ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ทิสโก้ คาด กนง.ไม่ลดดบ.นโยบายครั้งนี้ หลังอุปสงค์ในปท.เร่งตัวขึ้น -ส่งออกชะลอ


อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง
อุปสงค์ภายในประเทศเดือนกรกฎาคมขยายตัวแข็งแกร่งเป็นสัญญาณเชิงบวกใน 3Q55 โดยการบริโภคภาคเอกชน (PCI) เร่งตัวขึ้น 7.0% YoY (เทียบกับ +4.4% ในเดือนก่อนหน้า) ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากยอดขายรถยนต์ (+74.1% YoY) ตามมาตรการรถคันแรกของรัฐบาล นอกจากนี้ การบริโภคหมวดอื่นๆ ก็ขยายตัวด้วยเช่นกัน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค

การลงทุนภาคเอกชน (PII) ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับสูง (+19.5% YoY เทียบกับ +19.0% ในเดือนก่อนหน้า) จากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุน และ ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานเดือนมิถุนายน (หลังปรับตามฤดูกาล) ปรับตัวดีขึ้นเหลือ 0.7% (เทียบกับ 0.8% ในเดือนพฤษภาคม) อีกทั้ง ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน ปรับตัวขึ้น 15.4% YoY ในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ครึ่งปีแรก ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน ขยายตัว 15.0%

*การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 5.8% YoY จากอุตสาหกรรมส่งออกเป็นหลัก
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคมหดตัว 5.8% YoY (เทียบกับ -9.6% ในเดือนก่อนหน้า) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CAPU) หลังปรับตามฤดูกาล ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 64.5% (เทียบกับ 63.9% ในเดือนก่อนหน้า) โดยการผลิตหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ การผลิตหมวดยานยนต์ขยายตัว 52.9% YoY อย่างไรก็ตาม การเร่งตัวขึ้นของผลผลิตหมวดยานยนต์เริ่มจำกัด จากการที่อัตราการใช้กำลังการผลิตหมวดยานยนต์อยู่ในระดับสูงกว่า 100% เป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกันแล้ว อนึ่ง ผลกระทบจากเหตุระเบิดโรงกลั่นบางจากที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม อยู่ในวงจำกัด จากการที่โรงกลั่นอื่นๆ สามารถผลิตทดแทนได้

*รายได้เกษตรกรขยายตัวครั้งแรกในรอบปี จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า
รายได้เกษตรกรเดือนกรกฎาคมขยายตัว 6.6% YoY (เทียบกับ -9.8% ในครึ่งปีแรก) จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยผลผลิตการเกษตรเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก (+15.3% YoY เทียบกับ +2.6% ในครึ่งปีแรก) จากการเร่งตัวขึ้นของผลผลิตข้าว ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่อง (-7.5% YoY เทียบกับ -12.0% ในครึ่งปีแรก) จากการหดตัวของราคายางพารา (-30.5% YoY)

*ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
มูลค่าส่งออก (f.o.b.) เดือนกรกฎาคม หดตัว 3.9% YoY หรือมีมูลค่า 19,246 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ มูลค่านำเข้า (f.o.b.) ขยายตัว 13.3% YoY หรือมีมูลค่า 18,763 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 483 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบกับ +1,644 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน) ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุล 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเงินโอนค่าสินไหมทดแทนที่ชะลอลง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 107 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบกับ +604 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมิถุนายน) โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

*คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพุธที่ 5 กันยายน
จากการเร่งตัวขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศมีส่วนช่วยชดเชยการชะลอตัวของการส่งออก โดนเรามองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.00% เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศ เราจึงไม่คาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 5 กันยายน และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.00% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ?

 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ย. 2555 เวลา : 13:47:51

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:02 pm