอลง
โดยหมวดสินค้าเกษตรหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส (ไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2565) โดยไตรมาสที่ 4 หดตัว 7.0%YoY ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัวแรง ได้แก่ ยางพารา หดตัวถึง 36.9%YoY ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ ได้แก่ มันสำปะหลัง ไก่ และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 
 
 
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีการหดตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 4.0%YoY ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป แต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าสำคัญ การส่งออกข้าวไตรมาส 4 พลิกกลับมาหดตัวเล็กน้อย 

มูลค่าการส่งออกข้าวไตรมาสที่ 4 ปี 2565 หดตัวที่ 2.2%YoY โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว 13.8%YoY จากปริมาณการส่งออกที่หดตัวถึง 24.5%YoY เนื่องจากคู่ค้ามีการเร่งนำเข้าไปตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565จากความกังวลในสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน แต่โดยรวมทั้งปีมูลค่าและปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิยังขยายตัว 7.8%YoY และ 8.7%YoY ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าวขาวในไตรมาส 4 ยังคงขยายตัว 6.2%YoY จากปัจจัยด้านปริมาณที่ขยายตัว 6.3%YoY เนื่องจากราคาส่งออกข้าวขาวที่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้มากขึ้น อีกทั้งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่มตะวันออกกลางและจีน จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร หลังจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดภัยธรรมชาติขึ้นในหลายประเทศและส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ทำให้ไทยสามารถขยายตลาดสู่ตลาดตะวันออกกลางได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอิรัก

 
 
มูลค่าส่งออกยางพาราไตรมาส 4 หดตัวแรง

มูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่งไตรมาสที่ 4 ปี 2565 หดตัว 35.2%YoY ซึ่งเป็นผลจากราคาส่งออกที่ลดลง 14.2%YoY ตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก จากความกังวลในเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งปริมาณส่งออกที่ลดลง 24.4% เพราะปริมาณส่งออกไปตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักคิดเป็น 26.6% ของการส่งออกยางแผ่นยางแท่งทั้งหมดของไทย ลดลงถึง 44.6%YoY เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ในจีน ส่วนมูลค่าส่งออกน้ำยางข้นหดตัว 39.3%YoY จากราคาส่งออกที่ลดลง 16.1% ตามราคาน้ำมันตลาดโลก ส่วนปริมาณส่งออกหดตัว 27.6%YoY เนื่องจากตลาดมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 และเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลกมีปริมาณส่งออกลดลง 40.9%YoY จากความต้องการใช้น้ำยางข้นเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออกที่ลดลง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศคลี่คลาย
 

 
 
 
มูลค่าส่งออกมันสำปะหลังไตรมาส 4 พลิกกลับมาขยายตัวได้

มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 อยู่ที่ 997 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 1.4%YoY จากที่หดตัว 4.7%YoY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่าส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ด อยู่ที่ 294 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 10,691 ล้านบาท) หดตัว 2.2%YoY ส่วนมูลค่าส่งออกแป้งมันสำปะหลังอยู่ที่ 678 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 25,019 ล้านบาท)  ขยายตัว 1.5%YoY แต่เมื่อพิจารณาในแง่ปริมาณส่งออกทั้งมันเส้นและมันอัดเม็ด รวมทั้งแป้งมันสำปะหลังหดตัว 5.7%YoY และ 2.4%YoY ตามลำดับ เป็นผลจากฐานที่สูงในช่วงไตรมาส 4 ของปีก่อน อีกทั้งจีนเร่งนำเข้าตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ภาพรวมมูลค่าส่งออกในปี 2565 ทั้งมันเส้นและมันอัดเม็ด รวมทั้งแป้งมันสำปะหลังยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2564 โดยมันเส้นและมันอัดเม็ดขยายตัว 14.7%YoY ส่วนแป้งมันสำปะหลังขยายตัว 9.4%
 
 
คาดว่าในปี 2566-2567 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทยจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากสต็อกข้าวโพดของจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนมันเส้นและมันอัดเม็ดในการผลิตอาหารสัตว์และแอลกอฮอล์ยังมีทิศทางลดลง โดยคาดว่าในปี 2566-2567 สต็อกข้าวโพดจีนจะอยู่ที่ 206 ล้านตัน และ 201 ล้านตัน ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงค่าเฉลี่ยสต็อกข้าวโพดจีน 7 ปีย้อนหลังซึ่งอยู่ที่ 207 ล้านตัน ทำให้ในปี 2566-2567 ค่าเฉลี่ยส่วนต่างราคาข้าวโพดในจีนเทียบกับราคาส่งออกมันเส้นจะยังอยู่ในระดับสูงที่ 140-200 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ใกล้เคียงกับปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ปริมาณส่งออกอยู่ในระดับที่ดี

 
การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในไตรมาส 4 พลิกกลับมาขยายตัว หลังการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID

มูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในไตรมาส 4 ของปี 2565 พลิกกลับมาขยายตัวที่ 3.1%YoY จากที่หดตัวถึง 40.1%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า นำโดยการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่ขยายตัว 10.2%YoY  จากความต้องการนำเข้าผลไม้ในจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน ภายหลังทางการจีนยกเลิกมาตรการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ COVID-19 ตามด่านนำเข้าสินค้าต่างๆ ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งของไทยไปจีนยังเผชิญกับความไม่แน่นอนหลังทางการจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ซึ่งอาจส่งผลให้การระบาดของ COVID-19 ในจีนรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าและจำกัดจำนวนรถขนส่งนำเข้าอีกครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญกับความสะอาดปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด

 
 
 
การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปไตรมาส 4 ขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น

ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปในไตรมาส 4 ของปี 2565 ขยายตัว 18.7%YoY โดยเฉพาะไก่แปรรูปขยายตัว 13.0%YoY  จากตลาดส่งออกหลักอย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้น 2.0%YoY และ 38.0%YoY ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัวจากการทยอยเปิดประเทศ ประกอบกับได้อานิสงส์จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกไก่จากยูเครนเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการระบาดของไข้หวัดนกในญี่ปุ่นจะช่วยหนุนการนำเข้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น 
 
 
ส่วนการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัว 33.0%YoY จากตลาดส่งออกไปจีนที่โต 27.4%YoY โดยได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในจีน อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในจีนและเวียดนาม ทำให้มีการนำเข้าไก่เนื้อเพื่อทดแทนสุกรมากขึ้น ประกอบกับความต้องการนำเข้าไก่ของจีนจะค่อยๆ ฟื้นตัว จากการผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาเปิดได้ตามปกติ 

 
ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2566-2567

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2566-2567 ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรจะยังขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง โดยปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และต้นทุนดำเนินงานที่ยังอยู่ในระดับสูง

Implication :

Krungthai COMPASS มองว่า แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2566 จะขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้

• ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปี 2565 อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการสินค้าเกษตรในการขยายตลาดรองที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ยังมีกำลังซื้อจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง อาทิ การส่งออกข้าวไปยังตลาดอิรัก การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารสัตว์ไปยังตลาดซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น 

• เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างจำกัด อาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่นัก กระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก เช่น มันสำปะหลัง และยางพารา นอกจากนี้ แม้ว่าล่าสุดจะมีการยกเลิกนโยบายมาตรการ Zero-COVID แต่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยยังคงต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น 

• ต้นทุนดอกเบี้ยและต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น กดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากอยู่แล้ว 

• ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ที่มีการแข่งขันด้านราคารุนแรงอยู่แล้ว

• มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้า เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่จะประกาศใช้ในเดือนตุลาคมปี 2566 ซึ่งแม้ในระยะแรกจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม แต่ในอนาคตก็อาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารได้ นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งรวมถึงปาล์มน้ำมัน โคกระบือ ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้ซุง และยางพารา และจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการประมาณเดือนมิถุนายน 2566 ทำให้ภาคเกษตรที่ถือเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงรองจากภาคพลังงานต้องเผชิญความท้าทายจากประเทศคู่ค้าอย่าง EU และสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ด้าน Sustainability
 
 
สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์
กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ปราโมทย์ วัฒนานุสาร
อังคณา สิทธิการ
Krungthai COMPASS 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.พ. 2566 เวลา : 13:12:43
27-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (26 เม.ย.67) ลบ 4.33 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,359.94 จุด

2. ประกาศ กปน.: 2 พ.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนวิภาวดีรังสิต

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (26 เม.ย.67) ลบ 2.25 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.02 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,310 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,350 เหรียญ

5. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์

6. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.90-37.15 บาท/ดอลลาร์

7. ทองปิดบวก $4.10 รับดอลล์อ่อน-แรงซื้อลดความเสี่ยง

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (26 เม.ย.67) บวก 0.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.95 จุด

9. ดาวโจนส์ปิดร่วง 375.12 จุดหลัง GDP สหรัฐชะลอตัว - เงินเฟ้อพุ่ง

10. ทองพุ่ง! ราคาทองวันนี้ 26/4/67 ครั้งที่ 1 เพิ่มขึ้น 100 บาท ทองคำแท่งขายออกบาทละ 40,850 บาท

11. ทั่วไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 43 องศาเซลเซียส ฟ้าหลัว ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และลมกระโชกแรงตลอดช่วง

12. ตลาดหุ้นปิด (25 เม.ย.67) บวก 3.17 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.27 จุด

13. ประกาศ กปน.: 29 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบ้านบางไผ่-บ้านหนองเพรางาย

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 เม.ย.67) บวก 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,362.82 จุด

15. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบเช่นเดิมระหว่าง 2,290-2,330 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 12:46 am