หุ้นทอง
ตลท.เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ปี 2566 - 2567


ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (CEO Survey: Economic Outlook 2023 - 2024) ซึ่งรวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม  - 30 กันยายน 2566 สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

• CEO ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นแต่ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน และคาดกว่า GDP จะเติบโตที่ระดับ 2% ถึง 3% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 3% ถึง 4%

• การท่องเที่ยว นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ และเสถียรภาพการเมืองในประเทศ จะเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 และต่อเนื่องในปี 2567 ขณะที่เสถียรภาพการเมืองในประเทศ กำลังซื้อในประเทศ และการส่งออกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2566 โดยคาดว่ากำลังซื้อในประเทศจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 2567

• ทิศทางอุตสาหกรรมและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นั้น 58% ของ CEO คาดว่าผลประกอบการในปี 2566 จะดีขึ้น โดย 52% ของ CEO คาดการณ์ว่าผลประกอบการปี 2566 จะเติบโตมากกว่า 10% โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกลับมาใช้ชีวิตรูปแบบปกติ อาทิ ธุรกิจในหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดวัสดุก่อสร้าง

• ด้านการลงทุนในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 โดย 56% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี 2566 และ 73%  คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี 2567 และพบว่าบริษัทจดทะเบียนในหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ เป็นต้น คาดว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น

• แนวโน้มในการลงทุนในต่างประเทศในปี 2566 มีแนวโน้มดีขึ้น สังเกตได้จากจำนวนบริษัทที่ตอบว่ามีการลงทุนเพิ่มเติมมีสัดส่วนอยู่ที่ 42% กระจายในหมวดธุรกิจต่างๆ อาทิ บริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค เป็นต้น โดยประเทศเป้าหมายในการลงทุน ได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ จีน ซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ชะลอการลงทุนในจีน และสิงคโปร์

• เมื่อสอบถามถึงความวิตกกังวลในการประกอบธุรกิจ พบว่า ในปี 2566 CEO มีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ ทั้ง  “ต้นทุนราคาเชื้อเพลิง” และ “ต้นทุนวัตถุดิบ” และในด้านกำลังซื้อภายในประเทศ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทที่ผันผวนของลูกค้า ขณะที่ “การเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “การให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จะเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกมากต่อบริษัท นอกจากนี้ CEO ยังแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการฟื้นตัวของกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การแทรกแซงตลาดของภาครัฐที่บิดเบือนกลไกตลาด และปัญหาจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

 

• นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน คาดว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา เสถียรภาพการเมืองโลก เสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาท และนโยบายการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลใหม่จะส่งผลบวก

 

CEO ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นแต่ลดลงจากการคาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน และคาดกว่า GDP จะเติบโตที่ระดับ 2% ถึง 3% โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 3% ถึง 4%

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และพันธมิตร สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในปี 2566 - 2567 (CEO Survey: Economic Outlook 2023 - 2024) เกี่ยวกับเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การประกอบธุรกิจ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม - 30 กันยายน 2566 มีบริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 68 บริษัท จาก 21 หมวดธุรกิจ  รวม 26.2% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด จากข้อมูล ณ 31 ตุลาคม 2566

“CEO ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 ดีขึ้น แต่ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในการสำรวจครั้งก่อน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2566 จะเติบโตที่ระดับ 2% ถึง 3% อย่างไรก็ตามมองว่า เศรษฐกิจในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 3% ถึง 4%”

• 61% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2566  จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2565 ขณะ 19% คาดว่าเศรษฐกิจจะทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2565 และอีก 21% มองว่าจะแย่ลง (ภาพที่ 1) เมื่อเมื่อเปรียบกับการคาดการณ์ของปี 2565 พบว่า CEO ที่มองว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะ “ดีขึ้นบ้างหรือดีขึ้นมาก” มีสัดส่วนลดลงอย่างชัดเจน โดยจากการสำรวจปีที่แล้วที่ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นมาก แต่ปีนี้ส่วนใหญ่ CEO มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นบ้าง

 
• CEO ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นแต่ในมุมมองที่แย่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในการสำรวจครั้งก่อน (ภาพที่ 2) โดยจากการสำรวจครั้งนี้ที่ CEO ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตในช่วง 2% ถึง 3% แย่กว่าครั้งก่อนที่คาดการณ์ว่าจะโตในระดับ 3.1% ถึง 4% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ที่คาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตที่ระดับ 2.7%  จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 3.4% และสอดคล้องกับการแถลงข่าวของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2566 ขยายตัวเพียง 1.5% และเติบโตในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ระดับ 1.9% นอกจากนี้ สศช. ปรับลด GDP ไทยปี 2566 เหลือโต 2.5%

 
ในปี 2567 CEO คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีจากปี 2566 โดย 76% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2567 จะเติบโตมากกว่า 3% โดยส่วนใหญ่ (66%) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตในช่วง 3% ถึง 4% (ภาพที่ 2) ขณะที่ 10% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตมากกว่า 4% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ที่คาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 3.2%

ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
 
CEO คาดว่า ทั้งการท่องเที่ยว นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ และเสถียรภาพการเมือง ในประเทศ จะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 และต่อเนื่องในปี 2567 ขณะที่เสถียรภาพการเมืองในประเทศ กำลังซื้อในประเทศ และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2566

• CEO ที่ตอบแบบสอบถาม มองว่า 3 ปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ การท่องเที่ยว อันดับที่ 2 ได้แก่ นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ และอันดับ 3 ได้แก่ เสถียรภาพการเมืองในประเทศ ตามมาด้วยสถานการณ์การฟื้นตัวจาก COVID-19 และกำลังซื้อภายในประเทศที่จะกลับมาตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ขณะที่ในปี 2567 CEO ที่ตอบแบบสอบถามมองว่า 3 ปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเป็นปัจจัยสำคัญในขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องในปี 2567 ตามมาด้วยการส่งออก และการเติบโตของเศรษฐกิจจีน (ภาพที่ 3 - 4)

 
 
• ด้านปัจจัยเสี่ยง “เสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ” กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2566 ตามมาด้วยหนี้สิ้นภาคครัวเรือน การส่งออก ปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น และในปีหน้า CEO มองว่า “หนี้สิ้นภาคครัวเรือน” จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ตามมาด้วยเสถียรภาพทางการเมืองไทย และเสถียรภาพทางการเมืองโลก ที่อาจเป็นตัวถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 

ในการสำรวจครั้งนี้ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดการณ์ว่า “อัตราเงินเฟ้อ” ในปี 2566 จะอยู่ในระดับสูงกว่า 2% ถึง 3% สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปปรับตัวลดลงในไตรมาส 2/2566 และไตรมาส 3/2566 ที่ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 3.96% และ 0.71% ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรม
 
CEO คาดว่าภาวะอุตสาหกรรมปี 2566  มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 
 
• ครึ่งหนึ่งของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่า ภาวะอุตสาหกรรมในปี 2566 จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2565 ขณะที่ 16% คาดการณ์ว่าภาวะอุตสาหกรรมจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา ขณะที่อีก 34% ของ CEO มองว่าภาวะอุตสาหกรรมจะแย่ลง (ภาพที่ 5) ซึ่งพบว่า ธุรกิจที่คาดว่าจะแย่ลงนั้นส่วนใหญ่อยู่ในหมวดธุรกิจการเกษตร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดยานยนต์ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดการแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ

 
แนวโน้มผลประกอบการ
 
CEO ส่วนใหญ่ (58%) คาดว่าผลประกอบการในปี 2566 จะดีขึ้น โดย 52% ของ CEO คาดการณ์ว่าผลประกอบการปี 2566 จะเติบโตมากกว่า 10% 

• 58% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่า ผลประกอบการในปี 2566 จะ “ดีขึ้นบ้างถึงดีขึ้นมาก” ขณะที่ 22% คาดว่าผลประกอบการจะทรงตัว และอีก 20% คาดว่าผลประกอบการจะแย่ลง (ภาพที่ 6) 
 
• เมื่อพิจารณารายบริษัท พบว่า บริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าผลประกอบการในปี 2566  มีทิศทางดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกลับมาใช้ชีวิตรูปแบบปกติ อาทิ ธุรกิจในหมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดวัสดุก่อสร้าง

 
• 84% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่ารายได้ในปี 2566 จะเติบโตจากปีที่ผ่านมา (positive growth rate) ขณะที่มีเพียง 16% ที่คาดว่ารายได้ในปี 2566 จะหดตัว (negative growth rate) (ภาพที่ 7) และ CEO คาดการณ์ว่า ด้านรายได้รวมจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 โดย 82% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่ารายได้ในปี 2567 จะเติบโตจากปีที่ผ่านมา (positive growth rate) ขณะที่มีเพียง 3% ที่คาดว่ารายได้ในปี 2567 จะหดตัว (negative growth rate)

 
• จากภาพที่ 8 แสดงให้เห็นว่า CEO ส่วนใหญ่คาดว่า รายได้ของบริษัทจะเติบโตในอัตราค่อนข้างสูง โดย 53%  ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่ารายได้ปี 2566 จะเติบโต 10% ขึ้นไปจากปี 2565 และเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 โดย 60% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่ารายได้ในปี 2567 จะเติบโต 10% ขึ้นไป
 
• เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกำไรสุทธิของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เทียบครึ่งแรกของปี 2566 (ภาพที่ 9) พบว่า 62% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 และ 58% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิปี 2567 จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566  

 
ผลการสำรวจอาจดีกว่าข้อเท็จจริง เนื่องจากช่วงเวลาในการสำรวจแบบสอบถาม CEO ส่วนใหญ่ตอบกลับมาก่อนที่จะเกิดภาวะสงครามระหว่างประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามาสและก่อนเหตุการณ์ประเทศอิสราเอลเคลื่อนกำลังทางบกเข้าเขตกาซา และสำรวจก่อนการเกิดเหตุการณ์ก่อเหตุยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

ปัจจัยการผลิตและแนวโน้ม 
 
ในปี 2565 CEO ส่วนใหญ่ยังคงคาดว่าปัจจัยการผลิต ทั้งต้นทุนแรงงาน ต้นทุนด้านพลังงาน และราคาวัตถุดิบ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับแนวโน้มของราคาสินค้าและบริการ ด้านภาพคล่องและอัตราการจ้างงานมีแนวโน้มทรงตัว
 
• ผลจากการสำรวจครั้งนี้พบว่า CEO ส่วนใหญ่คาดว่า ปัจจัยการผลิตทุกปัจจัย ทั้งต้นทุน / ค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (ภาพที่ 10) ขณะที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มทรงตัวเช่นเดียวกับการจ้างงานและสภาพคล่องของกิจการ

 
• เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสภาพคล่องด้านต่างๆ (ภาพที่ 11) พบว่า มีปัญหาเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ด้าน (ด้านการจัดหาเงินทุน การจ่ายชำระหนี้คืน และด้านความยืดหยุ่นและผลกระทบจากภายนอก) โดยจำนวนบริษัทที่ประสบปัญหามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกค้า” และปัญหาเรื่อง “ยอดขายที่ลดลงของคู่ค้าต่างประเทศที่เศรษฐกิจชะลอตัว” และบริษัทจดทะเบียนเริ่มประสบปัญหาการชำระสินเชื่อทางการค้าของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากปัญหาการค้าชะลอตัว ความผันผวนของค่าเงินบาท รวมถึงปัญหาการเมืองในพม่าที่กระทบต่อการทำธุรกิจ ส่งผลให้ลูกค้าทำการโอนเงินจากพม่าเข้ามาไทยทำได้ยากขึ้น และบางบริษัทเริ่มมีปัญหาหนี้สูญจากลูกค้าประเทศสหรัฐอเมริกา

กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ
 
บริษัทจดทะเบียนไทยวางแผนปรับเปลี่ยนแนวทางและกลยุทธ์ในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ด้านการตลาด ด้านการลงทุน และด้านการปรับตัวขององค์กร โดยมุ่งปรับกระบวนการหลักรองรับการทำงานแบบดิจิทัล 
 
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น มีการเปิดประเทศเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่ในปี 2566 มีปัจจัยภายนอกประเทศเป็นปัจจัยกดดันในการทำธุรกิจ ทั้งการปรับนโยบายดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ปัญหาสถาบันการเงินในจีน ปัญหาความไม่สงบในเวทีโลก ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ตลอดจนการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในการสำรวจครั้งนี้ สอบถามเกี่ยวกับแนวทางในการปรับกลยุทธ์ธุรกิจครอบคลุมการดำเนินงานในด้านต่างๆ ประกอบด้วยกลยุทธ์  4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและการผลิต 2) ด้านการตลาด 3) กลยุทธ์ด้านการลงทุน และ 4) กลยุทธ์ด้านการปรับตัวขององค์กร สรุปได้ดังนี้

 
 
• กลยุทธ์ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและการผลิต
 
บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ การเตรียมความพร้อมรองรับการใช้พลังงานทดแทน การปรับการทำงานตามรูปแบบ remote station และการปรับกระบวนการทำงานให้เป็นอัตโนมัติ (ภาพที่ 12)
 
o 97% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ” โดยถือว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญอันดับต้นๆ ของบริษัทจดทะเบียนไทย
o 90% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “เตรียมความพร้อมในการรองรับพลังงานทดแทน” เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการสำรวจครั้งก่อนๆ ทั้งนี้เพื่อช่วยกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
o 86% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “ปรับรูปแบบการทำงานให้รองรับการทำงานแบบ remote station รองรับกับการทำงานจากที่บ้าน (work from home)” เพื่อลดความเสี่ยงจากแพร่ระบาดของ COVID-19 และพบว่าในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนทยอยเรียกพนักงานกลับเข้าทำงานที่สำนักงาน 
o 81% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “ปรับประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและแรงงานโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (อาทิ การใช้หุ่นยนต์ / การใช้ AI)” 

 
กลยุทธ์ด้านการตลาด 
 
บริษัทจดทะเบียนยังคงให้ความสำคัญกับการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงและกลยุทธ์ด้านราคาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ขณะที่ปรับรูปแบบการดำเนินงาน การผลิต การตลาด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าออนไลน์ ทั้งการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางระบบออนไลน์ การเพิ่มสัดส่วนการโฆษณาผ่านทางสื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น (ภาพที่ 13)

o 89% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “ทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง” (Niche Market) 
o 86% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “ใช้กลยุทธ์การปรับราคาสินค้าและบริการ” ทั้งนี้เป็นไปตามปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
o 79% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม ปรับสายการผลิตเพื่อผลิตภัณฑ์อื่นตามความต้องการของตลาด 
o 77% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม ปรับเปลี่ยนช่องทางโฆษณาให้อยู่ในช่องทางดิจิทัลตามการบริโภคสื่อของลูกค้าเป้าหมาย 
o 67% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม เปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย 
o 63% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “วางแผนขยายตลาดส่งออก” ซึ่งพบว่า บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่  ที่วางแผนขยายตลาดส่งออก เป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจการเกษตร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดยานยนต์ หมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน และหมวดวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น 

 
• กลยุทธ์ด้านการลงทุน
 
ในการสำรวจนี้ บริษัทจดทะเบียนยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) การหา Supply chain ในประเทศ การขยายการลงทุนต่างประเทศ และมีการชะลอการลงทุนบางส่วน  (ภาพที่ 14)
 
o 86% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “วางแผนในการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนา (R&D)” ในปี 2565 
 
o 65% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามวางแผน “ขยายการลงทุนในประเทศ” เพื่อหาพันธมิตรหรือสร้าง supply chain ภายในประเทศในปี 2566 และพบว่า บริษัทที่วางแผนขยายการลงทุนในประเทศเป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจการเกษตร หมวดประกันภัยและประกันชีวิต หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดยานยนต์ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง  เป็นต้น
 
o 49% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามวางแผน “ขยายการลงทุนต่างประเทศ” เท่ากับการสำรวจ ครั้งก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดประกันภัยและประกันชีวิต หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
 
o 40% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “ชะลอการลงทุน” ในปี 2566 โดยมีข้อสังเกตว่า บริษัทจดทะเบียนที่ชะลอการลงทุนไปแล้วหรือมีการชะลอการลงทุนแล้ว อยู่ในธุรกิจที่มีการ Disruption การดำเนินธุรกิจ หรือ เป็นธุรกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณานโยบายของภาครัฐ อาทิ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดยานยนต์ หมวดธุรกิจการเกษตร หมวดการแพทย์ และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
 
 

 
• กลยุทธ์ด้านการปรับตัวขององค์กร
 
บริษัทจดทะเบียนยังคงให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างองค์กรด้วยตนเอง ขณะที่ให้ความสนใจกับการควบรวมกิจการ / การเข้าร่วมลงทุน และบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มลดลงในการลดจ้างงาน  (ภาพที่ 15)
 
o 83% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “ดำเนินการปรับโครงสร้างของบริษัทด้วยตนเอง” เพิ่มขึ้นจาก 70% จากการสำรวจครั้งก่อน
o 60% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “วางแผนในการควบรวมกิจการหรือเปิดให้มีธุรกิจเข้าร่วมลงทุน” โดยบริษัทที่ใช้กลยุทธ์นี้ ได้แก่ บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ หมวดประกันภัยและประกันชีวิต หมวดการแพทย์ เป็นต้น
o 16% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม “ลดการจ้างงาน” ลดลงจาก 23% จากการสำรวจครั้งก่อน
 
นอกจากนี้ CEO ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทได้มีแผนในการดำเนินงานเพิ่มเติมสรุปได้ 6 ประเด็นหลัก คือ
 
1) เพิ่มประสิทธิภาพในดำเนินงานทุกๆ ส่วนงาน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการบริหารและรักษาสภาพคล่อง
2) มีมาตรการในการดูแลกลุ่มลูกค้าให้เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ การดูแลกลุ่มลูกค้าเปราะบาง การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน 
3) การกระจายความเสี่ยงโดยการขยายไปยังธุรกิจใหม่ การให้ความความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การอนุมัติสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ การสนับสนุนการออกผลิตภัณฑ์ด้านรักษ์โลก (Green products / Green loans)
4) ขยายการลงทุน และรับงานทั้งในและต่างประเทศ
5) นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตสินค้าและบริการ เป็นต้น เพื่อตอบรับกฎระเบียบว่าด้วยยานยนต์ และความต้องการของผู้บริโภค
6) เพิ่มศักยภาพการทำงานของพนักงาน

แนวโน้มการลงทุน
 
การลงทุนในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 โดย 56% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี 2566 และ 73% คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มในปี 2567

• CEO วางแผนลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2566 โดย 56% วางแผนลงทุนเพิ่มขึ้นบ้างและเพิ่มขึ้นมาก และอีก 17% คาดว่าลงทุนตามแผนเดิม ขณะที่ 12% คาดว่าไม่ลงทุนเพิ่มเติม และ 15% คาดว่าลงทุนลดลง 

 
• บริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่มเติมในปี 2566 พบว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ เป็นต้น
 
• CEO วางแผนลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดย 73% วางแผนลงทุนเพิ่มขึ้นบ้างและเพิ่มขึ้นมาก และอีก 10% คาดว่าลงทุนตามแผนเดิม ขณะที่ 5% คาดว่าไม่ลงทุนเพิ่มเติม และ 12% คาดว่าลงทุนลดลง โดยบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่มเติมในปี 2566 พบว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ หมวดของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน หมวดธนาคาร หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

แนวโน้มการลงทุนต่างประเทศ

ในปี 2566 บริษัทจดทะเบียนที่วางแผนลงทุนในต่างประเทศในสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
 
• จากบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด พบว่า 27 บริษัท จากทั้งหมด 58 บริษัท หรือ 47% ของบริษัททั้งหมดที่ตอบแบบสอบถามมีการลงทุนในต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่หรือ 70% ของบริษัทจดทะเบียนที่ลงทุนในต่างประเทศมีเงินลงทุนในต่างประเทศน้อยกว่า 25% ของเงินลงทุนรวมของบริษัท (ภาพที่ 17)

 
• แนวโน้มในการลงทุนในต่างประเทศในปี 2566 สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ลงทุนในต่างประเทศ  (ภาพที่ 18) พบว่า มีทิศทางเดียวกันกับปี 2565 และดีขึ้น สังเกตได้จากจำนวนบริษัทที่ตอบว่าลงทุนเพิ่มเติมมีสัดส่วนอยู่ที่ 42% กระจายในหมวดธุรกิจต่างๆ อาทิ บริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูป โภค หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค เป็นต้นขณะที่บริษัทที่ชะลอการลงทุนในต่างประเทศในปี 2566 มีสัดส่วนเพียง 3%  
 
• ประเทศเป้าหมายในการลงทุน ได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ได้แก่ จีน ซาอุดิอาระเบีย และชะลอการลงทุนในจีน และสิงคโปร์

 
แนวโน้มการส่งออก
 
ครึ่งหนึ่งของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าการส่งออกปี 2566 จะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2565
 
• จากบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม ทั้งหมด พบว่า 25 บริษัท จากทั้งหมด 62 บริษัท หรือ 40% ของบริษัททั้งหมด  อยู่ในธุรกิจส่งออก โดยส่วนใหญ่มีรายได้จากการส่งออกน้อยกว่า 25% ของรายได้รวม (ภาพที่ 19) และเป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หมวดธุรกิจการเกษตร หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ เป็นต้น

 
• สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2566  มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2565 โดย 50% คาดว่า การส่งออกปี 2566 จะทรงตัว / ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2565 ขณะที่ 27% คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น และ 23% ที่คาดว่าจะแย่ลง (ภาพที่ 20) 

 
• บริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าการส่งออกในปี 2566 จะปรับตัว “ดีขึ้น” กระจายตัวอยู่ในหมวดต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ ขณะที่บริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าการส่งออกในปี 2566 จะปรับตัว “แย่ลง” กระจายตัวอยู่ในหมวดต่างๆ

การให้บริการลูกค้าต่างประเทศ
 
55% ของบริษัททั้งหมด มีการให้บริการแก่ลูกค้าต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่มีรายได้จากการส่งออกน้อยกว่า 25% ของรายได้รวม
 
• จากบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามพบว่า 34 บริษัทจากทั้งหมด 62 บริษัท หรือ 55% ของบริษัททั้งหมด มีการให้บริการแก่ลูกค้าต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่มีรายได้จากการให้บริการลูกค้าต่างประเทศ น้อยกว่า 25% ของรายได้รวม (ภาพที่ 21) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ และหมวดธนาคาร เป็นต้น

 
ข้อวิตกกังวลในการประกอบธุรกิจ
 
ในปี 2566 CEO มีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทั้ง  “ต้นทุนราคาเชื้อเพลิง” และ “ต้นทุนวัตถุดิบ” และกำลังซื้อภายในประเทศ อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาทที่ผันผวน ขณะที่ “การเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “การให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จะเป็นปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อบริษัท
 
• 74% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามมีความวิตกกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับ “ต้นทุนการผลิต ด้านราคาเชื้อเพลิง / ราคาพลังงาน” (ภาพที่ 22) ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต (70%) และกำลังซื้อในประเทศ (70%) ตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ย และภัยคุกคามด้านไซเบอร์
 
• “การเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “การให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่ CEO ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท 
 
• CEO ส่วนใหญ่ ไม่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสินเชื่อระยะสั้นและสินเชื่อระยะยาว 

 
นอกจากความกังวลใจต่อปัจจัยต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนได้แสดงความวิตกกังวลในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมไว้ในคำถามปลายเปิด ดังนี้
 
• ความวิตกกังวลเกี่ยวกับกลไกในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
 
o การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน
o กิจกรรมการนำเข้า / การส่งออก รวมทั้งต้นทุนของการนำเข้า / การส่งออก ตลอดจนการแข็งตัวของค่าเงินบาท และการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า
o ระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน ที่กระทบต่อกำลังซื้อ
 
• ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการบิดเบือนกลไกตลาด จากการแทรกแซงของภาครัฐ
 
• ความวิตกกังวลต่อมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะมิจฉาชีพที่หลอกลวงในฐานะบริษัทจดทะเบียน
 
• ความวิตกกังวลต่อความเข้มข้นของการแข่งขันทางการค้า / สงครามการค้า อาทิ การเติบโตของธุรกิจคู่แข่ง หรือ การเติบโตของสินค้าที่ทดแทนกันได้ เป็นต้น

แหล่งเงินทุนของกิจการ
 
แหล่งเงินทุนหลักของกิจการ คือ กำไรสะสม การขอสินเชื่อธนาคารในประเทศ และการออกหุ้นกู้ในประเทศ ซึ่งเหมือน กับการสำรวจครั้งก่อน
 
• จากการสอบถามเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนของกิจการ 2 แหล่งสำคัญ พบว่า 60 บริษัทจาก 68 บริษัท มีแผนระดมทุน และระบุแหล่งเงินทุนของกิจการ ขณะที่ 8 บริษัทยังไม่มีแผนระดมทุนในปี 2566 - 2667
 
• แหล่งระดมทุนหลักของกิจการเมื่อประเมินจากแหล่งเงินทุนของกิจการ 2 แหล่งสำคัญ พบว่า อันดับแรกยังคงเป็นแหล่งเงินทุนภายในของกิจการ คือ กำไรสะสม ตามมาด้วยการขอสินเชื่อจากธนาคารในประเทศ และการออกหุ้นกู้ภายในประเทศ เหมือนกับการสำรวจครั้งก่อน

การเตรียมการรับมือของความผันผวนของค่าเงินบาทในปี 2566
 
บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เลือกใช้ การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และวิธีการบริการความเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่มีค่าทำธุรกรรมเพิ่มเติม 
 
• จากการสอบถามเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือของความผันผวนของค่าเงินบาทในปี 2566 พบว่า 11 บริษัทจาก 60 บริษัท ไม่ได้รับผลกระทบจากการความผันผวนของค่าเงินบาท จึงไม่ได้ดำเนินการป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินบาท

 
• 51 บริษัทจาก 61 บริษัท ได้มีการป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงินบาท โดย 47% ของจำนวนบริษัทเหล่านี้มีการใช้เครื่องมือการบริหารความเสี่ยงมากกว่า 1 เครื่องมือ โดยวิธีการ / เครื่องมือที่บริษัทจดทะเบียนเลือกใช้ (ภาพที่ 23) มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contracts & Options) 2) การบริหารรายได้กับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกัน (Natural Hedge) และ 3) การเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ

ประเด็นคำถามพิเศษ: ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน คาดว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา เสถียรภาพการเมืองในโลก เสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาท และนโยบายการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลใหม่จะส่งบวก

ในการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในครั้งนี้ได้สอบถามเกี่ยวกับมุมมองของบริษัทจดทะเบียนต่อปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยและการดำเนินงานของบริษัท (ภาพที่ 24) ซึ่งพบว่า ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน คาดว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา เสถียรภาพการเมืองในโลก เสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาท และนโยบายการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลใหม่จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินงานของบริษัท
 

บันทึกโดย : วันที่ : 06 ธ.ค. 2566 เวลา : 17:14:29
09-05-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 3,250 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,340 เหรียญ

2. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (9 พ.ค.68) ลบ 5.67 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,200.92 จุด

3. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (8 พ.ค.68) ร่วง 85.90 เหรียญ หลังสหรัฐ-อังกฤษ บรรลุข้อตกลงการค้า

4. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (8 พ.ค.68) พุ่ง 254.48 จุด ขานรับ "สหรัฐ-อังกฤษ" บรรลุข้อตกลงการค้า

5. อุตุฯเตือนระวัง "พายุฤดูร้อน" วันนี้ "ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก" ฝนฟ้าคะนอง 40% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคกลาง 30% ภาคใต้ 30-40%

6. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์

7. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 พ.ค.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์

8. ทองเปิดตลาดวันนี้ (9 พ.ค. 68) ร่วงลง 350 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 52,450 บาท

9. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (9 พ.ค.68) บวก 6.28 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,212.87 จุด

10. ประกาศ กปน.: 13 พ.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านใต้) และถนนอนามัยงามเจริญ

11. ตลาดหุ้นปิดวันนี้ (8 พ.ค.68) ลบ 13.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,206.59 จุด

12. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (8 พ.ค.68) ลบ 7.43 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,212.84 จุด

13. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (7 พ.ค.68) ร่วง 30.90 เหรียญ รับสงครามการค้าส่งสัญญาณคลี่คลาย

14. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 3,380 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,425 เหรียญ

15. ทั่วไทยฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ภาคใต้ ฝน 40-60% ภาคตะวันออก 40% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคกลาง 30% ภาคเหนือ 20%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2025, 4:55 pm