ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ครบรอบ 13 ปี จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการ วันที่ 3 เมษา นี้ ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท


ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดงานครบรอบ 13 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดินและปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเชิงวิชาการและสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (IOI) และสมาคมผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเอเชีย (AOA) ในวันที่ 3 เมษายน 2556 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร

นางผาณิต  นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการสถาปนาขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2543 และได้มีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2543 ซึ่งการจัดตั้งดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เดิมชื่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” ต่อมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ปัจจุบันมีผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมด 3 คน คือ นางผาณิต  นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน  ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช และ ดร.ประวิช รัตนเพียร โดยมีภารกิจสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรม ตลอดจนส่งเสริมจิตสำนึกด้านจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งติดตาม ประเมินผล การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

นางผาณิต กล่าวต่อว่า การจัดงานครบรอบ 13 ปี ในปีนี้ ได้รับเกียรติจากพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ การสัมมนาครั้งนี้เป็นงานนานาชาติมีผู้ตรวจการแผ่นดินกว่า 19 ประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมเวที หัวข้อการเสวนาจะเน้นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนเป็นหลัก อาทิ 

1. หัวข้อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน : ความเป็นธรรมที่จับต้องได้” (Ombudsman : Tangible Justice)  เน้นการดำเนินงานและแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับจากสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินอื่นๆ ทั่วโลก โดยDame Beverley Wakem, DNZM, CBE ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งประเทศนิวซีแลนด์ และประธานสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ,  Mr. Alan N.Lai ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เหรัญญิกของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ และเลขานุการของสมาคมผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเอเชีย, Mr.Peter Kostelka เลขาธิการสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ

2. หัวข้อ “การไต่สวนความจริงทางปกครอง : บทเรียนจากนานาขาติ (Ombudsman Administrative Investigation : International Experiences)” โดยทีมวิทยากรจาก Queen Margaret University โดยจะเน้นที่การอบรม หลักการและวิชาการด้านผู้ตรวจการแผ่นดิน

3. การศึกษาดูงานเชิงวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

"การสัมมนาดังกล่าวจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 - 6 เมษายน 2556  มีผู้เข้าร่วมประมาณ 400 คน ทั้งจากหน่วยตรวจสอบต่าง ๆ ผู้แทนจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  ทูตานุทูตประเทศต่างๆ และผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลก เพื่อให้หน่วยงานระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานในทวีปเอเชีย ที่เป็นสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน (Ombudsman) ได้มีโอกาสพัฒนาวิชาชีพผู้ตรวจการแผ่นดินให้ได้มาตรฐานก้าวสู่ระดับสากล และเรียนรู้การดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินในลักษณะที่ดีที่สุด และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินจากแต่ละประเทศ รวมทั้งประมวลความรู้ มาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินในอนาคต" นางผาณิต กล่าว


 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มี.ค. 2556 เวลา : 15:44:45

18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 11:26 pm