ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องล้มล้างการปกครอง


ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคำร้อง ร่าง พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 291 เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คน วินิจฉัยแล้วมีความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 68
 

โดยศาลรัฐธรรมนูญแบ่งประเด็นในการวินิจฉัย เป็น 4 ประเด็น กล่าวคือ
 

1.ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 68 การให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 68 สองประการ คือ 1.สามารถให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกการกระทำดังกล่าว ศาลเห็นว่าการแปลความดังกล่าวนี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69
 

2.การแก้ไขมาตรา 291 ที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การตรารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกระบวนการผ่านการประชามติ ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น การแก้ไขจะเป็นอำนาจของรัฐสภาแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ 291 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้มาจากการลงประชามติ จึงควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการแก้ไข จะเป็นการสอดคล้องเจตนารมณ์มาตรา 291
 

3.การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 เป็นไปเพื่อให้มีวิธีการแก้ไขเป็นรายมาตราและปรับปรุงโครงสร้างการเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หากพิจารณาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังที่ผ่านวาระ 2 และเตรียมลงมติในวาระ 3ของรัฐสภา จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งยังไม่มีรูปธรรมเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของผู้ร้อง
 

หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1)วรรค 2บัญญัติว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรค 5 ก็ยังได้บัญญัติคุ้มกันไม่ให้กระทบสาระสำคัญของรัฐอีกชั้น
 

อย่างไรก็ตาม หาก ส.ส.ร.ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้รัฐธรรมนูญตกไปได้ และผู้ทราบการกระทำดังกล่าวสามารถให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68ได้ อีกทั้งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการไต่สวนที่ผ่าน อาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายอัชพร จารุจินดา เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และ นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ล้วนเบิกความว่าไม่ได้มีเจตนารมณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และผู้ถูกร้องยังแสดงเจตคติตั้งมั่นว่าดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 

พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่เพียงพอวินิจฉัยได้ว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้ออ้างทั้งหมดของผู้ร้องเป็นการคาดการณ์และความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังห่างไกลจะเกิดเหตุขึ้นตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่พอฟังได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ฟังไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
 

ประเด็นที่ 4 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อไม่กระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5

 


 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ค. 2555 เวลา : 15:56:00

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:44 am