เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "การประชุม G7 ที่ผ่านมา ตอกย้ำความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น"


· การประชุม G7 ประจำปี 2566 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ให้น้ำหนักของเนื้อหาการประชุมไปที่ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยยังคงส่งสัญญาณให้การสนับสนุนยูเครนในด้านต่างๆ การแสดงจุดยืนที่จะลดทอนบทบาทจีนรอบด้าน รวมถึงการแสวงหาพันธมิตรใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ (Global South)

· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่าทีของ G7 สะท้อนว่าประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกจะยังคงเป็นชนวนสำคัญที่สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจโลกในระยะกลาง-ระยะยาว มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการแบ่งห่วงโซ่การผลิตโลกชัดขึ้น เช่นเดียวกับการชำระเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ที่ในระยะข้างหน้าสกุลเงินหยวนจะมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นสกุลเงินภูมิภาค ในขณะที่การกระจายตลาดไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้อาจเป็นโอกาสใหม่ของอาเซียนรวมถึงไทย

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 7 ประเทศ (G7 Summit 2023) ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2566 ประกอบด้วยผู้นำสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี แคนาดา และสหภาพยุโรป ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมให้น้ำหนักไปที่ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยมีบทสรุป ดังนี้

· G7 เดินหน้าสนับสนุนยูเครนและคว่ำบาตรรัสเซีย โดยให้การสนับสนุนยูเครนด้านงบประมาณและการทหารในการต่อสู้กับรัสเซียสำหรับปีนี้และต้นปี 2567 รวมทั้งเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่ง EU และสหราชอาณาจักรเพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้า/ห้ามนำเข้าเพชรรัสเซีย สำหรับสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและแคนาดาเพิ่มการคว่ำบาตรบุคคลและนิติบุคคล รวมถึงห้ามส่งออก/นำเข้าสินค้ากับรัสเซียทั้งทางตรงและทางอ้อม

· G7 ส่งสัญญาณลดทอนบทบาทจีนในเวทีโลกในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรได้เริ่มดำเนินการในหลายมาตรการไปแล้ว อาทิ การห้ามส่งออกเทคโนโลยีชิปประมวลผลไปจีน และในการประชุมนี้กลุ่ม G7 มีแผนควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปจีนเพิ่มเติม การวางแนวทางเพิ่มความแข็งแกร่งและขยายห่วงโซ่อุปทานใหม่ทดแทนจีน พร้อมทั้งเดินหน้ากดดันจีนด้านต่างๆ ทั้งการเรียกร้องให้จีนกดดันรัสเซียให้ยุติการสู้รบกับยูเครน การกดดันจีนผ่านความมั่นคงทางการทหารเรื่องสิทธิเสรีภาพเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้และเสรีภาพในเรื่องช่องแคบไต้หวัน

· G7 เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้ (Global South) หรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง เช่น กลุ่มละตินอเมริกา แอฟริกา ที่จีนมีอิทธิพลในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว ผ่านโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) ในการให้วงเงินกู้สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นหลัก โดย G7 มีแผนเดินหน้าความสัมพันธ์ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และการขยายความร่วมมือผ่านการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและความมั่นคงทางอาหาร

กลุ่ม G7 มีความสำคัญกับไทยในการเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่มีสัดส่วนคิดเป็น 35% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก มีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวที่ภาคธุรกิจต้องตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนอย่างน้อย 3-5 ปี

1) ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกจะยังคงเป็นชนวนสำคัญที่สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจโลกในระยะกลาง-ระยะยาว สงครามยูเครน-รัสเซียมีท่าทียืดเยื้อซึ่งจะเห็นได้ว่า G7 เดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียด้านต่างๆ มากขึ้นและกดดันจีนในเรื่องนี้อย่างหนักเพื่อตัดช่องทางช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของรัสเซีย นอกจากนี้ G7 ได้พยายามสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศ Global South เพื่อเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่จีนเข้าไปสานสัมพันธ์อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้อาจซ้ำเติมความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีมาก่อนหน้าให้ร้าวลึกขึ้นอีก โดยจะเริ่มเห็นการถอยห่างทางเศรษฐกิจระหว่าง G7 กับจีนบ้างแล้วจากฝั่งจีนที่ลดความสัมพันธ์ทางการค้ากับ G7 เหลือเพียง 33.3% ของมูลค่าการค้ารวมของจีน ในปี 2565 (จาก 39.9% ในปี 2560) ขณะที่ฝั่ง G7 ยังไม่มีภาพเปลี่ยนไปมากนัก

 
2) ห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดขึ้น ด้วย G7 ส่งสัญญาณเดินหน้ากดดันจีนแม้ในการประชุมจะไม่ได้ระบุว่าจีนเป้าหมายหลัก แต่สะท้อนความพยายามสกัดบทบาทจีนในเวทีโลกในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ท่ามกลางแรงกดดันจาก G7 ผ่านมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปจีนทำให้นักลงทุนในจีนและนักลงทุน G7 ย้ายฐานการผลิตจากจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะเปลี่ยนผ่านไทยน่าจะได้รับอานิสงส์การลงทุนบางส่วนจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ โดยเฉพาะด้านการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบทบาทหลักของไทย แต่ก็ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคโดยเฉพาะมาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมีบทบาทคล้ายคลึงกับไทย สำหรับในระยะกลาง-ระยะยาวโอกาสรับเม็ดเงินลงทุนใหม่ในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนที่เล็งเห็นโอกาสจากประเทศผู้รับทุนเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ค่ายรถยนต์จีนเร่งทำตลาดแข่งขับกับค่ายรถตะวันตก ซึ่งไทยมีความพร้อมในอุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมอยู่แล้วจึงมีแต้มต่อการลงทุนมากกว่าประเทศอื่น แต่สำหรับอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ๆ ในอนาคตต้องแข่งขันด้านความพร้อมการเป็นฐานการผลิตกับอาเซียนด้วยกัน

3) ผลพวงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้มีสัญญาณหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้เงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการผลักดันเงินหยวนเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศมากขึ้น เริ่มจากการใช้ในกลุ่ม BRICS นำโดยรัสเซียที่หลังจากถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรได้หันมาใช้เงินหยวนทำการค้ากับจีนจนทำให้เงินหยวนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากรายงานของ SWIFT ระบุว่าในระยะเวลาเพียงปีเดียวเงินหยวนได้ขยับขึ้นมามีสัดส่วนถึง 4.5% ของการชำระเงินเพื่อการค้าและบริการระหว่างประเทศในโลก (ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนเงินหยวนมีสัดส่วนที่ 1.9%) แม้สกุลเงินดอลลาร์ฯ จะยังเป็นสกุลเงินที่มีสัดส่วนการใช้ในโลกสูงที่สุดถึง 84% แต่การใช้เงินหยวนก็มีสัดส่วนการใช้มากขึ้นจากการที่จีนเองเร่งทำความตกลงการค้าในรูปเงินหยวนกับอีกหลายประเทศ ในระยะข้างหน้า หากสกุลเงินหยวนเริ่มเป็นสกุลเงินท้องถิ่นธุรกิจที่มีการค้าขายกับจีนอาจจะต้องใช้สกุลเงินหยวนในการชำระสินค้าและบริการมากขึ้นไม่เฉพาะไทยแต่รวมถึงภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ จีนเป็นคู้ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยที่ปริมาณการค้าระหว่างกัน (ส่งออก+นำเข้า) ในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 1.05 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 18% ของการค้ารวมของไทยกับต่างประเทศ ในขณะที่ข้อมูลปี 2565 การชำระเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างไทยกับจีนยังเป็นสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในสัดส่วนกว่า 80% นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 42 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2566 ยังมีมติให้สมาชิกใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนที่อยู่ในระยะเริ่มต้นและต้องติดตามรายละเอียดต่อไป

4) Global South กลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้กำลังเป็นที่หมายตาของทั่วโลก นับเป็นโอกาสที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้ามในการจับตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต ในกลุ่มนี้มีทั้งประเทศเกิดใหม่ในกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา รวมถึงอาเซียน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีทั้งตลาดขนาดใหญ่และเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว โดยจีนเข้าไปกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านโครงการ BRI มากว่าทศวรรษ และในเวลานี้กลุ่ม G7 เองก็เร่งเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้เคียงกัน แม้ในเวลานี้หลายประเทศใน Global South จะยังมีเศรษฐกิจเปราะบาง ประสบปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูง แต่เศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2566 เวลา : 11:39:42
19-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราษฎร์บูรณะ

2. ตลาดหุ้นปิด (18 เม.ย.67) ลบ 5.92 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.02 จุด

3. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (18 เม.ย.67) บวก 1.83 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,368.77 จุด

4. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.ฝน 20%

5. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (17 เม.ย.67) ร่วง 19.40 เหรียญ กังวลเฟดชะลอลดดอกเบี้ย

6. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (17 เม.ย.67) ลบ 45.66 จุด กังวลทิศทางดอกเบี้ยเฟด-ผิดหวังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

7. ทองเปิดตลาด (18 เม.ย. 67) ร่วงลง 350 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,800 บาท

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (18 เม.ย.67) บวก 5.7 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,372.01 จุด

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนึ้ (18 เม.ย.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.65-36.95 บาท/ดอลลาร์

11. พรุ่งนี้ (18 เม.ย. 67) ราคาน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ปรับขึ้น 40 สต./ลิตร

12. ตลาดหุ้นปิด (17 เม.ย.67) ลบ 29.44 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,366.94 จุด

13. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า(17 เม.ย.67) ลบ 30.34 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,366.04 จุด

14. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับระยะสั้นที่ระดับ 2,365 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,400 เหรียญ

15. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 5:42 am